x close

วาเลนไทน์ โจ๋ชายกว่าครึ่ง มีโอกาสเสียตัว

รัก

 

วาเลนไทน์ โจ๋ชายกว่าครึ่ง มีโอกาสเสียตัว (ไทยรัฐ)

         รมช.สาธารณสุข กระตุ้นให้วัยรุ่นทบทวนอารมณ์ทางเพศ รู้จักปฏิเสธและป้องกันตัวเอง ด้าน กรมสุขภาพจิตระบุ ไอทีสื่อรักทำเกินเหตุ ส่งผลวัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น 

        
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิตแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ "ฉลาดรักยกกำลังสาม รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้" เพื่อป้องกันสถานการณ์ความเสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ 

         นางพรรณสิริ กล่าวว่า วันวาเลนไทน์ปีนี้ ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตจัดทำโครงการฉลาดยกรักกำลังสาม "รู้ใจ ไหวทัน ป้องกันได้" เพื่อกระตุ้นให้วัยรุ่น ครอบครัว และสังคม มีความไหวทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่ภัยทางเพศ และให้ครอบครัวมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่นในเทศกาลวันวาเลนไทน์ โดย . . . 

          รู้ใจ หมายถึง การรู้ใจตนเองจากการทบทวนอารมณ์ ความคิดของตนเองที่อาจมีอิทธิพลต่อการเกิดความเสี่ยงทางเพศ

          ไหวทัน หมายถึง การไหวทันต่อสถานการณ์เสี่ยง ไหวทันต่ออิทธิพลของสื่อไอที และรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของผู้อื่น 

          ป้องกันได้ หมายถึง การพัฒนาวัยรุ่นให้มีทักษะชีวิต ในการปฏิเสธและป้องกันตนเองจากภัยทางเพศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวให้ป้องกันเยาวชนจากภัยทางเพศได้

         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้ให้กรมสุขภาพจิตเปิดบริการให้คำปรึกษาครอบครัว  ทั่วประเทศมีกว่า 20 ล้านครอบครัว ในด้านการเลี้ยงดูลูกยุคไอที รวมทั้งการปรึกษาปัญหาครอบครัว นำร่องที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นแห่งแรก และจะขยายผลไปทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ครอบครัวมีทักษะให้คำปรึกษาการเลี้ยงดูลูก ให้มีความไหวทันต่อสถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจนำไปสู่ภัยทางเพศ และมีแนวทางป้องกันความเสี่ยงทางเพศในวัยรุ่น

         นางพรรณสิริ กล่าวอีกว่า ขณะนี้วัยรุ่นไทย มีประมาณ 16 ล้านคนทั่วประเทศ มีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะทางเพศ เนื่องจากมีปัจจัยมาจากปัญหาสังคมอื่น ๆ อาทิ การลุ่มหลงกระแสวัตถุนิยม อิทธิพลของสื่อออนไลน์ โดยสื่อออนไลน์ในขณะนี้ มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นและเยาวชนสูงมาก เครื่องมือที่ใช้มากที่สุดคือมือถือ 

         "จากผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2551 พบประชาชนที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ร้อยละ 51 ใช้โทรศัพท์มือถือ มากที่สุดใน กทม. ใช้ 73% โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือที่ติดตัว 24 ชั่วโมง มีลูกเล่นมากมาย ทั้งส่งข้อความ ส่งรูป เป็นเสมือนดาบสองคม หากรู้จักใช้ให้ถูกทาง ก็จะสร้างความรู้ สร้างความใกล้ชิดทางจิตใจได้  หากใช้โดยขาดความระมัดระวังหรือเหมาะสมอาจนำภัยมาสู่ตัวเอง และในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองวัยรุ่น ขณะนี้สถานการณ์น่าห่วงเนื่องจากเผชิญภัยวิกฤติหลายประการ นอกจากมีอัตราการหย่าร้างในครอบครัวสูงขึ้นจากอัตราส่วน 5 ต่อ 1 ในปี 2542 เป็นอัตราส่วน 3 ต่อ 1 แล้ว ยังต้องเผชิญกับการเลี้ยงดูลูกในยุคไอทีด้วย" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

         ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้สำรวจ "วัยรุ่นไทย : สื่อรักวาเลนไทน์ 2010 ในเขต กทม." ที่ได้เก็บข้อมูลวัยรุ่นระดับมัธยมต้นถึงมหาวิทยาลัย จำนวน 1,320 คน และพ่อแม่/ ผู้ปกครองที่มีลูกกำลังเรียนในมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวน 583 คน ระหว่างวันที่  5ม.ค. 2553 – 1 ก.พ. 2553  พบว่า วัยรุ่น 1 ใน 2 หรือร้อยละ 47 มีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนในวันวาเลนไทน์ หากแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย

         อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบว่า กลุ่มเสี่ยงเป็นชายมากกว่าหญิง 2 เท่าตัว ส่วนในกลุ่มของพ่อแม่/ผู้ปกครอง พบว่า 1 ใน 4 คน หรือ ร้อยละ29 มีความรู้ความเข้าในการใช้ไอทีน้อยถึงน้อยที่สุด แต่ก็นิยมซื้อไอทีให้ลูกหลาน โดยซื้อโทรศัพท์มือถือ เป็นอันดับหนึ่ง 89% อันดับสอง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 32% และอันดับสาม เครื่องเล่นวิดีโอเกม 34% แต่ปัญหาที่พบ คือ พ่อแม่ส่วนมาก 2 ใน 3 คน หรือ 66% ไม่เคยเข้าไปตรวจสอบการรับข้อมูลในไอทีของลูกหลาน และไม่มีการควบคุมการใช้สื่อไอทีของลูกหลานถึง 44% 

         นพ.ชาตรี  กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจยังพบว่า มีผลให้พ่อแม่/ผู้ปกครอง 67% มีความกังวลต่อการเข้าถึงเนื้อหาทางเพศของลูกหลาน พ่อแม่/ผู้ปกครอง 73% มองว่าวัยรุ่นไทยมีการแสดงออกในวันวาเลนไทน์ไม่เหมาะสม และ 48% ห่วงวัยรุ่นยังมีความเสี่ยงทางเพศในเทศกาลวาเลนไทน์ จากการเห็นภาพโป๊เปลือย โดยผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไหวทัน และมีแนวทางการป้องกันสถานการณ์ความ เสี่ยงของวัยรุ่นในวันวาเลนไทน์ โดยการสร้างพลังแก่ครอบครัวให้ไหวทัน และป้องกันภัยทางเพศแก่ลูกได้

         อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่า กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์โดยร่วมมือกับบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ให้วัยรุ่นส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส ที่สร้างสรรค์ จัดทำองค์เอกสารความรู้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ http://www.icamtalk.com/  และเปิดห้องครองใจ ที่สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ โดยมีทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ให้บริการปรึกษาครอบครัว เป็นช่องทางบริการที่เข้าถึงได้ง่าย ป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วาเลนไทน์ โจ๋ชายกว่าครึ่ง มีโอกาสเสียตัว อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 11:47:24
TOP