x close

ขวดนมแบบไหน? ถึงจะโดนใจหนู

baby

ขวดนมแบบไหน? ถึงจะโดนใจหนู
(Mother&Care)

           ก็ไม่รู้เหมือนกันนะคะว่าคุณแม่แต่ละคนมีทิปในการเลือกซื้อขวดนมให้ลูกอย่างไร บางคนอาจจะดูที่ยี่ห้อ และขนาดให้เหมาะกับวัยของลูก บางคนอาจมองละเอียดกว่านั้น ก็อาจดูที่ความจุ ความทนทาน เพราะอยากใช้ได้นาน เราลองมาดูกันค่ะ ทิปเล็ก ๆ ในการเลือกซื้อขวดนมให้ลูกว่า มีอะไรที่ต้องใส่ใจกันบ้าง

 ขนาด ซี.ซี. สำคัญไฉน?

           ตามหลักฮวงจุ้ย เอ๊ย! วิชาเบบี๋ศาสตร์แล้วล่ะก็ ในแต่ละวัน แม้ลูกจะโตขนาดไหนแล้วก็ตาม ก็ไม่ควรให้หม่ำนมเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) และขวดนมไม่จำเป็นต้องจุเกิน 200 ซี.ซี. ยิ่งขวดนมขนาดบิ๊กจัมโบ้ที่จุได้ถึง 300 ซี.ซี. คุณแม่เซย์โนได้เลยค่ะ เพราะยิ่งใหญ่ก็ยิ่งทำให้คุณแม่ให้นมลูกแบบนันสต๊อปมากขึ้น อย่างเช่นเวลาชงนมให้ลูกตามขนาดพอเหมาะ 200 ซี.ซี. แล้ว แต่ขวดใหญ่ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่านมยังน้อยเกินไป ก็เลยชงให้เพิ่มอีก ซึ่งการให้นมมากถึง 250-300 ซี.ซี. นั้น อาจทำให้เด็กอ้วนเกินไปได้ค่ะ

 แนะนำขวดนมแก้ว...แพงแต่คุ้ม

           หากที่บ้านมีฐานะร่ำรวย มีเงินฝากในธนาคารอยู่ประมาณ 2,500 ล้าน (กีบ) ล้อเล่นค่า คือมีฐานะสักหน่อยล่ะก็ แนะนำเลยค่ะ เลือกใช้ขวดนมแก้วที่มีความจุเพียง 200 ซี.ซี. แม้เด็กวัยนี้อาจยังถือขวดนมเองไม่ได้ และก็มีความเสี่ยงที่จะแตกได้ง่าย แต่ข้อดีก็มีนะคะ ก็คือเรื่องการทำความสะอาดนั่นเอง ที่จะไม่เหมือนขวดพลาสติก ซึ่งเมื่อเราใช้ที่นึ่งขวดนมหรือต้มเพื่อใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรคบ่อย ๆ แล้ว ให้ลองสังเกตดู ขวดจะมีสีขุ่นและเปลี่ยนสี ทำให้เห็นไม่ชัดว่าล้างคราบนมสะอาดหมดจดแล้วหรือยัง แต่พอลูกน้อยเริ่มโตขึ้น ฤทธิ์เดชเริ่มเยอะ ค่อยเปลี่ยนไปใช้ขวดพลาสติกแทน เพราะตกไม่แตก ทำให้ปลอดภัยสำหรับเด็กมากกว่า

 ขวดนมลดโคลิก

           หลาย ๆ คนคงคิดมีกับเขาด้วยเหรอ ฮา++ มีค่ะ "โคลิก" หรือโรคร้อง 3 เดือน ซึ่งเกิดขึ้นกับเบบี๋ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือน เกิดจากสาเหตุหนึ่งตามที่ทางการแพทย์วินิจฉัยไว้ ก็คือเกิดจากก๊าซในกระเพาะ ดังนั้น ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ ก็มีการประดิดประดอยขวดนมชนิดพิเศษขึ้น ซึ่งขวดนมชนิดนี้จะมีส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเบบี๋ดูดนมจากขวดที่จะมีการดูดอากาศเข้าไปด้วยส่วนหนึ่ง ขวดนมลดโคลิกนี้จะช่วยควบคุมการไหลข้าวของอากาศ ทำให้มีก๊าซเข้าไปได้น้อยที่สุด นอกจากนี้แล้ว ก็มีทิปเล็ก ๆ สำหรับการป้อนนมจากขวดให้กับลูกน้อยเพื่อลดปัญหาโคลิก นั่นคือ ควรเปิดจุกนมให้หลวมเล็กน้อย และป้อนนมสลับกับการหยุดพัก

 สาร BPA ในขวดนมพลาสติก...ต้องระวัง

           จากการรายงานของวิทยาลัยสาธารณสุขฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ พบว่า ขวดนมพลาสติกใสแบบที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีพิษจากสารเคมีบิสฟอสฟอนิลเอ (BPA) ซึ่งเป็นสารเติมแต่ง เพื่อทำให้พลาสติกเหนียว ไม่เปราะ แตกง่าย แต่เป็นภัยต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ ดังนั้น วิธีการหลีกเลี่ยงที่ดีคือ เลือกขวดนมที่มีการรับรองว่า ไม่ใช้สาร BPA หรือให้กินนมแม่เป็นดีที่สุด หากไม่กินนมแม่ ก็ควรผสมนมกับน้ำอุ่นในขวดแก้ว รอให้เย็นแล้วค่อยเทลงในขวดนม หรือใช้ขวดแก้วไปเลย ก็น่าจะปลอดภัยกว่า


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 456 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขวดนมแบบไหน? ถึงจะโดนใจหนู อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15:53:17
TOP