x close

อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารก

baby

อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารก
(Mother&Care)

           อาหารเสริมสำหรับทารก หมายถึง อาหารที่ทารกได้รับเป็นมื้อนอกเหนือจากนมแม่หรือนมผสม เพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต แม่ที่มีสุขภาพดีและทานอาหารที่มีประโยชน์เพียงพอจะมีน้ำนมเพียงพอสำหรับเลี้ยงทารกจนกระทั่งทารกอายุประมาณ 6 เดือน

           หลังจากนั้นทารกจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมเพิ่มจากนมแม่ เพื่อให้ทารกได้สารอาหาร วิตามิน และเกลือแร่เพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของทารก นอกจากนั้นการให้อาหารเสริมสำหรับทารกจะช่วยให้ทารกปรับตัวเรื่องการรับประทานอาหาร กึ่งเหลว กึ่งแข็ง ให้คุ้นเคยกับรสชาติอาหารที่หลากหลาย เพื่อพัฒนาไปสู่การรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ การให้การอาหารเสริมที่มีคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมสำหรับทารกเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งมีผลต่อร่างกายและสติปัญญาของทารกในระยะยาวได้ การให้อาหารเสริมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ทารกขาดสารอาหารและอาจเกิดปัญหาโรคอ้วนใบทารกได้

แนวทางในการให้อาหารเสริมสำหรับทารก

           1. ควรให้อาหารเสริมเมื่อทารกมีความพร้อมของระบบทางเดินอาหาร ความพร้อมของไตและความพร้อมของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และเมื่อนมแม่อย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต จึงควรเริ่มให้เมื่ออายุ 4-6 เดือน ให้อาหารเสริมแทนนม 1 มื้อ เมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน อาหารเสริมแทนนม 2 มื้อ เมื่ออายุ 8-9 เดือน และเมื่ออายุครบ 1 ปี ให้อาหารเสริมแทนนม 3 มื้อ

           2. อาหารเสริมที่ให้ต้องมีพลังงานเพียงพอกับความต้องการของทารก จากข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับสำหรับคนไทย พ.ศ.2546 กำหนดให้ทารก 6-8 เดือน 9-11 เดือน ควรได้รับพลังงานวันละ 800 กิโลแคลอรี อาหารเสริมสำหรับทารกควรมีอาหารครบทั้ง 5 หมู่และให้มีอาหารหลากหลาย ได้แก่ ข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำมัน ผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน

           3. ลักษณะของอาหารค่อย ๆ เพิ่มความหยาบของอาหาร อาหารที่ให้ทารกอายุ 6 เดือน ควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียดโดยใช้วิธีบดเพื่อให้กลืนได้ง่าย เมื่อสามารถเคี้ยวได้และกลืนอาหารได้ดีจึงค่อยเพิ่มความหยาบของอาหารไม่จำเป็นต้องบดละเอียด ทารกอายุ 12 เดือนขึ้นไป สามารถทานอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้ ควรให้อาหารที่รสไม่จัด เคี้ยวง่าย นิ่ม ชิ้นไม่ใหญ่เกินไป

           4. อาหารที่ใช้เตรียมอาหารเสริมสำหรับทารก ได้แก่ ไข่แดง ตับ ปลา เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์ เช่น เต้าหู้ให้ทารกกินได้เมื่ออายุ 4-6 เดือน แต่ทุกอย่างต้องปรุงให้สุก บดละเอียดส่วนผักและผลไม้ก็ให้ทารกกินได้เมื่ออายุ 4-6 เดือน ผักที่ให้ควรเลือกให้หลายหลาย เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ฟักทอง แครอท ผักกาดขาว ส่วนผลไม้ให้กินเป็นอาหารว่าง เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก มะม่วงสุก ส้มเขียวหวาน สำหรับไข่ทั้งฟองควรให้กินเมื่ออายุ 7 เดือน

           5. อาหารที่เตรียมให้ทารกต้องสะอาดปลอดภัย อุปกรณ์ที่ใช้ต้องสะอาด ล้างมือก่อนเตรียมและป้อนกอาหาร เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง

           6. อาหารที่เตรียมให้ทารก ไม่ใช้เครื่องปรุงรสหรือผงชูรสเพื่อให้ทารกคุ้นเคยกับรสตามธรรมชาติไม่ติดเค็มหรือรสหวาน

           7. ไม่ให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และคาเฟอีน เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน ชา กาแฟ และน้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาลเพื่อไม่ให้ทารกติดรสหวาน

           8. ไม่ให้ขนมกรุบกกรอบแก่ทารกก่อนอายุ 1 ปี และขนมที่มีน้ำตาลสูงและเกลือสูง และขนมที่เหนียวติดฟัน

           9. ถ้าทารกปฏิเสธอาหารเสริมบางอย่าง ไม่ควรบังคับ ควรเปลี่ยนวิธีการปรุง แล้วค่อยให้กินใหม่

           10. การให้อาหารเสริมควรฝึกวินัยในการกิน โดยให้กินอาหารเป็นมื้อ ๆ เป็นเวลา ให้กินเป็นที่เป็นทาง ไม่ควรกินไปเล่นไป และหัดให้เด็กช่วยเหลือตนเองในการกินอาหารอย่างเหมาะสมตามวัย

           ฉบับนี้แม่และเด็กมีตำรับอาหารเสริมสำหรับทารกซึ่งเป็นอาหารที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากและเป็นอาหารเสริมที่มีประโยชน์สำหรับทารก ได้แก่ ซุป ข้ากล้อง ข้าวนึ่งมหัศจรรย์ เกี๊ยวปลา และ วุ้นนม ผลไม้

Q & A

           ช่วงตั้งครรภ์นี้เราควรทานอาหารที่เหมาะสมอย่างไรดีคะ ตอนนี้ใครแนะนำอะไรมาก็ทานหมดเลยค่ะ

           “ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ยุครรภ์ 1-3 เดือน ทารกเจริญเติบโตทางด้านร่างกายโครงกระดูก แขน ขา และอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ ไต สมอง ในช่วงนี้หญิงตั้งครรภ์ ยังไม่ควรเพิ่มปริมาณอาหารที่รับประทาน เพียงแต่เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี

           ...ในช่วงที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4-6 เดือน ทารกในครรภ์จะเพิ่มความยาวขึ้นในช่วงนี้หญิงตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารเพิ่มมากขึ้น สำหรับช่วงที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 7-9 เดือน ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ในช่วงนี้หญิงตั้งครรภ์จะต้องรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์ของแม่และการเจริญเติบโตของทารก น้ำหนักตัวของแม่ที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสุขภาพที่ดีของทารก หญิงตั้งครรภ์ที่ได้อาหารเพียงพอและสมดุลตลอดการตั้งครรภ์ จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยประมาณ 12 กิโลกรัม ซึ่งจะทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวประมาณ 3,000 กรัม”


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 456 กุมภาพันธ์ 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารก อัปเดตล่าสุด 18 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15:39:19
TOP