x close

การผ่าตัดลดขนาดเต้านม




การผ่าตัดลดขนาดเต้านม (สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย)
โดย ผศ.นพ.จงดี อาวเจนพงษ์
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          โดยทั่วๆ ไป เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มขนาดเต้านม หรือการเสริมเต้านมเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงการลดขนาดเต้านมอาจจะฟังดูแปลกประหลาด แต่ในความเป็นจริง การผ่าตัดลดขนาดเต้านมเป็นการผ่าตัดที่พบได้บ่อยพอสมควร

          เต้านมที่ใหญ่ผิดปกติอาจพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ในผู้หญิง ขนาดของเต้านมที่ใหญ่ผิดปกติ (Breast hypertrophy) อาจเกิดได้ตั้งแต่เข้าสู่วัยรุ่น หรือหลังจากนั้น หรือหลังจากให้นมบุตรแล้ว ขนาดเต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้นไม่ลดขนาดลงหลังจากหยุดให้นมแล้ว หรือเกิดจากเนื้องอกบางชนิด ส่วนในผู้ชายขนาดของเต้านมที่ใหญ่ผิดปกติ (Gynecomastia) มักพบในช่วงวัยรุ่น ซึ่งจำนวนไม่น้อยจะหายได้เอง แต่บางส่วนไม่หาย ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคตับบางชนิด อาจทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือการรับประทานฮอร์โมนในพวกที่เตรียมแปลงเพศ ก็อาจทำให้เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

          ปัญหาในผู้หญิงที่มีขนาดเต้านมใหญ่ผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากการถ่วงของเต้านม ทำให้เกิดอาการปวดไหล่ ปวดหลัง การรักษาความสะอาดโดยเฉพาะบริเวณซอกใต้ราวนมทำได้ยาก อาจเกิดการชื้นแฉะตลอดเวลา จนเป็นแผลหรือโรคเชื้อราได้ นอกจากนี้ การหายกทรงที่มีขนาดใหญ่พิเศษก็เป็นเรื่องยาก การเดินเหินก็ลำบากกว่าปกติ และในแง่ความสวยงามแล้วก็จะมีความมั่นใจน้อยลง สำหรับผู้ชายมักจะเป็นเรื่องของบุคลิก ที่ทำให้มาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษามากกว่าเรื่องการปวดไหล่

          การรักษาเต้านมที่ใหญ่ผิดปกติ ในปัจจุบันยังเป็นการผ่าตัด ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ก่อนการผ่าตัดต้องมีการตรวจร่างกาย การตรวจเต้านม การตรวจทางรังสีของเต้านม (Mammogram) เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม และการตรวจเลือดเพื่อเตรียมการผ่าตัดโดยดมยาสลบในวันก่อนผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการวัดขนาดเต้านมและวาดตำแหน่งที่จะผ่าตัด และตำแหน่งที่ต้องเลื่อนหัวนมให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปกติ ขนาดของเนื้อนมที่จะตัดออก แผลผ่าตัดที่จะใช้ในการผ่าตัด

          วิธีการผ่าตัดลดขนาดเต้านมมีมากมายหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความชำนาญของศัลยแพทย์แต่ละท่าน แต่ทุกวิธีจะต้องมีแผลรอบป้านนมเสมอ ซึ่งก่อนผ่าตัดศัลยแพทย์จะอธิบายถึงแผลผ่าตัดที่เกิดขึ้นเสมอ

          หลังผ่าตัดจะมีสายระบายเลือดจากแผลผ่าตัดอยู่ 2 - 4 วัน และต้องนอนพักในโรงพยาบาล 2 - 4 วัน จนกว่าจะนำสายระบายเลือดออก จากนั้นก็สามารถกลับไปนอนพักฟื้นที่บ้านต่อจนกว่าจะตัดไหม ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่วันที่ 7 - 12 วัน

          โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ก็เหมือนกับการผ่าตัดทั่ว ๆ ไป มีตั้งแต่โรคแทรกซ้อนระหว่างดมยาสลบ แผลผ่าตัดแยก แผลผ่าตัดติดเชื้อ แผลมีเนื้อตาย อาการชาที่หัวนม หัวนมตายบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งต้องปรึกษากับศัลยแพทย์ก่อนผ่าตัดทุกครั้งนมที่ใหญ่ผิดปกติ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การผ่าตัดลดขนาดเต้านม อัปเดตล่าสุด 19 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 17:11:36 1,894 อ่าน
TOP