x close

มื้อนี้มีแต่เรื่อง (ให้เรียนรู้)

baby

มื้อนี้มีแต่เรื่อง (ให้เรียนรู้)
(momypedia)
โดย: นงพุธ

           แม่คนไหนที่ยังวิ่งตามป้อนข้าวให้เจ้า ตัวเล็กอยู่ล่ะก็ เรื่องราวต่อไปนี้เหมาะกับคุณที่สุดเลยล่ะ เพราะคุณรู้มั้ยว่า วิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สกัดกั้นการเรียนรู้ของลูกอย่างใหญ่หลวงเลยเชียว

           ที่หยิบยกเรื่องนี้มาคุยกันกับคุณ ๆ ผู้อ่านก็เพราะว่า มีเรื่องให้ขบคิดเกี่ยวกับปัญหาการกินของหนู ๆ ในยุคนี้กันหลายประเด็นอยู่ ยิ่งช่วงหลัง ๆ แฟน ๆ รักลูก มักโทรเข้ามาปรึกษาเล่าให้ฟังว่า เจ้าตัวเล็กไม่ยอมกินข้าวบ้างล่ะ ไม่กินผักบ้างล่ะ และที่น่าอัศจรรย์ใจไปกว่านั้นคือ มีครอบครัวหนึ่ง ลูกอายุขวบกว่าที่ฟันขึ้นเต็มปากแล้ว ยังต้องปั่นอาหารให้ดูดจากขวดนม...ซึ่งพ่อแม่ก็เป็นห่วงและรู้ว่าเป็นปัญหา แต่ไม่รู้จะแก้ยังไงดี เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ลูกก็ไม่ยอมกิน....นี่เรื่องจริงนะคะ ไม่ได้ยกเมฆมาเล่าให้ฟัง

           สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นถึงวิธีการเลี้ยงดู ที่อาจหลงทิศหลงทางกันไปบ้าง เพราะถ้าเราวิเคราะห์กันจริงจัง จะพบว่า ส่วนใหญ่แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็กหรอกค่ะ อยู่ที่คนเลี้ยงนั่นแหละ แต่ถ้าใครเข้าข่ายในกรณีข้างต้น อย่าเพิ่งตีอกชกตัวว่า ตัวเรานี้เป็นพ่อแม่ที่ใช้ไม่ได้ เพราะยังมีหนทางแห่งการแก้ไข และปรับพฤติกรรมลูก (รวมทั้งพฤติกรรมการเลี้ยงดูของเราเองด้วย)

"มื้ออาหาร" ช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่

           ก่อนอื่นก็ต้องช่วยกันวิเคราะห์และมองให้ทะลุปรุโปร่ง รวมถึงตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านก่อนว่า ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับมื้ออาหารของลูก ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงการเลือกอาหารที่มีโภชนาการที่ดีเท่านั้น ก็เพราะสำหรับลูกในช่วงวัยขวบปีที่สองของชีวิตนี้ เกิดการเรียนรู้ขึ้นมากมาย ทุก ๆ เหตุการณ์ที่เข้ามาในแต่ละวัน ประสาทสัมผัส รวมถึงสมองทุกส่วนของลูกได้เก็บเกี่ยวไว้ในระบบความจำเรียบร้อยแล้วนั้น ก็หมายความว่าอยากสอนให้ลูกเป็นอย่างไร ฝึกอะไรให้กับเขา ก็ล้วนต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างนี้ทั้งนั้น

คราวนี้เรามาดูกันค่ะว่า มื้ออาหารที่ว่านี้ลูกของเราได้เรียนรู้อะไร

             กล้ามเนื้อเล็ก การปล่อยให้ลูกตักอาหารกินเอง (แม้จะต้องเลอะเทอะ) ก็เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่ง เพราะกล้ามเนื้อเล็ก ซึ่งไม่ได้หมายความแค่เพียงนิ้วมื้อที่หยิบช้อนหรือหยิบอาหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงกล้ามเนื้อเล็กทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การฝึกกะระยะโดยใช้สายตาระหว่างหยิบอาหารกับตำแหน่งของปาก (co-ordinate) เมื่ออาหารเข้าไปภายในช่องปากแล้ว กล้ามเนื้อเล็กเหล่านี้ คือ ลิ้น กราม ฟัน การบดเคี้ยว รวมไปถึงการกลืน ล้วนได้ค่อยๆ ทำหน้าที่ของเขาอย่างต่อเนื่องและสอดคล้อง ซึ่งแรกๆ อาจมีติดขัดบ้าง เช่น เคี้ยวไม่ละเอียด สำลักอาหาร ฯลฯ แต่เมื่อลูกได้ฝึกอยู่บ่อย ๆ ก็จะทำให้พัฒนาการด้านนี้เชี่ยวชาญขึ้น

             ฝึกวินัย การกินอาหารบนโต๊ะอาหาร หรือกินให้เป็นที่เป็นทาง รวมถึงการกินอาหารพร้อม ๆ กันกับคนในครอบครัวช่วยให้ลูกเรียนรู้กติกาการอยู่ร่วมกับคนอื่น การมีวินัยในตนเอง แต่ในวัยเล็กขนาดนี้อาจยืดหยุ่นให้ลูกได้บ้าง เช่น ลูกอาจหิวก่อนที่จะถึงเวลาอาหารของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจเตรียมอาหารให้แกก่อนคนอื่น แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อจะกินอาหารก็ต้องนั่งลงกินให้เสร็จเรียบร้อย แล้วจึงลุกวิ่งเล่น อ้าว...แต่ถ้าลูกอยากวิ่งเล่นด้วย แล้วจะทำยังไงล่ะ ไม่ยากค่ะ ก็อาจต้องใจแข็งเล็กน้อย คือ ยุติกิจกรรมบนโต๊ะอาหาร แล้วปล่อยให้แกไปวิ่งเล่น หิวเมื่อไหร่ก็ค่อยมานั่งกินในที่ที่เหมาะสมใหม่ แต่ต้องไม่ใช้วิธีลูกก็วิ่งเล่นไป ส่วนแม่ก็วิ่งตามป้อนข้าวไป

             เหตุผลที่ดีมาก ๆ กับการที่ให้ลูกมีส่วนร่วมบนโต๊ะอาหารด้วยนั้นก็คือ ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งดีๆผ่านคุณพ่อคุณแม่ เช่น การกินอาหารต้องหลากหลาย มีอาหารหลายชนิด ที่สำคัญ การไม่ชอบกินผักของเด็กยุคนี้ ถ้าลองดูกันให้ดี ๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เขาไม่มีแบบอย่าง ไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เขาเห็นว่า กินผักนี้ดียังไง อร่อยแบบไหน เพราะอย่างนี้ถ้าอยากปลูกฝังให้ลูกกินผักแล้วล่ะก็ ท่าทีเอร็ดอร่อยกับเมนูผักของพ่อแม่ รวมถึงแรงเชียร์ของทุกคนให้ลูกลิ้มลอง บรรยากาศที่ว่านี้มีส่วนช่วยให้ลูกมีทัศนคติที่ดีกับอาหารผักแน่นอนค่ะ เพียงแต่มีเคล็ดลับตรงที่ อาหารผักของลูกอาจทำพิเศษกว่าของผู้ใหญ่ เช่น อยู่ในไข่ยัดไส้ หรือเป็นแกงจืดเปื่อยนุ่ม และเลือกผักที่กินง่าย ไม่ค่อยมีกลิ่นฉุนหรือมีกากมาก

             สายสัมพันธ์และการแบ่งปันทุกข์สุข มักเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร โดยเฉพาะมื้อเย็นของครอบครัว สังเกตดูว่าคนไทยเราจะให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเย็นมาก บางบ้านถึงขนาดว่าถ้าสมาชิกในบ้านมาไม่ครบ ทุกคนก็ต้องรอเพื่อกินอาหารพร้อมกัน และเรื่องราวต่างๆ ทั้งปัญหาและเรื่องดีๆ ที่แต่ละคนได้ไปพบมาในช่วงระหว่างวัน ก็ถูกหยิบยกมาพูดคุย นี่ล่ะค่ะความสัมพันธ์ดี ๆ และความใกล้ชิดก็เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารได้เช่นกัน ลูกเองแม้จะยังเล็กนัก แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ซึมซับและผ่านการเรียนรู้ จนวันหนึ่งแกก็จะเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ให้คุณฟัง

             การฝึกความเป็นตัวของตัวเอง ก็เพราะการได้นั่งโต๊ะอาหารร่วมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว และลูกได้มีที่นั่งเป็นของตนเอง มีจานหรือชาม มีช้อนของตนเอง มีแก้วน้ำเป็นส่วนตัว ล้วนมีส่วนในการทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง รู้สึกเป็นบุคคลคนหนึ่งเหมือนคนอื่นๆ รวมไปถึงหากมีโอกาสได้เลือกตักอาหารที่ตนเองชอบ บนการตัดสินใจของความต้องการตนเอง โดยมีคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูคอยช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ เหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะการรู้จักเลือก การหัดตัดสินใจ และการมีส่วนร่วม การปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

             ไม่เชื่อก็ ต้องเชื่อค่ะว่า แค่เพียง 20 นาทีหรือครึ่งชั่วโมง กับเวลาบนโต๊ะอาหารของลูกนั้น สร้างการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องอาศัยตำราใด ๆ มาประกอบ หรือต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำทฤษฎีใด ๆ เลย ก็คงเหมือนเรื่องอื่น ๆ ที่เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ทำในสิ่งที่เหมาะสม เลี้ยงดูลูกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่วิตกกังวลเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องมีวินัยในการเลี้ยงดู แต่รู้จักที่จะยืดหยุ่นตามวัยของลูก ข้อสำคัญคือสิ่งแวดล้อมในบ้านรวมถึง "แบบอย่าง" จากตัวคุณเอง ที่กำหนดทิศทางว่า อยากจะให้ลูกดำเนินชีวิตและพัฒนาบุคลิกลักษณะไปในทิศทางไหนค่ะ

             การปล่อยให้ลูกตักอาหารกินด้วยตนเอง เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมใจไว้ว่า คงหกเลอะเทอะเต็มไปหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือต้องกังวลอะไร แต่มีคำแนะนำเล็กๆน้อยมาฝากค่ะ คืออาจหาที่กันเปื้อน ถ้าให้ดีเลือกแบบที่ทำจากพลาสติกให้ลูกใช้ทุกครั้ง จะช่วยป้องกันไม่ให้เลอะเทอะเสื้อผ้าได้ค่ะ

             การสร้างกฎกติกาในการ นั่งโต๊ะรับประทานอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่ยังคงไว้ แต่ด้วยวัยของลูกอาจทำอะไรนานๆ หรืออยู่ในที่จำกัดไม่ได้นานแบบผู้ใหญ่ อาจต้องยืดหยุ่นเรื่องเวลา เช่น ไม่ต้องเลิกพร้อมคนอื่นๆ ยอมให้ไปวิ่งเล่นได้ก่อน

           ที่ลืมไม่ได้คือ คอยชื่นชมเมื่อลูกหัดทำอะไรได้เอง และทุกคนในบ้านยึดหลักการเดียวกัน เพื่อลูกจะได้ไม่สับสนและค่อย ๆเรียนรู้ว่าเป็นกติกาของทุกคนในบ้านเหมือนกัน

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มื้อนี้มีแต่เรื่อง (ให้เรียนรู้) อัปเดตล่าสุด 11 มีนาคม 2553 เวลา 16:34:06
TOP