x close

ศัลยกรรมอย่างไร? ไม่ต้องเสี่ยง

ศัลยกรรม


ศัลยกรรมอย่างไร? ไม่ต้องเสี่ยง (มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค)

          ปัจจุบันมีผู้สนใจทำศัลยกรรมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าที่ได้รับความนิยมสูงมาก คือ การเสริมจมูก และทำตาสองชั้น ซึ่งเป็นการทำศัลยกรรมเพื่อบุคลิกภาพ (Personality Surgery) เน้นเสริม เติม แต่งเพื่อให้บุคลิกดูดีขึ้นเป็นหลักส่งผลให้วงการศัลยกรรมในบ้านเราเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดกรณีและปัญหาต่างๆ มากมาย

         
ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดคำถามตามมาว่า จะเลือกทำสวยแบบไม่ต้องเสี่ยงอย่างไรถึงจะสบายใจและปลอดภัยแน่นอน 

          นพ.ชลธิศ สินรัชตรนันท์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำว่า ถ้าเริ่มคิดว่าจะทำศัลยกรรม สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงเป็นหลัก คือ เรื่องความปลอดภัย ก่อนอื่นควรต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมนั้นๆ ให้มากที่สุด เช่น ถ้าต้องการเสริมจมูก ก็ควรรู้ว่าปัจจุบันการเสริมจมูกมีกี่วิธี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร อะไรเป็นข้อห้าม และเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงรวมถึงการเลือกสถานพยาบาลและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะปัจจุบันมีหมอเถื่อน หมอกระเป๋าหิ้ว และคลินิกเถื่อนเกลื่อนเมือง 

         
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาสถานพยาบาลและแพทย์เพื่อความปลอดภัยและไม่ต้องเสี่ยง 2 ข้อ คือ มาตรฐานและคุณภาพ 

          "คำว่ามาตรฐาน หมายถึง 1.สถานพยาบาลต้องถูกกฎหมายมีใบรับรอง 2.แพทย์ต้องเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ใช่หมอเถื่อนหรือหมอกระเป๋าหิ้ว เมื่อได้มาตรฐานแล้วสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีก คือ คุณภาพ โดยต้องดูจากผลงานและประสบการณ์ของหมอที่ผ่านมา อาจถามจากหมอโดยตรงหรือสอบถามผู้รู้ต่างๆ ไม่ใช่ดูจากโฆษณาเพียงอย่างเดียว หรืออย่าตัดสินใจเพราะสิ่งจูงใจ เช่น การตัดราคา เป็นต้น" 

         
นอกจากนี้ นพ.ชลธิศ ยังเปิดเผยว่า การทำศัลยกรรม เป็นขบวนการผ่าตัดบนผิวเนื้อของใบหน้าประกอบด้วยการตัด เย็บ และเสริม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ศัลยแพทย์ทุกคนได้ร่ำเรียนมาเหมือนกัน แต่สิ่งที่แตกต่าง ก็คือ การสร้างสรรค์ 
        
          "การทำศัลยกรรมเปรียบเสมือนการสร้างสรรค์ประติมากรรม นอกจากฝีมือด้านการผ่าตัด และการเย็บแล้ว ศัลยแพทย์ต้องมีพรสวรรค์และพรแสวงในการสร้างสรรค์ประติกรรมชิ้นนี้ให้สวยงามได้ดั่งใจ" 

          ความยากของการทำศัลยกรรมจึงอยู่ที่ "เส้นสาย ลายริ้ว" ซึ่งเป็นเรื่อง "ศิลป์" หลักการเลือกศัลยแพทย์จึงไม่ต่างกับการเลือก "ช่าง" ดังนั้น ผลงานกับประสบการณ์จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญ และสามารถรับประกันความผิดพลาดได้เป็นอย่างดี 

         
เมื่อได้สถานที่ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำให้เกิดความมั่นใจครบถ้วนแล้ว ข้อปฏิบัติสำหรับก่อนทำศัลยกรรมที่ผู้ทำศัลยกรรมควรทราบคือ 

          1. ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติหรือกำลังป่วยเป็นโรค 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มโรคเสี่ยง ได้แก่ โรคหัวใจ ความดัน และเบาหวาน กลุ่มโรคเลือด เช่น เลือดไหลไม่หยุด และกลุ่มติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไซนัส เป็นต้น หากป่วยต้องรักษาโรคให้หายก่อนจึงจะสามารถทำศัลยกรรมได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจที่อาจส่งผลถึงชีวิตได้ 

          2. พักผ่อนให้เพียงพอ 

         
3. ต้องงดน้ำและอาหาร อย่างน้อย 4-6 ชั่วโมงก่อนทำศัลยกรรม เพื่อให้การทำศัลยกรรมในครั้งนั้นราบรื่น ไม่ต้องสะดุดหยุดกลางคัน 

          ส่วนข้อข้องใจที่ผู้ทำศัลยกรรมส่วนใหญ่มักกังวล คือ เรื่องความเจ็บปวด และสุดท้ายก็ขอให้วางยาสลบ เรื่องนี้นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับการทำศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า เป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่ทำให้เจ็บและปวดมาก ดังนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญใบหน้าส่วนใหญ่จะไม่วางยาสลบ แม้ว่าจะถูกร้องขอจากผู้ทำศัลยกรรมก็ตาม 

          
 ทั้งนี้ เพราะในกระบวนการผ่าตัดศัลยกรรมบนใบหน้านั้น แพทย์ต้องมีการทดสอบ ระหว่างทำด้วยว่าผลงานเป็นอย่างไร เช่น การทำตาสองชั้น เมื่อลงมือปฏิบัติการตรวจเช็คความสวยงามจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยลืมตาและหลับตาเพื่อเช็คว่า ตาทั้งสองข้างเท่ากัน และมีขนาดที่พอเหมาะตามความต้องการแล้วหรือยัง แต่เป็นธรรมดาที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดอาการตื่นเต้น หรือกลัวเจ็บ ซึ่งวิธีการที่ถูกต้อง คือการให้ยาคลายเครียด ประเภทวาเลียม ซึ่งจะให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย ขณะทำศัลยกรรมได้ 

          "การวางยาสลบมักใช้กับการศัลยกรรมหน้าอก แปลงเพศ และตัดไขมันหน้าท้องเป็นหลักเนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ไม่ใช่ผ่าตัดบนพื้นผิวอย่างศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า ทั้งนี้ ข้อควรระวังสำหรับผู้ที่ต้องการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าไม่ว่าเสริมจมูก ทำตาสองชั้น ดึงหน้าคือต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟังคำโฆษณา หรือคำแนะนำจากผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ ประการสำคัญก่อนตัดสินใจทำศัลยกรรมควรสอบถามรายละเอียดจากแพทย์ให้มากที่สุด จนมั่นใจแล้วจึงค่อนตัดสินใจทำ" 

          หากปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวมาอย่างรอบคอบ โดยไม่ใจร้อน หรือด่วนตัดสินใจก่อนศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด อย่างน้อยการทำศัลยกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีคำว่า "เสี่ยง" หรือ "เสียว" อย่างแน่นอน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศัลยกรรมอย่างไร? ไม่ต้องเสี่ยง อัปเดตล่าสุด 15 สิงหาคม 2557 เวลา 16:28:16 3,812 อ่าน
TOP