x close

ทีวี...ศัตรูตัวร้ายของลูกวัยเตาะแตะ

ิbaby

ทีวี...ศัตรูตัวร้ายของลูกวัยเตาะแตะ
(Lisa)

          คุณก็เป็นอีกคนหนึ่งหรือเปล่าที่ใช้ทีวีผ่อนแรงในการเลี้ยงลูกน้อย แต่คุณทราบหรือไม่ว่าทีวีอาจมีบทบาทและส่งผลกระทบกับลูกรักของคุณมากเกินกว่าที่คิด

          วารสารสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์การศึกษาผลกระทบจากการดูทีวีของเด็กเล็ก พบว่าเด็กเล็กที่ดูทีวีเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีสมาธิสั้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน และอาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กอย่างถาวร เนื่องจากได้รับการกระตุ้นมากเกินไป โดยทำการศึกษากับเด็กอเมริกัน 2,500 คน พบว่าเด็กอายุ 1 ขวบ และ 3 ขวบ เผชิญความเสี่ยงต่อสมาธิบกพร่องเมื่ออายุ 7 ขวบ เพิ่มขึ้น 10% ทุกๆ หนึ่งชั่วโมงของการดูทีวีต่อวัน

          และหากเขาเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กสมาธิสั้น จะเกิดปัญหาในการเรียน เนื่องจากไม่สามารถเพ่งสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จัดระบบระเบียบต่าง ๆ ไมได้ และมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่ปรากฏจนกว่าจะอายุ 7 ขวบ คือเมื่อย่างเข้าสู่วัยเรียน

          ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับคำแนะนำของสถาบันกุมารแพทย์อเมริกันที่ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวี

ธรรมชาติเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบ

          เด็กวัยนี้จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับพ่อแม่ เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของสมองและการพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์ และความคิดอย่างเหมาะสม

          ลูกน้อยวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ยังไม่มีความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ ดังนั้น จึงแยกแยะความคิดต่างๆ ไม่ได้ว่าอย่างไหนจริงหรือไม่จริง ปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย การนั่งเฉยๆ อยู่หน้าจอทีวี ลูกจะได้รับข้อมูลต่างๆ มากมาย ซึ่งไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์ต่อระดับความเข้าใจของเขา ด้วยสาเหตุนี้การดูทีวีจึงไม่เหมาะกับลูกวัยทารกหรือวัยเตาะแตะ

ทำอะไรได้บ้าง ถ้าไม่ดูทีวี

          มีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่คุณและลูกน้อยทำร่วมกันได้ โดยไม่ต้องพึ่งทีวี อย่างการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือเล่นกับเขา ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความรักความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นอีกด้วย

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

          1. เริ่มต้นด้วยการร้องเพลงกล่อมเด็กให้ลูกฟัง เมื่อเขาอายุย่างเข้า 6 เดือน ลองหาหนังสือเด็กที่มีภาพประกอบอย่างง่ายๆ สีสันสดใส และมีเนื้อหาที่มีจังหวะท่วงทำนองมาอ่านให้ลูกฟัง

          2. ท่าทางในการอ่าน ให้อุ้มลูกไว้บนตัก เขาจะได้มองเห็นภาพประกอบไปพร้อมกันด้วย

          3. ระหว่างเล่าเรื่อง ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ ในหนังสือประกอบไปด้วย

          4. เวลาเล่าเรื่อง ให้ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ และทำหน้าตาท่าทางประกอบ หรือคุณอาจลองทำเสียงประกอบอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจของลูก

          5. ระหว่างฟัง ลูกของคุณจะค่อยๆ ซึมซับความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อเรื่องในหนังสือกับเสียงของคุณ รวมทั้งความใกล้ชิดระหว่างคุณกับเขาปล่อยให้ลูกสัมผัสหรือถือหนังสือเองบ้าง จะช่วยสร้างความผูกพันกับหนังสือเองบ้าง จะช่วยสร้างความผูกพันกับหนังสือให้มากขึ้น

          6. ใช้เวลาในการอ่านแต่ละครั้งเพียงช่วงสั้นๆ แต่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน

เล่นกับลูก

          1. คุณอาจพาเขาไปเดินเล่นละแวกบ้าน เพื่อสำรวจโลกกว้าง และให้เรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ที่พบเห็น เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ แมลง ผีเสื้อ หมา แมว ฯลฯ

          2. ระหว่างเล่นกับลูก ให้เรียกชื่อของเล่นที่กำลังเล่น รวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของของเล่น เช่น สี รูปทรง ขนาด

          3. ถ้าเป็นลูกน้อยวัยทารก ของเล่นที่เลือกควรทำด้วยวัสดุอ่อนนุ่ม (ไม่มีขอบแหลมหรือประกอบด้วยชิ้นเล็กชิ้นน้อย) และล้างออกง่าย

          4. สอนลูกให้รู้จักการแยกแยะ เริ่มด้วยการแยกสีตัวต่อไม้บล็อก

          5. ช่วยลูกเรียนรู้การต่อตัวต่อ โดยเลือกให้เหมาะกับวัย และคำนึงถึงความปลอดภัย

          6. ฝึกการประสานระหว่างตาและมือของลูกด้วยการเล่นกลิ้งลูกบอล

          7. ชวนลูกเล่นเกมระหว่างคุณทำงานบ้าน เช่น เล่นเกมเก็บของ หรือเสื้อผ้าใส่ลิ้นชัก หรือตู้เก็บของเป็นการช่วยคุณทำงานอีกแรง

เอาใจใส่ลูกคุณวันนี้ยังไม่สาย ก่อนที่เขาจะกลายเป็นเด็กติดทีวี


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทีวี...ศัตรูตัวร้ายของลูกวัยเตาะแตะ อัปเดตล่าสุด 19 เมษายน 2553 เวลา 16:35:10 1,779 อ่าน
TOP