x close

ไวรัสเริม...วายร้ายที่แม่ท้องต้องระวัง

ตั้งครรภ์

ไวรัสเริม...วายร้ายที่แม่ท้องต้องระวัง
(Mother & Care)

          "เริม" ไม่เพียงแต่จะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความรำคาญเท่านั้น หากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อโรคเริมก็อาจเป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิดด้วย ดังนั้น ควรดูแลเพื่อไม่ให้ติดเชื้อเริม และป้องกันไม่ให้เกิดโรคซ้ำค่ำ

เริม ระหว่างตั้งครรภ์

          โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex virus 2 ตัว คือ HSV-1 มักพบบริเวณริมฝีปากหรือมุมปาก และ HSV-2 พบบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอดหรือปากมดลูก มีลักษณะเป็นแผลและมีตุ่มน้ำใส ๆ ซึ่งการติดเชื้อเริมมักเกิดจากการใช้แก้วน้ำร่วมกันการจูบ หรือทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากเป็นเริมที่บริเวณอวัยวะเพศจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ได้จากการคลอดผ่านทางช่องคลอด

          คุณแม่บางท่านอาจเคยเป็นเริมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกและมักจะเป็นที่บริเวณเดิมหรือใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิม ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคเริมซ้ำคือ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ร่างกายอ่อนแอ และอากาศร้อน เป็นต้น

อาการเริม ระหว่างตั้งครรภ์

          โรคเริมมีลักษณะเป็นแผลและมีตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็กอยู่เป็นกลุ่มกระจัดกระจายในบริเวณที่เป็น และตุ่มใสจะแตกภายใน 24-48 ชั่วโมง หากมีการอักเสบที่ช่องคลอดปากมดลูก หรือท่อปัสสาวะ จะทำให้ปัสสาวะลำบาก อวัยวะเพศบวม และมีตกขาว ร่วมกับอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ซึ่งจะมีอาการอยู่ 2-3 สัปดาห์ แผลจึงจะค่อย ๆ หาย และตกสะเก็ด

หากเป็นเริมที่อวัยวะเพศระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เชื้อผ่านไปยังทารก ทำให้พิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ และถ้าเป็นในช่วงใกล้ตลอด ทารกจะมีโอกาสเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ร้อยละ 30-50 จากการคลอด

การเกิดโรคเริมในระหว่างตั้งครรภ์มี 3 แบบ คือ

          1. การเกิดโรคครั้งแรก (Primary infection) คุณแม่ในกลุ่มนี้จะมีอาการแสดงที่รุนแรง เพราะร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ HSV-1 และ HSV-2 มาก่อน ร่างกายจะอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย เจ็บและคันที่อวัยวะเพศ ปวดบริเวณขาหนีบ มีตุ่มและตกสะเก็ดบริเวณอวัยวะเพศ หากติดเชื้อเริมครั้งแรกในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจเสี่ยงต่อการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น

          2. มีอาการครั้งแรกแต่ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งแรก (Non primary first episode) อาการจะรุนแรงน้อยกว่าการเกิดโรคครั้งแรกเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานของการเกิดโรคแล้ว มักมีแผลเล็กๆ หรือตุ่มน้ำเพียงกลุ่มเดียว อาจหายได้เองภายใน 7-10 วัน ควรระมัดระวังปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคซ้ำ ได้แก่ ความเครียด แสงแดด การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิต้านทานลดลง เป็นต้น

          3. การเกิดโรคซ้ำ (Recurrence) มักมีอาการเล็กน้อย และไม่รุนแรง และทารกมีโอกาสติดเชื้อเริมเพียงร้อยละ 4-5 เท่านั้น เพราะร่างกายของคุณแม่มีภูมิต้านทานอยู่แล้วและสามารถผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ด้วย

เริม ต้องรักษา

          การรักษาเริมในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะใช้การรักษาตามอาการ หากเป็นเริมบริเวณปากให้ดื่มน้ำบ่อยๆ และบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หากปวดหรือมีไข้จะให้กินยาแก้ปวดลดไข้ และให้ยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย

          หากเป็นเริมบริเวณอวัยวะเพศแล้วรู้สึกแสบหรือคันให้ทาด้วย ยาแก้ผดผื่นคัน หรือมีอาการปวดมากปัสสาวะไม่ออกอาจนั่งแช่น้ำอุ่นในกะละมัง ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้งก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

          ในคุณแม่ที่เป็นโรคเริมซ้ำบ่อย ๆ ระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดอาการในระยะคลอด แพทย์อาจรักษาแบบกดอาการ โดยให้ยาต้านไวรัสตั้งแต่อายุครรภ์ 36 สัปดาห์จนคลอด เพื่อไม่ให้เกิดโรคซ้ำ และลดการแพร่กระจายของเชื้อขณะคลอด

          การใช้ยารักษาเริมในระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อทารกได้ จึงไม่ควรใช้ในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ โดยเฉพาะในสามเดือนแรก แต่หากมีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัส อย่าง acyclovir, famciclovir หรือ valacyclovir ซึ่งสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด
เริมกับการคลอด

          หากคุณแม่เคยเป็นโรคเริมที่ช่องคลอดมาก่อน แพทย์จะตรวจคัดกรองในระยะใกล้คลอด และตรวจซ้ำทุกสัปดาห์จนถึงระยะคลอด หรือหากพบว่ามีการติดหรือมีแผลในบริเวณอวัยวะเพศไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคครั้งแรกหรือเป็นการเกิดโรคซ้ำ ก็อาจใช้การผ่าตัดคลอด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อแก่ทารกในระหว่างคลอด

          แต่ถ้าไม่พบแผลที่เกิดจากโรคเริมในระยะคลอดบริเวณอวัยวะเพศ ก็สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ และไม่แนะนำให้ทำการผ่าตัดคลอด





Vol. 6 No. 64 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัสเริม...วายร้ายที่แม่ท้องต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2553 เวลา 15:37:43
TOP