x close

บาดทะยัก...พิทักษ์ด้วยวัคซีน

baby

บาดทะยัก...พิทักษ์ด้วยวัคซีน
(รักลูก)
โดย: อัจฉรา

           บาดทะยัก แค่ได้ยินชื่อก็รู้สึกขยาดแล้วใช่ไหมคะ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กคงต้องหันมาใส่ใจกับโรคนี้เป็นพิเศษ เพราะเจ้าบาดทะยักมักเกิดกับลูกรักวัยแรกเกิดและวัยซน ซึ่งเกราะป้องกันที่ดีที่สุดก็คือวัคซีนค่ะ

บาดทะยัก...เชื้อ ร้ายรอบตัว

           เพราะปัจจุบันเราพบผู้ป่วยที่เป็นโรคบาดทะยักน้อยลง เลยทำให้หลายครอบครัวมองข้ามอันตรายของโรคนี้ ทั้งที่เชื้อบาดทะยักยังคงปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว เช่น พื้นดิน เศษไม้ ฯลฯ โดยมีอายุอยู่ได้นานเป็นสิบ ๆ ปี ในรูปแบบของสปอร์ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อความร้อนและยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ เป็นอย่างดี

           เชื้อบาดทะยัก เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าคลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium tetani) เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล เชื้อตัวนี้ไม่ชอบออกซิเจน จึงเจริญเติบโตได้ดีในบาดแผลที่มีลักษณะลึก หรือเป็นรูเล็กที่อากาศเข้าได้ไม่ดี เช่น บาดแผลตะปูตำ หรือบาดแผลที่มีเศษดิน เศษไม้ติดค้างอยู่ เป็นต้น

           เมื่อร่างกายได้รับเชื้อท็อกซิน หรือพิษของแบคทีเรีย ก็จะเข้าไปทำลายการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายเกร็งผิดปกติ และมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

บาดทะยักกับลูกรักตัวน้อย

           คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยทารกแรกแรกเกิด หรือวัยซน รู้ไหมคะว่าลูกรักของเราทั้ง 2 วัย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบาดทะยักยิ่งกว่าวัยไหน ๆ เพราะ

           ทารกแรกเกิด สงสัยใช่ไหมคะว่าทารกตัวน้อย ๆ จะนี้มีโอกาสติดเชื้อได้อย่างไร... สายสะดือค่ะ เพราะเชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายลูกได้โดยตรง โดยเฉพาะการคลอดที่อุปกรณ์ตัดสายสะดือไม่สะอาด เนื่องจากลูกน้อยแรกเกิดยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายก็อาจเป็นบาดทะยักได้

           โดยจะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อเข้าไปแล้ว 1 สัปดาห์ แรกเริ่มลูกจะไม่ค่อยดูดนม เนื่องจากกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรเกร็ง จากนั้นอาการเกร็งจะลุกลามไปทั้งตัว บางคนเกร็งจนหลังแอ่น ลักษณะจะคล้ายกับชักกระตุก และยิ่งมีสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงดังรบกวน หรือมีการจับต้องตัวมากจะทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังมากๆ คือเรื่องของการหายใจ เพราะลูกอาจสำลักได้ในระหว่างที่เกร็ง นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนของปอดอักเสบร่วมด้วยค่ะ

           ในช่วงสองสัปดาห์แรกหลังคลอดที่สายสะดือยังไม่หลุด คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นดูแลสายสะดือลูกน้อย ด้วยการทำความสะอาดโดยใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดทุกครั้งหลังอาบน้ำ ที่สำคัญห้ามโรยแป้งหรือยาผงที่สายสะดือเป็นอันขาด เพราะเชื้อบาดทะยักอาจปะปนเข้าสู่ร่างกายลูกได้โดยไม่รู้ตัว

           ลูกวัยซน เป็นวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็น จับนู่นจับนี่ หรือวิ่งเล่นจนหกล้ม ตะปูตำ จนเกิดแผลลึกที่เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ แล้วปล่อยพิษทำร้ายได้ ซึ่งอาการหลังจากพิษทำงานก็มีลักษณะเหมือนกับลูกแรกเกิด คือ มีอาการเกร็งบริเวณขากรรไกร อ้าปากไม่ได้ จากนั้นเกร็งตามร่างกาย แขน ขา และถ้าเป็นรุนแรงก็อาจเกิดการกระตุก หายใจลำบากจนอาจเสียชีวิตได้

           สำหรับลูกวัยนี้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือเรื่องของบาดแผลค่ะ หากพบว่าลูกเล่นซนจนเกิดแผลลึก รีบทำความสะอาดแผลโดยเฉพาะหากมีเศษดิน เศษไม้ติดค้างอยู่ควรล้างออกให้หมดและล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ 70%

วัคซีน...ภูมิคุ้มกันบาดทะยัก

           การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดช่องทางที่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ยังไม่เพียงพอค่ะ ดีที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกน้อยไปรับภูมิคุ้มกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน บาดทะยัก ซึ่งหลักในการรับวัคซีนบาดทะยัก ก็เหมือนกับวัคซีนคอตีบและไอกรน เนื่องจากฉีดรวมในเข็มเดียวกัน คือฉีดเมื่ออายุ 2 4 และ 6 เดือน ในช่วง 1-2 วันแรกหลังฉีดวัคซีนเด็กบางคนอาจมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ผ้าสะอาดประคบอุ่นให้ลูกค่ะ

           หลังจากได้รับวัคซีนแล้ว 3 เข็มในช่วงทารก คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกครั้งตอนอายุ 1 ปีครึ่ง และช่วง 4-6 ปี เบื้องต้นลูกจะได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด 5 เข็ม จากนั้นเมื่อลูกเข้าสู่วัยประถมและวัยรุ่น ต้องไม่ลืมที่จะพาลูกไปฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุก ๆ 10 ปีด้วยค่ะ

           นอกจากต้องป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกน้อยมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคบาดทะยัก ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 327 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บาดทะยัก...พิทักษ์ด้วยวัคซีน อัปเดตล่าสุด 12 พฤษภาคม 2553 เวลา 15:43:09
TOP