x close

ใบหน้าพัง เพราะคลินิกความงาม

ศัลยกรรม




ใบหน้าพัง...เพราะคลินิกความงาม (Lisa)

            ปัจจุบันมีผู้คนหันไปพึ่งบริการเสริมความงามของคลินิกต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มักมีปัญหาตามมาภายหลัง แล้วกฎหมายจะมีวิธีจัดการอย่างไร อ.ประมาณมีข้อควรรู้มาบอก

            ช่วงกลาง ๆ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวของสาวสวยเซ็กซี่ระดับฮอลลีวูดนามว่า เจสซิก้า ซิมป์สัน เธอเดินทางมาเมืองไทยเพื่อถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับความสวยความงามครับ เธอเลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกเพื่อค้นหาความหมายของความงาม คำตอบจากประเทศไทยมีทั้งคำตอบทางบวกและลบครับ โดยเฉพาะมุมมองทางลบที่มีต่อนิยามความสวยของคนไทยนั้น เธอเห็นว่าคนไทยมีนิยามความสวยคือ "ความขาว" 

            ทั้ง ๆ ที่ผิวสีแทนของคนไทยถือเป็นสุดยอดความงาม พอ ๆ กับที่เธอตั้งคำถามถึงการที่สาวไทยหลายคนเชื่อว่าการรับประทานแมลงทอดซึ่งมีกรดอะมิโนจะช่วยเร่งการเผาผลาญในร่างกายอันจะส่งผลต่อการลดน้ำหนัก ซึ่งการกินแมลงทอดนั้นเป็นสิ่งที่น่าสะอิดสะเอียนของเธอครับ

            แต่เรื่องไหนก็คงไม่สะเทือนคนไทย เท่าการที่เธอวิจารณ์ความงามของสาวกะเหรี่ยงคอยาวในประเทศไทย ที่สวมห่วงคอว่าเป็นการทรมานตน และไม่มีความสวยงามใด ๆ เลย ร้อนถึงนักวิชาการด้านวัฒนธรรมต้องออกมาชี้แจง เรื่องนี้ผมไม่ขอวิจารณ์ครับเพราะผมเป็นทนายความ แต่ที่ผมเป็นห่วงก็คือการที่เธอพูดถึงสาว ๆ หลายคนที่ยอมทดลองใช้เครื่องสำอางหรือเข้ารับบริการในคลินิกจนใบหน้าพัง เพราะผลที่ได้รับหลังการเข้าไปใช้บริการส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายมีทางออกให้คุณสาว ๆ ครับ

             ใบหน้าพัง...เพราะคลินิก

            คุณผู้หญิงหรือแม้แต่ผู้ชายบางคนยอมเจ็บปวดเพื่อแลกกับความสวยความงาม เพราะเห็นคนอื่นๆ เข้ารับการผ่าตัดหรือศัลยกรรมแล้วดูดีขึ้น สวยขึ้น หล่อขึ้น ไม่ว่าจะทำจมูกโด่ง ทำตา 2 ชั้น เสริมคางเสริมโหนกแก้ม ทำลักยิ้ม ลบรอยตีนกา ฯลฯ ดังนั้น เธอหรือเขาจึงยินยอมพึ่งมีดหมอด้วยวิธีการศัลยกรรม แต่ปรากฏว่าพอเข้ารับการศัลยกรรมจากหมอแล้วใบหน้าพัง โดยเฉพาะคนที่ไปทำศัลยกรรมกับหมอเถื่อน (หมอที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์) เพราะบางรายถึงขนาดหน้าเน่าเละ จมูกเน่า หน้าโย้ หรือถึงขนาดหลับตาไม่ได้ กลายเป็นเสียโฉมหนักกว่าเดิมอีกครับ

            แบบนี้หมอผู้ทำการผ่าตัดหรือทำศัลยกรรมความผิดที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอ หรือมิได้ทำให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือทำไปโดยความไม่รู้ ซึ่งกรณีหลังมักจะเกิดขึ้นจากบรรดาหมอเถื่อน อย่างนี้ก็ต้องถือว่าผู้ที่ทำศัลยกรรมให้แก่คนใช้จนกระทั่งเสียโฉมหรือบางรายอาจจะทุพพลภาพเป็นการกระทำโดยประมาท ปราศจากความระมัดระวัง ในทางอาญาก็มีโทษจำคุก 3 ปีเลยทีเดียว ส่วนในทางแพ่งระบุว่าผู้ที่กระทำโดยประมาทจนกระทั่งทำให้ผู้อื่นเสียโฉมก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งปวงที่เกิดขึ้น ซึ่งทางกฎหมายถือเป็นคดีละเมิดที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนภายในหนึ่งปี อย่าให้เกินกว่านี้เพราะคดีจะขาดอายุความจนไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

             ใบหน้าพังเพราะเครื่องสำอาง...จากคลินิก

            บางคลินิกไม่ได้ผ่าตัด แต่อาจจะจ่ายยาให้ผู้เข้ามารับบริการ เช่นกรณีของ คุณกฤติยา หิรัญญาศาสตร์ เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2549 โดยแจ้งว่าคลินิกผิวหนังบนห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่ง รักษาใบหน้าของเธอซึ่งมีอาการแพ้แดดและสั่งยาไปรับประทานจนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง มีผื่นทั่วใบหน้า ทำให้เกิดความอับอาย จึงขอให้คลินิกรับผิดชอบในการรักษาโดยเรียกค่าเสียหายแต่ตกลงกันไม่ได้

            เรื่องนี้แม้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าคลินิก ดังกล่าวเปิดดำเนินการโดยมีใบอนุญาตทุกอย่าง แต่เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ให้ปิดคลินิกชั่วคราวเป็นเวลา 15 วัน และเก็บครีมทาหน้าและผลิตภัณฑ์ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบสารเคมีต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะการทำมัมมี่ใบหน้าที่ใช้กับคนไข้รายนี้อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ประกอบกับยาหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นหลักฐานใช้รักษาไม่ได้ระบุชื่อยาเพียงแต่ระบุวิธีใช้ จึงไม่ทราบว่าเป็นยาที่มีสารอันตรายเป็นส่วนประกอบอยู่หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้หากพบว่าใบหน้าของเธอพังเพราะเครื่องสำอางหรือวิธีการรักษาจากคลินิก ทางคลินิกก็ต้องรับผิดชอบความเสียหายครับ

             คลินิกล้ำหน้า...ก็ต้องระวัง

            กรณีของวุฒิศักดิ์ คลินิกเมื่อปี 2551 ที่คลินิกแห่งนี้ ใช้กรรมวิธีลบรอยเหี่ยวย่นที่เรียกว่า "สเต็มเซลล์ โรลเลอร์" และ "เดอร์มา โรลเลอร์" ซึ่งจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ชนิดหนึ่งที่ทางอย. ยังไม่ได้รับรองความปลอดภัยและยังไม่เคยอนุญาตให้นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย เนื่องจากมีสรรพคุณไม่ชัดเจนและเครื่องมือดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขออนุญาตนำเข้าหรือขายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขปี 2549 ผู้ผ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 250,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการโฆษณาซึ่งไม่ได้รับอนุญาตก็มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากโฆษณามีข้อความอันเป็นเท็จก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 20,000 บาทครับ

            คุณผู้อ่าน Lisa ต้องระมัดระวังให้เยอะ ๆ นะ ก่อนเข้ารับบริการเรื่องความงาม แต่ถ้ามีผลที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเขาก็พร้อมที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองดูแลคุณและผู้บริโภคคนอื่น ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมครับ



เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือLisa Vol.11 No.15 21 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ใบหน้าพัง เพราะคลินิกความงาม อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2553 เวลา 14:27:42
TOP