x close

เปลี่ยนหนูให้เป็นคนใหม่ ด้วยบันได 6 ขั้น

baby - mom

เปลี่ยนหนูให้เป็นคนใหม่ ด้วยบันได 6 ขั้น
(M&C แม่และเด็ก)

           คงมีสักครั้งหนึ่งใช่ไหมคะคุณแม่ ที่อยากจะเตะโด่งจอมซนที่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยก่อนเข้าอนุบาลด้วยแล้ว เด็กอะไรก็ไม่รู้ ซนก็ซน ดื้อก็ที่หนึ่ง ตักเตือนอะไรก็ไม่เชื่อฟัง โอ๊ะโอย..ยิ่งคิดยิ่งปวดเฮด ถ้าไม่ติดภาพลักษณ์นางงาม (รักเด็ก) ครั้งสมัยยังเอ๊าะๆ ล่ะก็ อืม..ลูกก็ลูกเถอะ ขอสักป๊าบเถอะ

           แต่อย่าเพิ่งค่ะ อย่าเพิ่ง วันนี้เรามีเครื่องแอ๊บเดอร์มิไนเซอร์ เอ๊ย! ไม่ใช่ มีกลยุทธ์แบบเด็ดดวง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจอมซนจากแต่ก่อนที่มีนิสัยดื้อรั้น พูดจาไม่ค่อยรื่นหู มากไปนิดนึง ให้กลับเป็นหนูน้อยที่มีนิสัยน่ารักน่าชัง พูดจาไพเราะเสนาะหู ใครเห็นใคร ๆ ก็รักแน่นอนค่ะ คอนเฟิร์ม

ก้าวที่ 1 หนูเป็นเด็กดี เชื่อฟังพ่อแม่  ด้วยคำว่า "ไม่"

           คำว่า "ไม่" บางครั้งอาจไม่กำหราบความดื้อของลูกน้อยได้ โดยคุณแม่ต้องพยายามแสดงให้เขาเห็นคำว่า "ไม่" หมายถึงอะไร และพิสูจน์ซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ ครั้ง เช่น ถ้าลูกน้อยแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นอันตราย ถ้าพูดคำว่า "ไม่" คำแรกและยังไม่เลิก ดื้อรั้นที่จะทำต่อ คุณแม่ลองใช้เสียงที่ดังและเข้มขึ้น

           ถ้ายังดื้อดึงต่อไป ทีนี้ล่ะ ค่อยใช้ไม้ตายก้นหีบ คุณแม่ควรพาเขาออกจากบริเวณดังกล่าว หรือยึดของเล่นต้องห้ามนั้นเสีย  ซึ่งคำว่า "ไม่" ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป เพราะอาจขาดความศักดิ์สิทธิ์ บางกรณีที่พฤติกรรมไม่รุนแรง เช่น ลูกน้อยกระโดดเล่นบนโซฟา คุณแม่อาจใช้คำขอเชิงบวก "นั่งบนโซฟาสิลูก" แทนคำขอเชิงลบ "อย่ากระโดดบนโซฟานะ"

ก้าวที่ 2 คุณพ่อครับ / คุณแม่คะ..ขอบคุณค่ะ

           กลยุทธ์ง่าย ๆ เริ่มแรกคุณแม่อาจถือของที่คุณลูก โปรดปรานไว้ในมือ และถ้าเขาอยากได้ ก็ควรสอนเขาให้พูดคำว่า "คะ/ค่ะ/ครับ" โดยคุณแม่อาจลองพูดเป็นตัวอย่างหลาย ๆ ครั้งเพื่อที่เขาจะได้เลียนแบบ เช่น คุณแม่คะ หนูอยากได้ เมื่อเขาพูดแล้ว คุณแม่ลองยื่นของออกไปก่อน แต่อย่าเพิ่งให้เขา ค้างไว้ที่มือก่อนค่ะคุณแม่

           จนกว่าเขาจะพูดคำว่า "ขอบคุณ" โดยคุณแม่อาจกระตุ้นให้ลูกน้อยตอบสนองด้วยประโยคที่ว่า "ต้องพูดว่ายังไงก่อน" หรือ "จำไว้นะ ลูกต้องพูดว่า ขอบคุณครับ/ค่ะ" กรณีที่ลูกน้อยไม่ยอมพูดอย่างที่สอน ให้คุณแม่ยึดของกลับคืนมาเลยค่ะ แล้วเมินเฉยต่ออาการงอแงของลูกอย่างเด็ดขาด

ก้าวที่ 3 เจ้าหนูจอมรอ

           การที่ลูกน้อยรู้จักรอคอยจะช่วยลดความเอาแต่ใจลงได้ค่ะ การฝึกนี้จะช่วยให้มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี มีความยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งล่อใจหรือสิ่งที่มายั่วยุได้ ตัดสินใจได้ว่าสิ่งใดควร วิธีทดสอบคุณแม่อาจพาลูกน้อยมายังโต๊ะนั่งเล่น และวางของเล่นชิ้นเล็กๆ หรือของว่างที่เด็กชอบระดับปานกลางไว้ตรงหน้าเขา

           จากนั้นให้ลองจับเวลา 2 – 3 วินาที และกุมมือลูกน้อยไว้บนตัก เมื่อครบกำหนดเวลา ก็ให้เขาหยิบของเล่นหรือกินของว่างนั้นได้  พร้อมกับพูดชื่นชม หลังจากนั้นคุณแม่อาจหาสิ่งของที่เขารู้สึกชอบมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเวลาที่จะทดสอบขึ้น ถ้าเด็กงอแงอยากได้สิ่งของนั้นก่อนเวลา ให้คุณแม่เก็บสิ่งและทดลองใหม่ในโอกาสต่อไป

ก้าวที่ 4 เมื่อไหร่จะถึงตาหนูเล่นบ้าง

           การฝึกทักษะอย่างหนึ่ง ก่อนปล่อยลูกน้อยให้ออกไปเผชิญโลกด้วยตนเองที่โรงเรียนอนุบาล เป็นการฝึกให้ลูกน้อยเรียนรู้ที่จะผลัดกันใช้สิ่งของกับเพื่อน ๆ โดยเริ่มต้นกิจกรรมง่าย ๆ ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วม แม้ยังไม่ถึงคิวเล่นก็ตาม เช่น เล่นโยนบอล คุณแม่อาจใช้คำพูดกระตุ้นว่า "ถึงตาลูกแล้ว" ทุกครั้งที่โยนหรือรับบอล

           จากนั้นให้คุณแม่เปลี่ยนมาเล่นเกม หรือกิจกรรมที่ต้องผลัดกันเล่นนานขึ้นค่ะ เช่น การต่อบล็อก โดยพยายามเรียกร้องให้เขาต้องรอเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะถึงคิวเขา คุณแม่ควรใช้คำพูดกระตุ้น “ถึงตาลูกแล้ว” มาใช้เช่นเดียวกัน ซึ่งเด็กโดยทั่วไปแล้ว จากการศึกษาพบว่า จะเริ่มเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่งขึ้นไป

ก้าวที่ 5 ชิ้นนี้...หนูแบ่งให้คุณแม่ค่ะ

           นี่ถือว่าเป็นทักษะชั้นเทพค่ะ เพราะเด็กส่วนใหญ่เกิดมาบนโลกเบี้ยวๆ น่ารักนี้แล้ว ล้วนถูกบรรจุโปรแกรมให้คำนึงถึงความต้องการของตัวเองเป็นหลัก แต่ถ้าคุณแม่เริ่มสอนเขาทีละขั้นๆ ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และพูดชมเขาทุกครั้งที่รู้จักแบ่งปัน ทักษะนี้จะอัพเกรดขึ้นได้เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 ขวบ

           เริ่มแรกควรพยายามให้ลูกน้อยตระหนักถึงการแบ่งปันด้วยคำพูด อาจพูดชมเด็กทุกครั้งเมื่อเขารู้จักแบ่งปัน ทั้งจากการยื่นของเล่น หรือของกินให้คุณแม่เองโดยสมัครใจหลังจากเล่นเบื่อ แล้ว หรือแสดงเป็นตัวอย่างและพูดออกมา เช่น แกล้งแบ่งของเล่นหรือของกินที่เขาชอบ โดยพยายามย้ำคำพูดว่า เดี๋ยวแม่แบ่งให้หนูกินนะ บ่อย ๆ

ก้าวที่ 6 หนูเก่งไหมคะ

           การสอนให้ลูกน้อยยินยอมทำตามคำสั่งง่ายๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคตค่ะ ต่อการฝึกทักษะชั้นสูงอื่นๆ ต่อไป เช่น การฝึกการขับถ่าย กินข้าว แต่งตัว และการทำตามกฎระเบียบในสถานที่สาธารณะต่าง ๆ

           * เริ่มจากคำสั่งง่าย ๆ ที่คุณแม่คิดว่าลูกน้อยจะเข้าใจและสามารถทำตามได้ เช่น "มานี่สิ" ,"ยืนขึ้น", "หยิบมันขึ้น", "ส่งมันมาให้แม่" เป็นต้น

           * สบตาลูก และเรียกชื่อเขา ออกคำสั่งเพียงครั้งเดียวด้วยน้ำเสียงที่ดังชัดเจน เช่น "หนูจ๋า มานี่หน่อยลูก" แสดงท่าทางประกอบ กวักมือเรียก ถ้าคุณแม่คิดว่า เขาจะไม่เข้าใจคำพูด

           * หากลูกน้อยทำตามคำสั่ง ให้คุณแม่เอ่ยชมเขา เช่น “เก่งมากลูก! แม่เรียกหนูก็มา” แล้วแสดงปฏิกิริยาเชิงบวก เช่น ยิ้ม กอด หรือลูบศีรษะ เป็นต้น

           * ถ้าลูกไม่ยอมทำตามคำสั่งภายใน 5 วินาที ให้คุณแม่ตรงไปช่วยเหลือเขา จนเขาเริ่มเรียนรู้ทำตามคำสั่งด้วยตนเอง และห้ามเด็ดขาด อย่าสั่งให้เด็กทำอย่างอื่นเพิ่มเติม จนกว่าเขาจะทำตามคำสั่งแรกได้แล้ว

           * ถ้ากรณีที่ลูกน้อยแสดงท่าทีแข็งกร้าว ให้คุณแม่เมินเฉย หรือใช้กลยุทธ์พักครึ่ง โดยหามุมสงบของบ้านให้เขาสงบสติอารมณ์จนเขานิ่งเงียบลงแล้ว ให้คุณแม่ลองพูดคำสั่งซ้ำอีกครั้งค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปลี่ยนหนูให้เป็นคนใหม่ ด้วยบันได 6 ขั้น อัปเดตล่าสุด 20 พฤษภาคม 2553 เวลา 18:35:54
TOP