x close

มือเท้าปาก . . .โรคระบาดต้องระวัง

baby

มือเท้าปาก . . .โรคระบาดต้องระวัง
(modernmom)
โดย: ปิยมาศ

         สธ.เตือนประชาชนระวัง “โรคมือเท้าปาก” ชี้ปีนี้ ส่อแววอาจระบาด รอบ 4 เดือนแรกปีนี้ ยอดป่วยแล้วกว่า 6,000 ราย สูงเกือบเท่าผู้ป่วยทั้งปี 52 ชี้เด็กต่ำกว่า 5 ขวบเสี่ยงสูงสุด

         อ่านพาดหัวข่าวนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กถึงวัยอนุบาลคงจะตกอกตกใจเป็นการ ใหญ่ ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอมด้วย ความกังวลใจว่าลูกอาจจะได้รับเชื้อมาจากเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนยิ่งเพิ่มทวีคูณ กลุ้มก็กลุ้ม แต่ครั้นจะให้หยุดเรียนก็กลัวลูกจะตามเพื่อนไม่ทัน เห็นทีได้เวลาที่คุณแม่คนเก่ง จะต้องทำความรู้จักและเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้น แล้วค่ะ

รู้จัก โรคมือเท้าปาก

         โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth Disease) เป็นโรคไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่ไม่รุนแรงและพบได้ตลอดปี อาจมีการระบาดบ้างเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะช่วงฝนตกอากาศเย็นและชื้นแบบนี้แหละค่ะ แถมยังเป็นช่วงเปิดเทอมของเจ้าตัวเล็กด้วย งานนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ เป็นห่วงกันมาก เพราะโรคนี้มักจะเกิดกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ยิ่งเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบด้วยแล้ว มีแนวโน้มที่จะได้รับเชื้อนี้บ่อยกว่าวัยอื่น ๆ เพราะเด็กวัยนี้ ยังไม่รู้จักการรักษาความสะอาดส่วนตัวที่ดีพอนั่นเองค่ะ

ไวรัส...ต้นตอมือเท้าปาก

         สาเหตุของเจ้าโรคนี้มาจากเชื้อที่ชื่อว่าไวรัส ค็อกซากีและไวรัสเอนเทอโร 71 ซึ่งไวรัสเอนเทอโร 71 นี่เองที่นักวิชาการต่างให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะไวรัสตัวนี้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้ค่อนข้างรุนแรง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนั้นยังให้ความสนใจเฝ้าระวังโรคนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเพื่อนบ้านอย่างไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างต้องพบกับการระบาด ที่มีรายงานการเสียชีวิตของเด็กที่ได้รับเชื้อไวรัส เอนเทอโร 71 มาแล้ว ส่วนในเมืองไทยอาการของเด็กส่วนใหญ่ไม่รุนแรง แต่คงต้องติดตามเฝ้าระมัดโดยไม่ประมาทค่ะ

         การแพร่กระจายของโรคนี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการสัมผัสกันเป็นหลัก โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย รวมไปถึงการไอจามรดกัน ซึ่งจะติดต่อกันง่ายมากขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ดังนั้นเด็กที่คลุกคลี และเล่นกับเด็กที่ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อได้สูงทีเดียวค่ะ

สัญญาณ บ่งชี้

         ระยะแรกจะเริ่มจากเป็นไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาจมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ (คล้ายเป็นหวัด) อาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ต่อมาเป็นผื่นและตุ่มน้ำใสที่บริเวณปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า บางครั้งอาจจะมีผื่นขึ้นที่บริเวณก้นด้วย

         ลักษณะ สำคัญเฉพาะโรคนี้คือ ตุ่มน้ำใสที่ขึ้นในปากจะมีขนาดเล็กและแตกเป็นแผลตื้น ๆ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นและกระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กกินอาหารได้ลดลง และน้ำลายไหลมากผิดปกติ ส่วนตุ่มใสที่มือและเท้าจะไม่แตกเหมือนตุ่มในปาก

         แม้ว่าอาการของเด็กที่เป็นโรคนี้จะแยกจากโรคทั่วไปได้ยาก แต่ก็พอจะมีสิ่งที่สังเกตได้อยู่บ้างค่ะ ถ้าลูกมีไข้โดยไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากอะไร ควรหยุดเรียนเพื่อรอดูอาการอย่าง น้อย 5-7 วัน หากไข้ลดลงแล้วไม่มีตุ่มใสขึ้นก็ไปโรงเรียนได้ตามปกติ กรณีนี้สบายใจได้แล้วค่ะว่าไม่เป็นโรคมือเท้าปาก แต่หากเฝ้าดูอาการแล้วพบว่ามีตุ่มขึ้นก็อาจจะเป็นโรคนี้ค่ะ และเมื่อพบว่าลูกป่วยเป็นโรคนี้ควรให้ลูกหยุดเรียน เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค ดังนั้นหลักในการสังเกตง่าย ๆ จึงอยู่ที่ตุ่มใสที่ขึ้นร่วมกับอาการมีไข้ค่ะ

ดูแลรักษาเยียวยาลูกน้อย

         เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยาเฉพาะในการรักษา ก็จะเป็นการรักษาตามแต่อาการที่เป็นเท่านั้นเอง เช่น ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ให้กินอาหารอ่อน ๆ และอาหารที่มีความเย็น เช่น น้ำผลไม้ ไอศกรีม เพื่อลดอาการเจ็บที่ปาก ลิ้น และทำให้เด็กกินได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง และอาหารร้อน ๆ

         นอกจากนั้นเด็กอาจมีอาการท้องร่วง อ่อนเพลีย เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ควรให้เด็กดื่มสารละลายเกลือแร่ร่วมด้วย แต่หากลูกเกิดตัวเขียว หายใจหอบเหนื่อย มือซีด อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลด่วนเลยค่ะ

         โดยปกติโรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 5-7 วันค่ะ เมื่อไข้ลด ตุ่มน้ำยุบ กินอาหารได้ตามปกติ ลูกก็สามารถไปโรงเรียนได้แล้วค่ะ

ป้องกันและรับมือ

         ฝึกให้ลูกรู้จักดูแลรักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น สอนให้ลูกล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนกินข้าว ส่วนเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแทนลูกนะคะ

         แยกเด็กที่ได้รับเชื้อไม่ให้เข้ากลุ่มกันคนอื่น ๆ ทว่าเด็กคนอื่น ๆ อาจจะรับเชื้อไปแล้วตั้งแต่เด็กที่ป่วยยังไม่แสดงอาการ เพราะอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นถ้าพบว่าเด็กในห้องมีผื่นผิวหนัง หรือแผลในปากก็เท่ากับว่ามีการแพร่ ไปสู่เด็กคนอื่น ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่จะต้องสังเกต รวมถึงให้เด็กหยุดเรียน รวมถึงอาจต้องมีการปิดโรงเรียนค่ะ

         สิ่งสำคัญคือ เมื่อเกิดโรคนี้แล้ว คุณครูและบุคลากรของโรงเรียนต้องช่วยกันเฝ้าระวัง นอกจากการปิดโรงเรียนแล้วเพื่อไม่เกิดการแพร่กระจายของโรคแล้ว ควรให้คำแนะนำผู้ปกครองว่าจะให้ลูกมาโรงเรียนได้หรือไม่ เป็นการทำงานที่ต้องประสานกันระหว่างครู พ่อแม่ และผู้เชี่ยวชาญค่ะ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มือเท้าปาก . . .โรคระบาดต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 25 พฤษภาคม 2553 เวลา 16:03:21
TOP