x close

ยีนฉลาด?

baby

ยีนฉลาด?
(รักลุก)
โดย: เมธาวี

           คุณคิดว่าเด็กฉลาดมาจากอะไร ?เกิดจาก "ยีนการเรียนรู้" ทางกรรมพันธุ์หรือเกิดจากการเลี้ยงดูที่ดี ส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ดีตามมา..มาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ยีนการเรียนรู้ ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จริงหรือ?

           เมื่อประมาณปี ค.ศ.1800 เกรเกอร์ โยฮัน เมนเดล นักบวชชาวออสเตรเลีย ได้วิจัยถั่ว และพบว่าถั่วสามารถถ่ายทอดลักษณะบางอย่างจากรุ่นพ่อแม่ มาสู่รุ่นลูกได้ และนำไปสู่การศึกษาวิชาพันธุศาสตร์ ด้านชีววิทยา ระดับโมเลกุล ทำให้ค้นพบโครงสร้างของ DNA ซึ่งเป็นรหัสทางพันธุศาสตร์ (Genetic code) และพบข้อมูลที่อยู่ในสายพันธ์รหัส DNA ว่าสามารถควบคุมการสังเคราะห์โปรตีน โดย 1 ยีน สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ 1 ตัว คือสามารถที่จะลำลองตัวเองไปเป็น DNA ใหม่ได้ หรือจาก DNA ถ่ายทอดไปเป็นโปรตีน หรือโครงสร้างของโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โครงสร้างหลักของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ รวมทั้งเซลล์สมองของมนุษย์ด้วย

           เพื่อให้ได้ผลที่ชัดเจนขึ้น จึงมีการวิจัยเปรียบเทียบลักษณะที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ โดยศึกษาจากคู่ฝาแฝด พี่น้อง และลูกพี่ลูกน้อง คือ ฝาแฝดที่มีไข่ใบเดียวกัน เพศเดียวกัน ถูกเลี้ยงมาด้วยกัน ถ้าคนหนึ่งมียีนการเรียนรู้ อีกคนหนึ่งจะมีด้วยถึงร้อยละ 85 ส่วนฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน ถึงแม้จะแยกกันเลี้ยง ถ้าคนหนึ่งมียีนการเรียนรู้ อีกคนหนึ่งก็ยังคงมีด้วยถึงร้อยละ 74

           ส่วนฝาแฝดคนละใบ คนละเพศ รวมไปถึงพี่น้องที่คลานตามกันมา และลูกพี่ลูกน้อง ก็มีกายถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมในอัตราร้อยละที่ลดหลั่นกันไปด้วย ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งที่บอกได้ว่าลักษณะยีนบางอย่าง สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

"ยีนแห่งการเรียนรู้" สร้างเด็กฉลาด

           ยีนการเรียนรู้ หรือยีนความฉลาด คือศักยภาพความเฉลียวฉลาดที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เป็นเด็กฉลาด และมีความใฝ่รู้เป็นพื้นฐานของชีวิต ทำให้มีกระตือรือร้นอยากที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา อยากรู้อยากเห็น และช่างสังเกตเรื่องราวรอบ ๆ ตัวเสมอ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่พ่อแม่เป็นคนเก่ง มีสายพันธุ์ที่ดี เด็กที่เกิดมาก็จะมีศักยภาพที่ดีติดตัวมาด้วย

โดย ความฉลาด หรือทักษะพิเศษแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ

           1. ด้านคณิตศาสตร์การคำนวณ คือมีความเข้าใจ และสามารถคิดคำนวณเลขระดับพื้นฐาน ไปจนถึงแคลคูลัส และเลขระดับขั้นสูงต่าง ๆ

           2. ด้านภาษาการสื่อสารที่ดี พูดภาษาได้คล่องแคล่ว สามารถสื่อสารกับผู้คนได้อย่างว่องไว รู้ความหมาย และรู้คำศัพท์ได้ดี

           3. ด้านมิติสัมพันธ์ คือมีความเข้าใจเรื่องมิติความสัมพันธ์ของสถานที่ กาลเวลา รู้ว่าอะไรมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร ในมิติสัมพันธ์ของกาลเวลา สถานที่ โดยผ่านการทดสอบแบบการต่อรูปภาพ เข้าใจรูปภาพหรือเรื่องราวในรูปแบบ 2 มิติ 3 มิติ 4D รวมไปถึงเข้าใจโจทย์ปัญหาทางวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วย

           นอกจากนี้ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ยังบอกอีกว่าความเฉลียวฉลาดในตัวเด็กๆ นอกจากทักษะข้างต้นแล้ว ยังสังเกตได้จากความสามารถทางด้านดนตรี ความสามารถทางศิลปะ การมีวาทศิลป์ในการจูงใจคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถวัดความเฉลียวฉลาด และนำไปสู่การพิสูจน์ว่า ยีนการเรียนรู้สามารถถ่ายทอดทางสายเลือดได้มากน้อย แค่ไหน เช่น

           ครอบครัวหนึ่ง คุณพ่อเป็นนักดนตรีที่เก่งมาก หรือร้องเพลงได้ไพเราะ สังเกตได้ว่าลูกที่เกิดมา ก็จะมีความสนใจในเรื่องดนตรี หรือการร้องเพลงเป็นพิเศษ หรือที่เรียกว่ามีพรสวรรค์ในการเล่นดนตรีได้ดี ร้องเพลงได้เพราะ เป็นต้น

ปัจจัย สิ่งแวดล้อม ก็ช่วยสร้างยีนการการเรียนรู้ได้

           นอกจากยีนการเรียนรู้ หรือยีนความฉลาดจะถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Nature) มีมาโดยกำเนิดแล้ว เหล่าบรรดานักวิชาการ นักวิจัยก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าความฉลาด และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ นั้น มีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Nurture) เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การอบรมเลี้ยงดู การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง รับประทานอาหารที่ดี รวมไปถึงการมีโอกาสที่ได้รับประสบการณ์ การกระตุ้นพัฒนาการที่ดีในวัยเด็ก หรือได้รับการศึกษาที่ดี ก็สามารถกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดกระบวนการ การเรียนรู้ที่ดี และนำไปสู่ความเฉลียวฉลาดได้เหมือนกัน

           โดยมีการศึกษาในเด็กที่ไม่มียีนการเรียนรู้ติด ตัวมาแต่กำเนิด แต่ในช่วงวัยเด็ก พ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี มีการกระตุ้นพัฒนาการที่ดี ให้ความดูแลเอาใจใส่ และให้โภชนาการที่ดีนั้น จะทำให้ยีนในตัวเด็กเกิดการเปลี่ยนรหัส และสามารถเติมลักษณะบางอย่างเข้าไป เรียกว่า Epi Genetic คือ ปรากฏการณ์ที่เหนือกว่าพันธุกรรม ซึ่งเป็นกลไกทางเคมีที่ทำให้สารพันธุกรรม หรือ DNA เกิดการปรับเปลี่ยนได้ แสดงว่ายีนสามารถปรับเปลี่ยนให้มีการเรียนรู้ และฉลาดขึ้นได้ แต่จะปรับเปลี่ยนได้มากหรือน้อย หรือเรียกว่าถูกเปิด ถูกปิดตอนไหน ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยค่ะ

ยีนการเรียนรู้ถูกเปิด ถูกปิด ตอนไหน

           มีการวิจัยระบุว่ายีนแห่งการเรียนรู้ที่ติดตัวมา ตั้งแต่เกิดนั้น มีโอกาสที่จะถูกปิดลงได้เหมือนกันค่ะ ซึ่งเกิดขึ้นได้ถ้าช่วงระหว่างตั้งครรภ์ 3 เดือนก่อนคลอด แม่มีภาวะเครียด มีระดับฮอร์โมนความเครียดมาก จะส่งผลให้ยีนที่สร้างอารมณ์แจ่มใส ร่าเริง และยีนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ ของลูกถูกปิดลง และยีนหลายตัวจะถูกเปิดออก เช่น ยีนที่ทำให้เด็กมีความอ่อนไหวด้านอารมณ์ของความเครียดสูง กลายเป็นเด็กที่ไวต่อความเครียดได้ง่ายค่ะ

           แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากนะคะ เพราะถ้าเด็ก ๆ ได้รับการดูแลที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการดี ได้รับความรัก ความอบอุ่น และ ให้โภชนาการที่ดี เช่น น้ำมันปลา มีสาร AHA ซึ่งสามารถไปเปิดยีนบางตัวที่ทำให้เกิดการสร้างเส้นใยประสาท สร้างโครงสร้างในสมองขึ้นได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมที่จะทำให้เกิดยีนการเรียนรู้ หรือยีนความฉลาด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผล ผลมากเหมือนกันค่ะ

วิธีการตรวจหายีนแห่งการเรียนรู้

           ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจเลือดเด็กทารก โดยการเอาเลือดไปแยกเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งในเซลล์เม็ดเลือดขาวจะมีนิวเคียส มีโครโมโซม ก็สามารถเอาโครโมโซมไปแยกเป็นยีนตัวต่าง ๆ โดยการตัดโครโมโซมที่มีอยู่ 23 คู่ แล้วทำการวิเคราะห์ยีนต่างๆ ว่ามีรหัส หรือยีนอะไรบ้าง ซึ่งทำให้สามารถรู้ได้ว่า มีความเสี่ยงในการที่จะเกิดโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุ กรรมไหม เช่น ทาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง โรงมะเร็งเม็ดเลือดขาว อัลไซม์เมอร์ สมาธิสั้น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม

           รวมไปถึงการตรวจหายีนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ หรือความฉลาดด้วย ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่า เด็กมียีนความฉลาดอยู่หรือไม่ เพื่อให้ส่งเสริมลูกไปในทางที่ถูกได้มากขึ้น

           ไม่ว่าลูกของเราจะมียีนการเรียนรู้อยู่ในตัวหรือไม่ ถ้าพ่อแม่ส่งเสริมพัฒนาการให้เหมาะตามวัย กระตุ้นในสิ่งที่ลูกชอบ ก็จะเกิดพัฒนา และนำไปสู่การเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เป็นเด็กฉลาดสมวัยได้เหมือนกันค่ะ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 328 พฤษภาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยีนฉลาด? อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2553 เวลา 16:12:13 5,411 อ่าน
TOP