x close

IVM เทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้มีบุตรยาก

 



IVM เทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้มีบุตรยาก (pregnancy&baby)

โดย PARENTS SCHOOL

text by AMILIE AUGUST

special thanks : โรงพยาบาลสมิติเวช

บทสัมภาษณ์ นายแพทย์บุญแสง  วุฒิพันธ์

          เป็นที่น่าสังเกตของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ที่พบว่า เปอร์เซ็นต์การมีบุตรยากของคู่สมรสมีอัตราที่สูงขึ้น  ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ข้อจำกัดเรื่องเวลาบวกกับความเครียดจากภาระหน้าที่การงาน  ทำให้ผู้หญิงในปัจจุบันมีปัญหาในเรื่องการตั้งครรภ์มีบุตรยาก แม้ทางการแพทย์จะมีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เข้ามาช่วยเหลือ  แต่ก็ยังมีผู้หญิงบางส่วนได้รับผลกระทบจากการรักษาด้วยวิธีการเหล่านั้น

          นายแพทย์บุญแสง  วุฒิพันธ์  หัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี  โรงพยาบาลสมิติเวช  สุขุมวิท ได้นำเสนอข้อมูลทางเลือกใหม่สำหรับผู้หญิงที่มีโอกาสเสี่ยงในการรักษาภาวะมีบุตรยาก  ซึ่งเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยให้การรักษายังคงมีประสิทธิภาพแต่ลดภาวะเสี่ยงจากการรักษาโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาโรค  POC

          "การทำ IVM คือ การเก็บไข่ที่ยังโตไม่เต็มที่จากรังไข่ด้วยวิธีการดูดออกมาเลี้ยงในห้องทดลองจนโตเต็มที่ ก่อนที่จะนำมาผสมกับเชื้ออสุจิจนมีการปฏิสนธิที่สมบูรณ์  แล้วจึงย้ายกลับเข้าโพรงมดลูกจนกระทั่งเกิดการตั้งครรภ์"

          "ปัจจุบันแพทย์จะรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์หรือ ART (Assisted Reproductive Tecthnology)ไม่ว่าจะเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization) การทำอิกซี่ ICSI (Intra-Cytoplasmic Sperm Injection) การทำซิบ ZIFT (Zygote Intra-Fallopian Transfer) ซึ่งการรักษาทั้ง 3 แบบนี้จะต้องมีการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่
  ที่ผ่านมานั้นในการรักษาพบว่ามีผู้หญิงส่วนหนึ่งมีอาการแพ้ฮอร์โมน เพราะมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่ฉีดมากเกินไปจนส่งผลกระทบตามมา  ดังนั้นเราจึงพัฒนาวิธีการรักษาเพื่อช่วยคุณแม่ที่มีบุตรยากให้พ้นจากภาวะนี้เรียกว่า เทคนิค IVM หรือ In-Vitro Maturation วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นโรค POC หรือ PCOD  ซึ่งอาการของ POC หรือ PCOD คือ การมีถุงไข่รอบ ๆ รังไข่เยอะมาก จนทำให้ไข่ไม่สมบูรณ์ อีกกรณีคือคนไข้ที่รักษาด้วยการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน  แล้วตัวอ่อนที่ได้มีคุณภาพไม่ดี  หรือมีการตอบสนองครึ่ง ๆ กลาง ๆ จากการใช้ฮอร์โมน นอกจากนั้นยังใช้ช่วยคนไข้ที่เป็นมะเร็งแต่อยากมีลูก  ก็สามารถเอาไข่ออกมาเก็บรักษาได้  และข่าวดีสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานช้าก็สามารถใช้เทคโนโลยีนี้เก็บรักษาไข่เพื่อความสมบูรณ์ของไข่ตั้งแต่ยังสาวได้"

          การทำ IVM คืออะไร  ขั้นตอนในการทำยุ่งยากหรือไม่  เสี่ยงต่อการเจ็บหรือไม่

          การทำ IVM คือ การเก็บไข่ที่ยังโตไม่เต็มที่จากรังไข่ด้วยวิธีการดูดออกมาเลี้ยงในห้องทดลองจนโตเต็มที่  ก่อนที่จะนำมาผสมกับเชื้ออสุจิจนมีการปฏิสนธิทีสมบูรณ์แล้วจึงย้ายกลับเข้าโพรงมดลูก  จนกระทั่งเกิดการตั้งครรภ์  การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVM เป็นการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ที่มีความเป็นธรรมชาติ และปลอดภัยมากที่สุด  ทำให้คนไข้หมดปัญหาแพ้ฮอร์โมนเพราะไม่ต้องใช้ฮอร์โมนช่วยในการกระตุ้นการตกไข่  จะใช้วิธีเก็บไข่ที่โตตามธรรมชาติมาเลี้ยงต่อในห้องทดลองจนโตเต็มที่ ก่อนนำไปผสมกับเชื้ออสุจิจนมีการปฏิสนธิที่สมบูรณ์  จากนั้นจึงค่อยย้ายตัวอ่อนกลับเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูก  การทำ IVM จึงใช้เวลาน้อยกว่าการทำเด็กหลอดแก้ว ช่วยให้คุณสุภาพสตรีไม่ต้องเจ็บตัวจากการฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่  นอกจากนั้นยังพบว่าการทำ IVM มีอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดที่ 25-30 % เมื่อเทียบกับการทำ IVF ซึ่งมีอัตราการตั้งครรภ์สูงสุดที่ 40% 

          ข้อดีของการทำ IVM คือ เป็นวิธีที่ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด  อีกทั้งยังมีความปลอดภัยสูง  ดังนั้นหากทำ IVM ในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถทำ IVM ในครั้งต่อไปได้ในเวลาอันสั้น  ข้อจำกัดในการรักษาโดยเทคนิค IVM นั้น อยู่ที่คุณแม่ควรจะมีอายุไม่เกิน 35-36 ปี เพราะยิ่งอายุมากเท่าไรคุณภาพของไข่จะลดลง รวมไปถึงในช่วงเวลาของการรักษา ในรังไข่ทั้ง 2 ข้างของคุณแม่จะต้องผลิตไข่ได้ไม่น้อยกว่า 7 ใบ อีกทั้งโพรงมดลูกของผู้รักษาต้องปกติไม่มีปัญหาใด ๆ อีกด้วย

          อย่างไรก็ตามนายแพทย์บุญแสง  วุฒิพันธ์ กล่าวถึง  IVM  ว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ถือว่าเป็นอีกทางเลือกเพื่อนำมาใช้รักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับผู้ที่มีภาวะของ POC หรือ PCOD ได้อย่างดีขึ้น  แต่อย่างไรก็ตามก็อยากฝากสาเหตุของการมีบุตรยากในปัจจุบันซึ่งมี 3 สาเหตุดังนี้

           ภาวะการแต่งงานช้า เนื่องจากสภาพสังคมที่ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านและมีการแข่งขันสูง ทำให้การตัดสินใจแต่งงานช้าลง  ส่งผลให้ร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะมีบุตรรวมไปถึงการเกิดโรคแทรกซ้อนมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการมีบุตร

           ภาวะรูปแบบการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ผู้หญิงหันมาใช้ชีวิตสังคมอย่างผู้ชาย  มีทั้งการดื่มเหล้า สูบบุหรี่และดื่มกาแฟมากขึ้น  

           ภาวะของฝ่ายชายแต่งงานช้าทำให้น้ำเชื้อไม่แข็งแรง

          ทางด้าน กันธิกา คอร์นิค และสามี หนึ่งในสามครอบครัวคนที่ใช้เทคนิค IVM เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากมาช่วยในการตั้งครรภ์ กล่าวถึงความรู้สึกในการตั้งครรภ์ครั้งนี้ว่า "แรก ๆ ก็ยังไม่เข้าใจว่า IVM คืออะไร แต่ได้ข้อมูลจากคุณหมอและหาความรู้จากอินเทอร์เน็ต  ตอนแรกที่มาพบคุณหมอเพื่อรักษาภาวะมีบุตรยากนั้น ได้ลองทำ IVF แล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน คือรังไข่ผลิตไข่มากเกินไปทำให้มีอาการบวมน้ำ  คุณหมอจึงแนะนำให้มาลองทำ IVM ตอนนี้ตั้งครรภ์และใกล้คลอดแล้ว  มาอัลตร้าซาวน์ดูก็รู้ว่าได้ลูกแฝด  รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากค่ะกับการมีลูกครั้งนี้ เพราะเคยพยายามมาแล้วไม่ได้ผล  ตอนนี้คุณหมอก็แนะนำให้ดูแลสุขภาพให้ดี ๆ พักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง" 

          สามี "รู้สึกดีใจมากที่ภรรยาตั้งครรภ์ เพราะตอนตั้งครรภ์ครั้งแรกเค้าท้องนอกมดลูก  ตอนนั้นผมก็เสียใจที่ต้องเสียลูกไป  แต่ในครั้งนี้ผมก็ได้ลูกแฝดก็ดีใจมากครับ ในส่วนตัวผม ผมวางแผนไว้ว่าเมื่อภรรยาคลอดผมจะหยุดงานชั่วคราวเพื่อมาช่วยภรรยาผมเลี้ยงลูก  หลังเขาคลอดไม่อยากให้เขาเหนื่อยครับ  เพราะการที่เขาต้องอุ้มท้องเก้าเดือนก็เสียสละมากพอแล้ว  เพราะฉะนั้นอะไรที่ผมพอจะทำให้เขาสบายได้  ผมก็อยากทำ ผมอยากขอบคุณที่เขาอดทนมาตลอดเพื่อมีลูกให้กับผม  ขอบคุณนะครับ (พูดพร้อมจับมือภรรยาไว้แน่น)"


 เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ








ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
IVM เทคโนโลยีใหม่สำหรับผู้มีบุตรยาก อัปเดตล่าสุด 18 สิงหาคม 2552 เวลา 19:34:09 6,376 อ่าน
TOP