x close

สอนทักษะสังคม เริ่มต้นได้แล้ววันนี้



สอนทักษะสังคม เริ่มต้นได้แล้ววันนี้
(modernmom)
โดย: ชนัญชิดา

          คนที่เติบโตขึ้นมาและประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องหน้าที่การงาน ไม่ใช่แค่เพราะเก่ง รอบรู้เฉพาะตัว หากหมายรวมถึงการมีทักษะทางสังคมที่ดีด้วย ซึ่งพ่อแม่ สามารถเริ่มต้นปลูกฝังทักษะสังคมให้แก่ลูกได้ตั้งแต่วันนี้

ทักษะทางสังคม = ทักษะชีวิต

          การส่งเสริมให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดี เปรียบเสมือนการสร้างพื้นฐานทางชีวิต ที่มั่นคงให้แก่เขาในวันข้างหน้า มีผลการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณชนของประเทศอังกฤษพบว่า การมีทักษะในการเข้าสังคมถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต แตกต่างจากความเชื่อในหลายปีก่อนที่มองว่า ความสามารถในการเรียนในชั้นเรียนเป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จของเด็ก จากการสำรวจพบว่าเด็กอังกฤษจำนวนมากในปัจจุบัน ถ้าไม่อ่อนเกินวัยก็จะแก่(แดด) เกินวัยไปเลย และขาดทักษะทางสังคมอย่างมาก

          ทักษะ สังคม (Social Skills) คือ กลุ่มของทักษะต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกันในสังคม ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง การทำงานร่วมกันเป็นทีม รวม ถึงความเข้าใจสถานการณ์ ต่าง ๆ เข้าใจกติกาของสังคม และรู้จักคำนึงถึงคนรอบข้าง เพราะฉะนั้น ทักษะทางสังคมจึงเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเรียนรู้โลกกว้าง จำเป็นต้องได้รับการวางรากฐาน และฝึกฝนทักษะทางสังคมอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในด้านอื่น ๆ ในอนาคตข้างหน้า

เตรียมเจ้าหนู สู่ 5 สถานการณ์
1. เล่นกับเพื่อนที่สวนสาธารณะ

          การเล่นที่สวนสาธารณะครั้งแรก ที่มีเพื่อนวัยเดียวกันเพียบ เครื่องเล่นก็น่าสนุก แล้วเจ้าตัวเล็กของเราจะชอบใจไหมหนอ สำหรับการเล่นนอกบ้านกับเพื่อนใหม่ครั้งแรก คุณแม่ควรเล่นไปพร้อมกันกับลูก และสอนให้เขาได้เรียนรู้วิธีการเล่นเครื่องเล่นแต่ละชนิด จากนั้นลองปล่อยให้เขาเล่นกับเพื่อนสักครู่ แล้วสังเกตสีหน้าท่าทีของลูกว่า มีปฏิกิริยาอย่างไร ชอบหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกวัย 1-3 ปี จะเล่นกับเพื่อนได้ไม่นานนัก สักพักเขาจะแยกตัวออกมาเล่นคนเดียว คุณแม่ก็ไม่ต้องแปลกใจไปนะคะ
2. กินข้าวนอกบ้าน

          ลูกคงตื่นเต้นไม่น้อยกับบรรยากาศในร้านอาหาร บางทีอาจวิ่งพล่านไป-มา หรือมุดใต้โต๊ะโน้นโผล่ใต้โต๊ะนี้จนวุ่นวายไปหมด ขอให้คุณพ่อคุณแม่อย่าอาย หรือ ถือเป็นเรื่องหน้าแตก แต่ให้อธิบายกับลูกว่า เราไม่ทำแบบนี้ต่อหน้าคนเยอะ ๆ หากพูดแล้วไม่ได้ผล เจ้าตัวแสบยังคงควบคุมตัวเองไม่ได้ วิ่งวุ่นอยู่อย่างนั้น ให้ขอโทษเพื่อนโต๊ะอื่นที่ลูกไปรบกวน แล้วพาลูกออกไปคุยกันข้างนอก อธิบายว่าลูกวิ่งแบบนั้นไม่ได้เพราะอะไร และย้ำกับลูกว่าเมื่อกลับเข้ามาในร้านจะไม่รบกวนผู้อื่นอีก แต่หากลูกทำแบบเดิมอีก ควรพาลูกกลับบ้าน และครั้งต่อไปก่อนออกมากินข้าวนอกบ้าน ควรมีการตกลงเงื่อนไขกันล่วงหน้าด้วย
3. ซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า

          เวลาเห็นลูกคนอื่นทั้งร้องทั้งนอนดิ้นกับพื้น เพียงเพื่อแลกกับรถบังคับ หรือตุ๊กตาตัวเดียว คุณแม่รู้สึกอย่างไร แล้วถ้าลูกเราทำแบบนี้บ้างล่ะ จะปล่อยให้เขา ชักดิ้นชักงออยู่ต่อไป หรือใช้วิธีที่ดีกว่า บอกเหตุผลกับเจ้าจอมแสบว่า ที่บ้านมีหุ่นแบบนี้อยู่หลายตัวแล้ว เราตกลงกันแล้วว่าจะซื้อของตามรายการที่ลิสต์มาเท่านั้น ซึ่งลูกก็สัญญาตั้งแต่ก่อนออกจากบ้าน และชวนให้ไปดูอย่างอื่นกัน แต่ถ้าใช้แหตุและผลแล้ว ลูกยังไม่มีทีท่าอ่อนลง ให้ทำอย่างไรก็ได้(ด้วยวิธีสันติ) เพื่อพาลูกออกจากมุมของเล่นมุมนั้น แล้วหามุมให้ลูกได้สงบสติอารมณ์ อาจเป็นที่รถ หรือมุมนั่งเล่นที่คนไม่พลุกพล่าน เมื่อลูกสงบแล้วจึงค่อยทวนเงื่อนไขก่อนออกจากบ้าน แล้วพาซื้อของต่อจนเสร็จ
4. เยี่ยมญาติ

          นอกจากพ่อแม่แล้ว ลูกควรได้มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วย เริ่มจากญาติพี่น้องใกล้ตัวนี่ล่ะ ให้ลูกได้เล่นกับญาติที่เป็นเด็กด้วยกันหรือผู้ใหญ่ก็ตาม โดยก่อนที่จะพาไปเจอตัวเป็น ๆ ลองเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของลูกกับญาติคนนั้น เอารูปให้ลูกดู หรือความสามารถพิเศษของญาติให้ลูกฟังก่อน เช่น คุณป้าทำของเล่น ได้หลายแบบ ลูกสาวคุณป้าก็ทำขนมอร่อย เป็นต้น แล้วอย่าลืมหาของฝากติดไม้ติดมือ ให้ลูกไปมอบแก่ญาติด้วยตัวเอง เพื่อที่เขาจะได้สัมผัสกับคำขอบคุณ และการแสดงความชื่นชมยินดีของผู้รับด้วย
5. เที่ยวที่ทำงานแม่

          เมื่อเทศกาลปิดเทอมมาถึง พ่อแม่หลายครอบครัวจำเป็นต้องพาเจ้าตัวเล็กไปที่ทำงานด้วย ซึ่งเด็กบางคนอาจกลัวคนแปลกหน้าอย่างพี่เข้มเพื่อนคุณพ่อ หรือป้าเมาท์ปากแดงเพื่อนคุณแม่ แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ แนะนำว่าพ่อแม่ลองพาเขาไปสวัสดีป้า ๆ น้า ๆ ในออฟฟิศ แล้วให้ผู้ใหญ่ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยกับลูกทีละน้อย เมื่อเห็นว่าลูกคุ้นเคยดีแล้ว ค่อยส่งลูกให้คนอื่นดูแลในช่วงเวลาสั้นๆ โดยที่คุณแม้ยังอยู่ใกล้ๆ ด้วย ถ้าลูกมีอาการกลัวคนแปลกหน้าน้อยลง และเล่นกับคนอื่นได้บ้างแล้ว ค่อยหลบให้พ้นสายตาลูกสักพัก ถ้าลูกยังร้องหาคุณแม่ค่อยลองใหม่ภายหลัง ไม่นานลูกก็จะคุ้นเคยกับเพื่อนของพ่อแม่ค่ะ

          ทักษะทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญ ที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกร่วมกับทักษะด้านอื่น และเมื่อเขามีทักษะที่ดีแล้ว ก็ถือเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่ความสำเร็จต่อไปในอนาคต

สร้างทักษะทางสังคมให้สมวัย

          การที่พ่อแม่จะส่งเสริมทักษะทางสังคมของลูกให้ถูก ทางได้นั้น จำเป็นต้องทราบก่อนว่า พัฒนาการทางสังคมของลูกน้อยวัย 1-3 ปี มีลักษณะอย่างไรบ้าง

          เล่นแรง เพราะกะน้ำหนักมือไม่ถูก ไม่ได้มีเจตนาจะแกล้งเพื่อนแต่ประการใด ขอให้พ่อแม่สบายใจได้

          หวงของ เป็นอาการประจำตัวของเจ้าหนูวัยนี้ เพราะเขารู้แล้วว่าตัวเองเป็นใคร ของสิ่งไหนเป็นของหนู ถ้าพ่อแม่สังเกตพบว่า เวลาลูกเล่นกับเพื่อนทีไร สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการยื้อยุดของเล่นกันทุกที ไม่ต้องตกใจไป เพราะอาการนี้จะหายได้เองเมื่อผ่านวัย 3 ปีขึ้นไป

          เจ้าอารมณ์ ไม่ได้ดั่งใจอะไรก็ชอบประท้วง ด้วยสารพัดวิธีเท่าที่เด็กวัยนี้จะคิดสรรหามาได้ เพราะถึงลูกวัยนี้จะมีเหตุผลและรู้จักคิดมากขึ้นก็จริง แต่ยังมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตนเองมาก หากลูกทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก คุณพ่อคุณแม่ควรให้คำแนะนำที่หนักแน่น และพูดกับลูกด้วยเหตุผลเมื่อลูกดื้อรั้นค่ะ

          รักพี่เสียดายน้อง ใจหนึ่งอยากเป็นอิสระ แต่อีกใจก็ยังกลัว เพราะเด็กวัย 1-3 ปี ไม่สามารถเล่นกับเพื่อนได้นาน แถมบางคนยังติดพ่อแม่หนึบเป็นตังเม อยากเล่นสนุกกับเพื่อนก็อยาก แต่อยู่ใกล้แม่ที่จะทำเขารู้สึกอุ่นใจ อยากได้สิ่งไหนก็สื่อสารได้ถนัด รู้ใจหนูไปทุกเรื่อง

ทักษะดีมีประโยชน์

          การวางรากฐานให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดีนั้น นอกจากจะช่วยให้ลูกสามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้ตรงจุด รู้จักเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ เข้าใจ และเห็นใจคนรอบข้าง อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

          การสร้างกำแพงเมืองจีนยังไม่อาจทำได้ในเวลาอัน สั้น การสร้างทักษะทางสังคมก็เช่นกัน จำเป็นต้องใช้เวลาบ่มเพาะ และอาศัยความอดทนและตั้งใจของพ่อแม่ ในการสอนลูกบ่อย ๆ ในทุกครั้งที่มีโอกาส ที่สำคัญคือเด็กวัยนี้อยู่ในช่วงชอบเลียนแบบคนรอบข้าง พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบที่ดี และชี้ให้เขาดูตัวอย่างที่น่าปฏิบัติตาม เพื่อให้เขาค่อย ๆ ซึมซับทักษะทางสังคมที่ดีและเหมาะสมต่อไป

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สอนทักษะสังคม เริ่มต้นได้แล้ววันนี้ อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2553 เวลา 14:14:52 2,747 อ่าน
TOP