x close

เรื่องของการสัก ที่มากกว่าความเท่

สัก

 



เรื่องของการสัก...ที่มากกว่าความเท่ (สวยด้วยแพทย์)

          เมื่อพูดถึง การสัก (TATTOO) บางท่านอาจคิดว่าเป็นแค่เรื่องความอยากเท่ของวัยรุ่นวัยโจ๋ จริงๆ แล้วในวงการแพทย์ได้นำหลักการของการสักมาใช้เพื่อการรักษาหรือการสักทางการแพทย์ (Therapeutic or Paramedical Tattoo) การที่การสักถูกประยุกต์ใช้เพื่อการรักษา คงทำให้หลายๆ ท่านมองการสักในแง่ที่ดีขึ้น ประโยชน์ของการสักเพื่อรักษามีทั้งเพื่อความสวยงาม เช่น สักคิ้วถาวร สักขอบตาถาวร สักขอบปากและริมฝีปากถาวร นอกจากนั้นยังใช้เพื่อแก้ไขความผิดปกติบางอย่างของผิวหนัง ได้แก่แผลเป็นจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเป็นจากการผ่าตัด โรคด่างขาว (Vitiligo) ผมร่วง ขนคิ้วหรือขนตาร่วง การสร้างหัวนมใหม่ภายหลังการผ่าตัดเต้านม สร้างขอบปากหลังผ่าตัดปากแหว่ง

          การสักเพื่อรักษายังเหมาะกับบุคคลที่อาจมีความยากลำบากในการแต่งหน้า เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคข้อ โรคที่ทำให้มือสั่น เคลื่อนไหวมือไม่สะดวก ผู้ที่แพ้เครื่องสำอาง เป็นโรคภูมิแพ้ (ทำให้มีน้ำตาไหลบ่อยๆ) หรือผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา เช่น สายตาสั้น ใส่คอนแทคเลนส์ เป็นต้น กระทั่งในรายที่ต้องการลบรอยสักเดิมซึ่งในบางตำแหน่งไม่สามารถลบออกได้ ก็สามารถจะใช้การสักสีทับลงไปเพื่อปกปิดได้ค่ะ

          ทีนี้ก็มาถึง ขั้นตอนการทำ แพทย์จะซักประวัติสุขภาพและตรวจร่างกายโดยเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการรักษา จากนั้นแพทย์จะเลือกสีที่จะใช้สักที่เข้ากับสีผิวของคุณ ซึ่งสีที่ใช้นั้นเป็นสารที่ไม่ทำปฏิกิริยากับร่างกายและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แต่อย่างใด

          ก่อนเริ่มสัก แพทย์จะใช้ทาเฉพาะที่เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บ จากนั้นจะสักสีเข้าไปในผิวหนังโดยใช้เครื่องสัก ซึ่งประกอบด้วยเข็มขนาดต่างๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งเข็มที่ใช้จะเป็นเข็มชนิดที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่นำกลับมาใช้ซ้ำและในระหว่างทำจะใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ ส่วนเวลาที่ใช้ประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง หลังทำสามารถกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องพักค้างคืนที่โรงพยาบาล

          เมื่อผ่านขั้นตอนการสักแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ได้ผลตาที่มุ่งหวังดังนี้

           ห้ามใช้สบู่ ครีมทำความสะอาดผิว เครื่องสำอางใดๆ ในบริเวณที่ทำการสัก

           หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด การอาบน้ำร้อนหรืออบเซาน่า อย่างน้อย 3 วันหลังการสัก

           ห้ามลงสระว่ายน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เนื่องจากคลอรีนในสระจะทำให้สีที่สักไว้จางลงได้

           พยายามรักษาความชุ่มชื้นบริเวณที่ทำโดยทายาตามแพทย์สั่ง ถ้าพบว่าบริเวณที่ทำมีสะเก็ด ห้ามแกะหรือลอกออกเด็ดขาด ควรให้สะเก็ดลอกหลุดไปเอง

           คุณสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ส่วนการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมาก เช่น การเต้นแอโรบิค ยกน้ำหนัก ควรหลีกเลี่ยงอย่างน้อย 3 วัน

          ส่วนผู้ที่ทำขอบตาถาวรไม่ควรดัดขนมตาหรือใช้มาสคาร่าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่หากจะเริ่มใช้ควรใช้หลอดที่เพิ่งเปิดใหม่เพื่อป้องกันการติดเชื้อ นอกจานั้นในช่วง 2 วันแรกให้งดใส่คอนแทคเลนส์และควรสวมแว่นกับแดดหากต้องออกไปในบริเวณที่มีแดดจัด ส่วนในรายที่ทำขอบปากหรือริมฝีปากถาวร ไม่ควรเสียริมฝีปากบ่อยๆ เพราะน้ำลายอาจทำให้สีที่สักไว้จางลงได้ และในช่วง 7 วันหลังทำไม่ควรดื่มเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจัด รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้สีที่สักไว้หลุดออกได้

          รู้จักการสักเพื่อการรักษากันไปแล้ว คงเห็นแล้วนะคะว่าการสักไม่ใช่แค่เพื่อความเท่อย่างเดียว ส่วนวัยรุ่นวัยโจ๋ที่นิยมการสักเพื่อความเท่ อย่างนี้เป็นคนละกรณีกับการสักเพื่อการรักษานะคะ  แต่การสักเพื่อความเท่อย่างที่เห็นเห่อๆ กันตามแฟนชั่นนั้นไปๆ มาๆ อาจกลายเป็นตำหนิหรือส่วนเกินที่ไม่ต้องการไปก็ได้ บางคนถูกมองไปในทางลบเสียอีก คราวนี้ก็ต้องหาทางลบรอยสักกันวุ่นวาย

          ปัจจุบันการลบรอยสักด้วยเลเซอร์นั้น พลังงานจากแสงเลเซอร์จะเข้าไปทำให้เม็ดสีที่ลึกลงไปซึ่งเป็นโมเลกุลใหญ่แตกออกเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วอาศัยกลไกกำจัดสิ่งแปลกปลอมของร่างกายขจัดเอาเม็ดสีที่แตกเป็นชิ้นเล็กๆ ออกทำให้รอยสักจางลงได้ค่ะ การลบรอยสักด้วยเลเซอร์ควรทำซ้ำ 3-7 ครั้ง (ความมากน้อยขึ้นกับปริมาณและชนิดของสี) ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการทำแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับขนาดหรือบริเวณพื้นที่ของรอยสัก ถ้าเป็นบริเวณเล็กๆ อาจใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที สำหรับผลการรักษานั้นจะได้ผล 100% หรือไม่ขึ้นอยู่กับสีที่สัก ความลึกของการสัก และปฏิกิริยาตอบสนองของผู้ป่วยเอง

          หลังการลบรอยสักด้วยเลเซอร์ ช่วงแรกอาจมีรอยดำเกิดขึ้นบ้างจากนั้นจะค่อยๆ จางหายไป นอกจากนั้นอาจมีแผลตื้นๆ เกิดขึ้นเล็กน้อย เมื่อแผลตกสะเก็ดห้ามแกะ โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดแผนเป็นได้ สะเก็ดแผลจะหลุดออกไปเองภายใน 7-10 วัน

          ฝากเตือนก่อนจากกันสักนิด ไม่ว่าคุณผู้อ่านจะเลือกการสักเพื่อรักษาหรือจะลบรอยสักให้จางลง ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เรื่องของการสัก...ต้องมองเลยไปถึงเรื่องความปลอดภัยด้วยค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือสวยด้วยแพทย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องของการสัก ที่มากกว่าความเท่ อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2552 เวลา 13:42:47 1,573 อ่าน
TOP