x close

หนูก็ เครียด เป็นนะ

baby - เครียด

หนูก็ เครียด เป็นนะ
(รักลุก)
โดย: นงพุธ

            ในวันที่ผู้ใหญ่อย่างเรารู้สึก "เครียด" เรามักจะสนใจ และอยากคลี่คลายภาวะอารมณ์นั้นออกจากตัวเองให้เร็วที่สุด เพราะรู้ว่าไม่เป็นผลดีกับสุขภาพใจและกาย แล้วเราเคยฉุกคิดมั้ยว่า ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่ตัวโตเท่านั้นที่รู้จัก "เครียด" วัยเตาะแตะหัดเดินแบบนี้ก็เครียดเป็นเหมือนกันนะ

            แต่ที่สำคัญกว่าผู้ใหญ่ก็ตรงที่ เด็ก ๆ มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง ปัจจัยหลักก็คือยังไม่เข้าใจภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทำให้ไม่สามารถบอกหรือถ่ายทอดความอัดอั้นตันใจออกมาเป็นคำพูด หรือจัดการกับความเครียดได้ด้วยตัวเอง นี่แหละที่ทำให้คนเป็นพ่อแม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการบำบัด "ความเครียด" ของลูกให้ผ่อนคลายขึ้น

ตัวแค่นี้ ทำไมถึง "เครียด"

            ในทางจิตวิทยานั้น สภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กวัยนี้ เกิดจากสาเหตุใหญ่ ๆ คือ

            ความเครียดที่เกิดจากพัฒนาการของเด็กเอง เพราะเป็นวัยที่ต้องการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างมาก จากที่เคยนอนแบเบาะทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ เมื่อต้องการอะไรก็ต้องรอให้ผู้ใหญ่ตอบสนองให้ กลับค่อย ๆ พัฒนามาเป็นการสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันสมองก็เริ่มมีความคิดเป็นเหตุเป็นผล เริ่มเชื่อมโยงกับการกระทำได้ รวมถึงด้านภาษาก็มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเด็กรู้สึกถึงพลังความสามารถของตัวเอง

            และมี nagativerism เหมือนดื้อ ทำตรงกันข้าม และขณะเดียวกัน ก็มีสภาวะความผูกพันระหว่างแม่หรือผู้เลี้ยงดูค่อนข้างมาก เช่น เด็กยังมีความรู้สึกว่าถ้าแม่ไม่อยู่แปลว่าหายไป หลับตาแปลว่าแม่หายไป ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจถึงความคงอยู่ของสิ่งของว่าเป็นอย่างไร ทำให้เขาติดและตามแม่อยู่ตลอดเวลา วิตกกังวลเรื่องการพลัดพรากสูง จนบางครั้งแม่จะรู้สึกว่าลูกงอแง ดื้อ นอกจากนั้นวัยนี้ยังมีอารมณ์ "อิจฉา" ชัดเจน (และจะหายไปในช่วงอายุประมาณ 5 ปี) หรือความกลัวโดยไร้สาเหตุ

            สิ่งที่เป็นความเครียดของเด็กวัยนี้สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่ตัวเองต้องการแต่ไม่ได้ถูกตอบสนอง สิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการแต่ถูกยัดเยียด หรือตัวเองอยากได้ทั้งหมดแต่ถูกกำหนดให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่อยากได้เลยทั้งสองอย่าง เช่น ไม้เรียวก็ไม่เอา ยาก็ไม่อยากกิน แต่ถูกบังคับให้เอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

             เกิดจากความรู้สึกภายในใจของตนเอง (ระหว่างศีลธรรมจรรยากับสิ่งที่ตัวเองต้องการ) เช่น เขาถูกแม่ดุ รู้สึกโกรธแม่ อันนี้เป็นความปรารถนาร้ายต่อแม่ แต่ขณะเดียวกันศีลธรรมจรรยาที่มีอยู่ก็จะห้ามไม่ให้รู้สึก (โดยที่เด็กเองก็ไม่รู้ตัว) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะยังรักยังแคร์แม่อยู่

             เกิดจากภาวะแวดล้อม เช่น ความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ที่มีปัญหาต่อกัน ความเครียดนี้ก็จะติดต่อไปที่ตัวเด็ก โดยผ่านท่าทีและบรรยากาศภายในบ้าน

สัญญาณ "ความเครียด" ของหนู

            เด็กในวัยนี้มีการแสดงออกของความเครียดต่างกับผู้ใหญ่ ที่จะบอกว่า กำลังกลุ้ม กำลังหงุดหงิด หรือรู้จักที่จะหาวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยตัวเอง แต่ตรงกันข้ามเด็กกลับจะแสดงออกในด้านพฤติกรรม อารมณ์และทางกายแทน ที่สำคัญคือมักแสดงออกในเรื่องของการกินอยู่หลับนอน อย่างเช่น งอแง ร้องโวยวาย หรือนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนผวา นอนฝันร้าย หรือจู้จี้เรื่องอาหาร เอาแต่ใจ ปฏิเสธอาหาร บางทีก็แสดงออกมาในรูปของการขับถ่าย การกลั้นอุจจาระ ไม่ยอมถ่าย หรือเรียกร้องความสนใจ

            ซึ่งการแสดงออกเหล่านี้ทำให้พ่อแม่ไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นพัฒนาการที่ผิดปกติแต่ไม่ได้มองในประเด็นของความเครียด และเมื่อเข้าใจแบบนี้ก็มักจะเข้าไปจัดการ ตีกรอบ และบังคับลูก (มากเกินไป) ก็จะยิ่งทำให้เด็กเกิดความเครียดได้ง่ายขึ้น ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม และมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจบั่นทอนพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กรวมทั้งอาจทำให้เด็กมีปัญหาด้านจิตใจและพฤติกรรมได้ต่อไป

กลยุทธ์หลีกหนี "ความเครียด"

            การเข้าใจในธรรมชาติชองลูก เลี้ยงดูลูกด้วยพื้นฐานของความรักและมีเวลาให้ลูก รู้จักเล่น รู้จักสังเกต และต้องรู้ว่า ความเครียดของลูกวัยนี้มาจากเรื่องอะไรได้บ้าง เช่น ความต้องการทางกาย ทางใจ ความรัก การดูแลแล้ว นอกจากนั้น ยังต้องรู้จักวางแผนการเลี้ยงดู เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ มีข้อสังเกตและคำแนะนำมาฝากกันค่ะ

            พ่อแม่ต้องเป็นคนช่างสังเกต และแยกแยะว่าความเครียดที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุใด เกิดที่ไหน เช่น ในบ้าน นอกบ้าน เกิดจากตัวเด็กเอง หรือคนแวดล้อม เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูก

             ต้องรู้ธรรมชาติของเด็กในวัยนี้ว่ามีพัฒนาการอย่างไร และตอบสนองต่อพัฒนาการนั้นให้เหมาะสม เช่น เป็นวัยที่มีความกลัว ก็ต้องไม่ผลักดันลูกไปสู่สถานการณ์แห่งความกลัวนั้น

            ต้องรู้ความต้องการของเด็กในวัยนี้ ซึ่งจะช่วยให้ปฏิบัติและเลี้ยงดูได้เหมาะสม

             หลีกเลี่ยงความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตามใจลูกไปทุกเรื่อง เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะฝึกระเบียบวินัยอย่างเหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไปและไม่เคร่งเครียดจนเกินไป

ผ่อนหนักให้เป็นเบา

            การสังเกตและดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อรู้และตอบสนองความต้องการของลูกได้เหมาะสม เป็นวิธีที่สอดคล้องในการลดทอนความเครียดของลูก แต่ในยุคสมัยที่เราทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้านกัน (โดยเฉพาะในสังคมเมือง) โอกาสที่จะใกล้ชิดและดูแลลูก ด้วยปริมาณเวลาในแต่ละวันก็ลดน้อยลง แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรค หรือปัญหาในการที่เราจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความเครียดของลูก มีกิจกรรมมากมายที่ใช้เวลาไม่มากแต่ช่วยให้ลูกผ่อนคลายได้ค่ะ

            ใช้เวลาที่เหลือจากงานหลัก ๆ ของคุณอยู่กับลูกให้มากที่สุด เพื่อพูดคุย สัมผัส โอบกอดและเล่นกับลูก เป็นการชดเชยช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่กับเขา

             ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นเวลาที่ดีที่สุดเวลาหนึ่งที่เรา(พ่อ)แม่ลูกจะได้นอนกอดกัน เล่านิทานให้ฟัง โดยแอบล้วงความลับความเครียดในวันนั้น ที่ลูกพบผ่านนิทานสนุก ๆ ถ้าเป็นปลายขวบปีที่สอง ลูกจะสามารถเป็นฝ่ายเล่าให้คุณฟังอย่างเป็นคุ้งเป็นแควเลยล่ะ

            การสอบถามพูดคุยในบรรยากาศสบาย ๆ (ไม่ใช่การตั้งคำถามให้ตอบ) คุยกันไปเรื่อย ๆ ผ่านเนื้อหาคำถามที่จะตรวจเช็กว่าในวันนั้น ๆ ลูกสุขสบายดีมั้ย อยู่กับพี่เลี้ยงเป็นอย่างไร ร้องไห้รึเปล่าด้วยเรื่องอะไร ฯลฯ เป็นวิธีช่วยสังเกตความเป็นไปของลูกอีกวิธีหนึ่ง

            หาเกมกิจกรรมที่ได้ออกแรงให้ลูกเล่นบ้าง (เพื่อขับพลังความก้าวร้าวที่มีอยู่ตามธรรมชาติของวัย) เช่น กิจกรรมกลางแจ้งกับเครื่องเล่นสนาม เล่นเตะฟุตบอล เล่นวิ่งไล่จับกัน ฯลฯ

             เลือกกิจกรรมเชิงศิลปะ เช่น การวาดภาพ การเล่นดนตรี ฟังเพลงสบาย ๆ เพื่อช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย (โดยไม่รู้ตัว)

            สิ่งแวดล้อมและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ นำไปสู่บรรยากาศของความเครียด ความกดดัน ซึ่งเจ้าตัวเล็กของเราก็คงจะได้รับแรงกระแทกนี้ไปด้วย ไหนจะความเครียดที่เกิดจากตัวของเขาเอง ไหนจะความเครียดที่มาจากสิ่งรอบตัว แต่ทั้งหมดนี้เพียงแต่พ่อแม่รู้เท่าทันภาวะอารมณ์ การแยกแยะว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สิ่งไหนเกิดจากปัจจัยแวดล้อมและเราต้องดูแลจัดการอย่างไรบ้าง ก็สามารถช่วยประคับประคองให้ลูกรักเติบโตไปอย่างมีความสุข และสอดคล้องกับพัฒนาการของเขาได้อย่างแน่นอนค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนูก็ เครียด เป็นนะ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2553 เวลา 15:41:18
TOP