x close

เรื่องไม่ลับของสุขภาพยามหลับ

baby - นอนหลับ

เรื่องไม่ลับของสุขภาพยามหลับ
(momypedia)

              ธรรมชาติของเด็กวัย 3-6 ขวบนี้ ในแต่ละวันควรจะได้พักผ่อนนอนหลับประมาณ 10-11 ชั่วโมง โดยนอนหลับยาวในตอนกลางคืนและอาจนอนหลับบ้างในตอนกลางวัน เมื่อลูกไปโรงเรียนอนุบาล คุณครูจึงจัดให้น้องอนุบาล 1 นอนกลางวัน ซึ่งความต้องการนอนกลางวันก็ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเด็กบางคนไม่ต้องนอนกลางวัน
 
นอนหลับ...เรื่อง (ไม่) ลับในห้องนอน

              ในช่วงเดือนแรก ๆ ของชีวิต ทารกจะตื่นบ่อย ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อดูดนมและการนอนช่วงกลางคืนจะเริ่มยาวขึ้นเรื่อย ๆ จนประมาณ 4-6 เดือน ทารกจำนวนมากจะนอนได้ติดต่อกัน 6-8 ชั่วโมง หลังจากอายุ 6 เดือน ทารกอาจจะตื่นหลังจากนอนหลับเป็นระยะๆ ได้
 
              การนอนหลับนั้นจะมีการหลับลึกหรือหลับตื้น สลับกันไปทั้งคืน ในช่วงที่หลังตื้น อาจจะมีการร้อง ขยับตัว คุณหมอแนะนำว่าควรพยายามตอบสนองให้ช้าที่สุดและน้อยที่สุด เพื่อที่จะให้ลูกลงกลับไปสู่นิทราได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องปลุกเขาให้ตื่นขึ้นมาหรอกนะคะ
 
วงจรการนอนหลับ
 
              วงจรในการหลับตื้น สลับหลับลึกของเด็ก (ประมาณ 50-60 นาที) จะสั้นกว่าผู้ใหญ่ค่ะ (90-100 นาที) ในเด็กจึงจะมีช่วงหลับตื้นบ่อยกว่าผู้ใหญ่ พ่แม่มักบ่นว่าลูกดิ้นจัง ห่มผ้าก็ถีบหมด
 
การตัดสินใจว่าจะให้ลูกนอนกับพ่อแม่หรือไม่ และจะแยกห้องนอนเมื่อไหร่ดี เป็นการตัดสินใจตามความพอใจของแต่ละครอบครัว ตามวัฒนธรรม และบ่อยครั้งก็ตามสถานที่ที่มีอยู่ แต่ถ้าให้ลูกนอนกับพ่อแม่ต้องยอมรับว่าจะต้องตื่นบ่อยตามลูก และให้ระมัดระวังการมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งของพ่อแม่ด้วย
 
              ในวัย 3-6 ขวบ เป็นช่วงที่ลูกพูดจารู้เรื่องมากขึ้น สนใจซักถาม ใช้ภาษา ในการแสดงออกได้มากขึ้น และช่วยตนเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ยังค่อนข้างรุนแรง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ผู้เลี้ยงดูต้องค่อยๆ หลอกล่อ สมองลูกมีจินตนาการมาก จนบ่อยครั้งอาจเกิดความกลัวต่างๆ อาทิ กลัวความมืด กลัวผี นอกจากนั้นยังเป็นช่วงที่ลูกต้องปรับตัวในการไปโรงเรียนอนุบาล เปลี่ยนจากชีวิตครอบครัวที่อบอุ่นกับผู้เลี้ยงดูไม่กี่คน มาเป็นโลกที่กว้างขวางขึ้น
 
ปัญหาที่อาจพบได้ในการนอนของวัยนี้ มองได้เป็นสองกลุ่ม
 
              1. หลับแล้วตื่น (Night Waking) ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่คนเลี้ยงหงุดหงิดได้ เมื่อไหร่ลูกจะนอนหลับรวดเสียทีนะ ในการนอนนั้นจะเป็นวงจรหลับตื้นสลับหลับลึก พยายามตอบสนองน้อยที่สุด ช้าที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกหลับต่อไปสู่การหลับลึกได้ด้วยตนเอง
 
              หลังจากหลับแล้ว บางคนอาจมีการฝันร้าย (Nightmares) ในช่วงหลับตื้นลูกอาจจะตื่นมาตกใจ จำความฝันได้ เราก็อาจจะปลอบโยนให้ลูกหลับต่อ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็ต้องดูว่ามีความเครียดอะไรไหม
 
              ละเมอ กลัว (Night Terrors) ละเมอเดิน (Sleep Walking) และละเมอพูด (Sleep Talking) เป็นการตื่นจากการนอนหลับลึก เกิดช่วงแรก ๆ ของการหลับจะจำเหตุการณ์ไม่ได้ ปลุกไม่ค่อยตื่น อาจเริ่มได้ในอายุช่วงนี้ มักจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่พ่อแม่จะตกใจเพราะดูน่ากลัว ก็ต้องพูดให้พ่อแม่เข้าใจลักษณะของโรค ว่ามักจะค่อย ๆ หายไป นอกจากเป็นบ่อย ๆ ก็อาจจะต้องปรึกษาคุณหมอดูค่ะ
 
              2. ไม่ยอมนอน (Bedtime Struggle) ซึ่งอาจจะเกิดเนื่องจากเป็นวัยที่มีจินตนาการ คิดกลัวโน่นกลัวนี่ อาจจะสนุกกับชีวิต อยากเล่น ไม่อยากนอน หรืออาจจะยังเป็นช่วงที่อารมณ์รุนแรงตามวัย หนูจะไม่นอน มีอะไรไหมล่ะ! คนเลี้ยงก็ต้องหลอกล่อดีๆ ทำให้บรรยากาศก่อนนอนดี มีขบวนการเข้านอน หรือ Bedtime Routine ที่ชัดเจนและสม่ำเสมอทั้งในแง่กิจกรรมและเวลา
 
              พอใกล้เวลานอนก็อาจอาบน้ำ ร้องเพลงและมีการเล่นที่อ่อนโยน อ่านหรือเล่านิทาน พูดคุย ซึ่งเป็นสิ่งดีมากที่จะช่วยเสริมเพิ่มพัฒนาการและความผูกพัน ขั้นตอนเข้าสู่นิทราก็ง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อน ถ้ายังต้องดูดนม ก็ต้องค่อยๆ ปะเหลาะออก พอใกล้เวลานอน ลูกก็จะได้เข้าระบบสู่นิทราเป็นกิจวัตรไม่ต้องวุ่นวายมากนัก
 
สร้างสุขนิสัยที่ดีในการนอนให้ลูก
 
              1. พยายามกำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นให้เป็นเวลาที่สม่ำเสมอ
 
              2. ก่อนนอนมีกิจวัตรก่อนนอนที่สงบ ง่ายที่สุด และสม่ำเสมอ
 
              3. จัดห้องนอนให้ดูผ่อนคลายและสงบ หลีกเลี่ยงการมีทีวีหรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอน
 
              4. อย่าให้ลูกมีกิจกรรมก่อนนอนที่ตื่นเต้นเกินไป เช่น หลีกเลี่ยงการเล่นรุนแรง การเล่านิทานหรือดูหนังผี
 
              5. ถ้าลูกตื่นหลังหลับไปแล้ว ตอนสนองน้อยที่สุดและช้าที่สุด พยายามให้ลูกนอนหลับต่อด้วยตนเอง
 
              6. หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ในน้ำอัดลม กาแฟ ช็อกโกแลต
 
              7. อย่าให้ลูกนอนกลางวันมากนัก โดยเฉพาะช่วงเย็นๆ จะทำให้ไม่ง่วงเมื่อใกล้เวลานอนตามปกติ
 
              8. ออกกำลัง วิ่งเล่นพอสมควรตอนกลางวัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องไม่ลับของสุขภาพยามหลับ อัปเดตล่าสุด 19 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:46:57
TOP