x close

วิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนด



ดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดหลังกลับบ้าน
(modernmom)
โดย: นภัส

          เด็กคลอดก่อนกำหนด คือทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทำให้มีเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแล และระมัดระวังมากกว่าปกติ หากอยู่ที่โรงพยาบาลคุณแม่อาจจะไม่กังวลใจ เพราะเชื่อว่าลูกอยู่ในที่ปลอดเชื้อโรค แต่ถ้ากลับบ้านแล้ว คุณแม่ต้องดูแลลูกอย่างไร Modern Mom มีคำตอบค่ะ

อาการที่พบในเด็กคลอดก่อนกำหนด

          ก่อนที่เราจะรู้จักการดูแลลูกคลอดก่อนกำหนดเมื่อกลับบ้าน คงต้องมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ และอาการที่อาจจะเกิดขึ้นกับสุขภาพและร่างกาย ของลูกก่อนค่ะ

          สาเหตุของการ คลอดก่อนกำหนด เช่น คุณแม่อาจเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จากการอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือน้ำคร่ำแตกก่อนเวลาอันควร อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียลามเข้าไปสู่ทารก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้น และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด ไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติหรือด้วยเทคโนโลยีเจริญ พันธุ์ ก็มีโอกาสการคลอดก่อนกำหนดสูง ซึ่งทารกคลอดก่อนกำหนดมักพบอาการดังนี้

        ตัวเย็นได้ง่าย เพราะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเล็ก และตัวเย็นได้ง่าย จึงจำเป็นต้องคอยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น ซึ่งอาจจะต้องเข้าตู้อบ

        หายใจลำบาก ยิ่งสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่น้ำหนักน้อย เช่น 1 กิโลกรัม 1 ขีด ก็จะประสบปัญหาการหายใจ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจช่วย เพราะปอดของเขายังทำงานได้ไม่เต็มที่

        ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากการคลอดก่อนกำหนด เด็กจะตัวเย็นได้ง่าย ทำให้ต้องดึงเอาสารสะสม ที่ไว้เป็นพลังงานในการสร้างอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ ในระดับ 37% จึงมีการใช้สารสะสมสูง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

        ติดเชื้อได้ง่าย การส่งต่อภูมิคุ้มกันของแม่สู่ลูกนั้น จะมามากในช่วงท้ายๆ การตั้งครรภ์ ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าเด็กปกติถึง 4 เท่า

        ตัวเหลือง เป็นอาการที่พบมาก โดยเฉพาะในคนเอเชีย การกำจัดสารเหลือง การทำงานของตับของเด็กคลอดก่อนกำหนดยังไม่สมบูรณ์ ก็ทำให้มีอาการเหลืองนานกว่าเด็กที่คลอดตามกำหนดทั่วไปได้

        การดูดกลืน เด็กคลอดก่อนกำหนด การทำงานประสานกันระหว่างการดูดกลืนและการหายใจจะยังไม่ค่อยดี ทำให้มีโอกาสสำลักนมได้บ่อยๆ ค่ะ คุณแม่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ

ดูแลใกล้ชิดหลังกลับบ้าน

          ขณะที่อยู่โรงพยาบาลหลังคลอด คุณหมอจะคอยดูแลเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเด็กมีน้ำหนักมากกว่า 1.8–2 กิโลกรัม หรือจนสามารถลดการใช้ตู้อบ มีการดูดกลืนได้ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณหมอก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ก็ยังคงนัดไปตรวจอีกครั้งเมื่ออายุประมาณ 1-2 อาทิตย์ค่ะ เมื่อกลับมาอยู่บ้านนี่แหละค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีการดูแลลูกเพื่อไม่ให้กระทบกับสุขภาพของลูกค่ะ

        จัดสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกถือเป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรจัดบรรยากาศในบ้านให้อากาศถ่ายเท ไม่อับชื้น เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายในของลูกไม่เย็นหรือร้อนเกินไป แต่ด้วยบ้านเราเป็นเมืองร้อนอยู่แล้ว ภาวะตัวเย็นในเด็กคลอดก่อนกำหนดก็ไม่น่ากังวลเท่าไหร่ แต่หากมีอาการตัวร้อนขึ้นมา ก็ควรรีบพาไปหาคุณหมอค่ะ

        MR&Mrs. Clean ความสะอาดเป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างมากค่ะ ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ อาหารการกินของลูกน้อย เพราะอย่างที่รู้กันว่า เด็กที่คลอดก่อนกำหนดนั้นมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่าง ๆ มากกว่าเด็กปกติ ไม่ใช่เพียงอุปกรณ์ของใช้สำหรับลูกเท่านั้นที่ต้องสะอาด แต่รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในบ้านด้วยค่ะ

         ส่งเสริมพัฒนาการ ระบบสมองของลูกจะเจริญเร็วในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายในการตั้งครรภ์ แน่นอนว่าลูกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น อาจมีพัฒนาการล่าช้าบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คุณหมอจะคอยเช็กพัฒนาการ เช่น การได้ยินและการมองเห็นอยู่เป็นประจำ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะกระตุ้นลูกน้อยได้ด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ ใช้การพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่กับลูกบ่อย ๆ และใช้สีและแสงอย่างเหมาะสม

        นม สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนด คุณหมอก็จะแนะนำว่าให้กินนมแม่เป็นหลัก แต่ก็อาจจะต้องกินนมสูตร Enrich Post-discharge Formula เสริมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ลูกทำน้ำหนักดีขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวขึ้น 40-50 กรัมต่อวันก็ถือว่าใช้ได้ค่ะ แต่ก็ต้องมีการประเมินดูในระยะยาวต่อไป

          แม้ว่าลูกจะคลอดก่อนกำหนด แต่หากได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและถูกต้อง ลูกน้อยก็มีโอกาสเติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแรงค่ะ

Concern :

         ระบบหายใจ ยังคงต้องมีการระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะการหายใจอาจมีปัญหาได้ อย่างมีเสมหะอุดตัน มีน้ำมูก ทำให้หายใจไม่สะดวกหรือไม่ หายใจอกบุ๋ม หายใจเสียงดังครืดคราด คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพากลับมาตรวจใหม่ค่ะ โดยเฉพาะเวลาดูดนมแม่จะเห็นได้ชัด ดังนั้นเวลาอุ้มให้นมลูก ก็ควรจะอุ้มลูกให้สูงขึ้น เพื่อระวังการสำลักนมด้วยค่ะ

        อาการที่บ่งบอกว่าไม่สบาย หากลูกเกิดมีไข้ ตัวร้อน ติดเชื้อ น้ำมูกเขียวข้น ดูดนมได้น้อยลง น้ำหนักไม่ขึ้น ตัวเหลือง หรือตาเหลือง คุณแม่ต้องรีบพาไปพบคุณหมอก่อนถึงเวลานัด ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องรีบไปให้ทันเวลาค่ะ



 ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูแลลูกคลอดก่อนกำหนด อัปเดตล่าสุด 6 สิงหาคม 2553 เวลา 16:18:00
TOP