x close

สิวกับฝีต่างกันอย่างไร ไขข้อข้องใจ พร้อมวิธีรักษาฝีเบื้องต้น

          สิวกับฝีต่างกันอย่างไร ตามมาไขข้อข้องใจกันเลย สาว ๆ ที่กำลังคิดว่าตอนนี้ตัวเองเป็น สิว หรือ ฝี บอกเลยว่าไม่ควรพลาด เพราะเรามีความรู้เรื่องสิวและฝี พร้อมวิธีรักษามาฝาก

วิธีรักษาสิว

          เมื่อมีตุ่มแดงขึ้นตามใบหน้า หรือร่างกาย หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นแค่สิวธรรมดา ๆ แค่ใช้วิธีรักษาสิวด้วยการทายา หรือบีบหนองออกก็คงหาย แต่รู้หรือไม่ว่าตุ่มแดงนั้นอาจเป็นสัญญาณของการเกิดฝี ซึ่งบอกเลยว่ามีความรุนแรงกว่าสิวปกติทั่วไปหลายเท่า และเชื่อว่ายังมีหลายคนที่แยกไม่ออกว่าเวลามีตุ่มเล็ก ๆ แดง ๆ ขึ้นบนใบหน้าหรือตามร่างกายนั้น แท้จริงแล้วมันคือสิวหรือฝีกันแน่ เพราะดูผิวเผินแล้วทั้งสองอย่างช่างดูคล้ายกันเหลือเกิน แล้วอย่างนี้เราจะแยกออกได้อย่างไร เอาเป็นว่าใครที่กำลังสงสัยและกังวลใจเรื่องนี้อยู่ วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลมาฝากกันแล้วค่ะ

สิวกับฝีต่างกันอย่างไร

          "สิว" เกิดขึ้นจากการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณรูขุมขน เมื่อมีการอุดตันจึงเกิดเป็นสิวขึ้นมา เช่น สิวหัวขาว หรือสิวหัวดำ ทั้งนี้ หากบริเวณรูขุมขนที่อุดตันนั้นมีการติดเชื้อแบคทีเรียก็จะทำให้เกิดการอักเสบ กลายเป็นสิวอักเสบขึ้นมา โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนองเม็ดเล็ก ๆ ไม่ใหญ่มาก เป็นต้น

          ส่วน "ฝี" นั้น เกิดขึ้นจากการอักเสบและติดเชื้อ มักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต โดยจะมีลักษณะเป็นตุ่มที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของหนองอยู่บริเวณใต้ผิวหนัง และจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน และตุ่มจะโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อหนองแตกหรือมีการเอาหนองออกแล้วอาการเจ็บปวดถึงจะทุเลาลง

          แม้ว่าสิวและฝีจะมีลักษณะที่คล้ายกันก็จริงอยู่ แต่ถ้าสังเกตให้ดี ฝีจะมีลักษณะของตุ่มที่ใหญ่กว่าสิว โดยทั่วไปแล้วฝีมักจะมีขนาดเท่าเม็ดถั่วไปจนถึงลูกกอล์ฟ และจะมีอาการปวดระบมมากกว่า ทั้งนี้ ถ้าเป็นสิวจะสามารถหายได้เองและใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าเป็นฝีอาการบวมแดงจะเกิดขึ้นหลายวัน รวมถึงอาการเจ็บบวมก็จะไม่ลดลงจนกว่าจะได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งฝีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ลำตัว แขน ขา ใต้รักแร้ หรือก้น ส่วนสิวจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีต่อมไขมันเท่านั้น อย่างเช่น ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก และแผ่นหลัง เป็นต้น แต่ถ้าหากสิวมีการอักเสบมาก ๆ ก็อาจจะพัฒนากลายเป็นฝีได้เช่นเดียวกัน

วิธีรักษาสิว

วิธีรักษาฝี

          - สำหรับวิธีรักษาฝี เบื้องต้นให้ใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ชุบน้ำอุ่น แล้วนำมาประคบหัวฝีประมาณ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง วิธีนี้จะเร่งให้ฝีแตกเร็วขึ้น และจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะและทายาที่หัวฝีเพื่อฆ่าเชื้อโรค

          - หากมีอาการปวดแนะนำให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)

          - แต่ถ้าหากเป็นฝีใหญ่มีหนอง จะต้องไปพบแพทย์เพื่อผ่าตัดเอาหัวฝีและหนองออก และรับประทานยาแก้อักเสบร่วมด้วย ซึ่งในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ และควรหมั่นทำความสะอาดแผลอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะแห้ง เพื่อป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อ

           - ในกรณีที่เป็นฝีแล้วมีไข้ร่วมด้วยอาจจะต้องใช้วิธีรักษาโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ เพราะอาการนี้แสดงว่าเชื้อของฝีกำลังกระจายเข้าสู่กระแสเลือดนั่นเองค่ะ

          - ห้ามบีบฝีเองโดยเด็ดขาด ! โดยเฉพาะฝีที่เกิดขึ้นบริเวณกลางใบหน้า เพราะจะทำให้เชื้อกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ได้

          - พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นรักษาสุขอนามัยของผิวหนังตามปกติ โดยใช้สบู่ทำความสะอาดเมื่ออาบน้ำ ซึ่งอาจใช้สบู่อ่อนที่มีส่วนผสมยาฆ่าเชื้อ รวมถึงล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหรือไปยังคนใกล้ชิด

          - รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผลไม้จำพวกเบอร์รี และอาหารที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย พร้อมดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          - เมื่อหนองแตก ควรทำแผลอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง ด้วยอุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด

วิธีรักษาสิว

วิธีป้องกันการเกิดฝี

          - รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์, ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น

          - หมั่นรักษาความสะอาดของผิวหนังอยู่เสมอ โดยการอาบน้ำฟอกสบู่วันละ 2 ครั้ง และล้างมือบ่อย ๆ ระหว่างวัน

          - ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

          - สวมเสื้อผ้าที่สะอาด หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าซ้ำ ๆ หรือเสื้อผ้าที่มีความอับชื้น

          ทีนี้สาว ๆ ก็คงจะแยกระหว่างสิวกับฝีออกแล้วใช่ไหมล่ะคะ แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่แน่ใจละก็ แนะนำอย่าบีบสิวหรือฝีเอง ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อวินิจฉัยและทำการรักษาจะดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายและจะได้ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียโฉมอย่างไรล่ะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : medthai.com, ยูทูบดอทคอม RAMA CHANNEL

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิวกับฝีต่างกันอย่างไร ไขข้อข้องใจ พร้อมวิธีรักษาฝีเบื้องต้น อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2563 เวลา 16:50:07 64,007 อ่าน
TOP