x close

เล่นได้เล่นดี ตั้งแต่แรกเกิด

baby

เล่นได้เล่นดี (modernmom)

             อ๊ะ...เห็นลูกน้อยตัวแดง ๆ แบบนี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าเผลอคิดเชียวนะว่า เจ้าตัวน้อยทำอะไรไม่ได้ นอกจากกินกับนอน เพราะภารกิจสำคัญเพื่อการเติบโตอีกอย่างหนึ่งก็คือ "การเล่น" ค่ะ

             "การเล่น" นับเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมด้วยช่วยเสริม กระบวนการเรียนรู้แก่ลูกน้อยได้ไม่ยาก และเป็นธรรมชาติที่สุด นั่นเพราะ "ของเล่น" ชิ้นโปรดของลูกก็คือ "พ่อแม่" ยังไงล่ะคะ...ตามดูกันค่ะ ว่าคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกน้อยด้วยการเล่นได้อย่างไรบ้าง

1 Month

             เด็กวัยนี้จะมีช่วงเวลาตื่นราวสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีค่าที่สุด สำหรับการสร้างสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูก และมีความหมายต่อพัฒนาการของลูก ลูกวัยนี้จะชอบมองหน้าคน หรือสิ่งของที่มีสีสันสว่างสดใสและขนาดรูปทรงที่แตกต่างกัน ยิ่งถ้าเคลื่อนสิ่งของเข้ามาใกล้อาจมองตามได้ และแสดงท่าทีตื่นเต้นเมื่อเห็นของเล่นหรือใบหน้าคนในระยะ 8-10 นิ้ว

             พ่อแม่ช่วยได้ : ลูกจะรู้สึกไวต่อการสัมผัสทางกาย โดยเฉพาะไออุ่นจากอ้อมกอดแม่มากที่สุด การอุ้ม โอบกอดของแม่ จึงสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของลูก

             ของเล่น : ร่างกายพ่อแม่ โมบายล์ปลาตะเพียนแขวน

2 Month

             วัยนี้เริ่มมีช่วงเวลาตื่นเพื่อเล่นได้นานขึ้นกว่าเดือนก่อนแล้ว แถมความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย ก็ทำได้นุ่มนวลขึ้นด้วย โดยเฉพาะมือน้อยๆ ที่สามารถจับถือของได้นานราว 2-3 นาที ใช้สายตาได้ดี ในระยะ 7-8 นิ้ว แต่ถ้าเป็นของเล่นสีสดใส จะสามารถมองตามได้แม้จะอยู่ไกลออกไป และชอบมองหน้าคนมากกว่าวัตถุ ที่สำคัญคือ ลูกเริ่มสนใจฟังเสียงต่าง ๆ บ้างแล้ว

             พ่อแม่ช่วยได้ : คุณแม่อาจซื้อกระดิ่งหรือกระพวนผูกติดกับข้อมือข้อเท้า ซึ่งลูกจะชอบและจะเคลื่อนไหวบ่อยๆ เพื่อช่วยพัฒนากล้ามเนื้ออีกทาง

             ของเล่น : เสียงของพ่อแม่ โมบายล์ ปลาตะเพียนแขวน ของเล่นสีสันสดใส หนังสือนุ่มนิ่ม

3 Month

             ลูกวัยนี้มักจะชอบเล่นกับมือตัวเอง ทั้งจับทั้งดึง บางทีก็เอาเข้าปาก ไปจนเอื้อม คว้า ตี หยิบข้าวของ นั่นเพราะประสาทตาของลูกเริ่มโฟกัสภาพได้ชัดขึ้น และมือที่มีนิ้วขยับไปมาก็ดึงดูดใจไม่น้อย นอกจากนี้ยังชอบของเล่นที่กระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น ของเล่นที่มีสีสันสดใส ชอบมองการเคลื่อนไหว ชอบจับสัมผัส ชอบฟังเพลงหรือเสียงต่างๆ และชอบมองหน้าสบตาคนเป็นที่สุด

             พ่อแม่ช่วยได้ : คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นของเล่นที่ดีที่สุด ที่จะตอบสนองและช่วยกระตุ้นปราสาทสัมผัสเหล่านี้แก่ลูกได้ โดยการอยู่ใกล้ชิด พูดคุย อ่านนิทาน ร้องเพลง และเล่นกับลูก

             ของเล่น : โมบายล์ ของเล่นที่เขย่ามีเสียง ของเล่นที่มีผิวสัมผัสแตกต่าง

4 Month

             ลูกวัยนี้ชอบนอนพลิกคว่ำพลิกหงายไปมา ใช้มือได้ดีขึ้น การมองเห็นใกล้เคียงผู้ใหญ่แล้ว สนใจรายละเอียดของสิ่งต่างๆ มักหยุดฟังเสียงดนตรี ชอบตบมือ สนใจมอง และยิ้มให้ตัวเอในกระจก ชอบเล่นของเล่น

             พ่อแม่ช่วยได้ : เด็กวัยนี้ชอบเอาสิ่งของเข้าปาก จึงควรหายางกัดให้ลูกถือกัดเล่นจะปลอดภัยกว่า

             ของเล่น : ของเล่นที่เขย่า กด บีบ ตีแล้วมีเสียง หนังสือนุ่มนิ่ม ลูกบอล หลากสี ยางกัดรูปต่างๆ

5 Month

             ลูกวัยนี้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น นั่งพิงอะไรได้นาน ชอบจับ ถือ และชิมสิ่งของเขย่าของได้ทั้งสองมือ และชอบถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้ สายตาทำงานประสานกับมือได้ดี

             พ่อแม่ช่วยได้ : หาของเล่นที่มีขนาดเหมาะมือ ไม่เล็กไป น้ำหนักเบาปลอดภัย ล้างทำความสะอาดง่าย เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะในการใช้มือและตาประสานกัน

             ของเล่น : ของเล่นที่เขย่า กด บีบ ตีแล้วมีเสียง หนังสือ ลูกบอลหลากสี ยางกัดรูปต่างๆ กระจกเงา

6 Month

             วัยนี้พลิกคว่ำพลิกหงายได้คล่องและนั่งได้ดีขึ้น ชอบส่งเสียงคุย ชอบฟังเสียงแหลมเล็กของผู้หญิงมากกว่าเสียงทุ้มของผู้ชาย รู้จักสำรวจสิ่งของรอบตัวและสังเกตความลึกของสิ่งของ เช่น ถ้วยกล่องต่างๆ ชอบปล่อยของลงพื้น ชอบยิ้มให้กับเงาในกระจก ชอบเล่นกับคน โดยเฉพาะเมื่อมีเกม

             พ่อแม่ช่วยได้ : จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเล่น (อย่างปลอดภัย) พูดคุย เล่นกับลูก ชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆ รอบตัว อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เล่นจับปูดำ หรือจ๊ะเอ๋

             ของเล่น : กล่อง ภาชนะทรงกระบอกที่มีมิติของความลึก หนังสือนุ่มนิ่ม ลูกบอลหลากสี

7 Month

             วัยนี้สามารถคืบและนั่งได้นาน ชอบหยิบของเล่นมากระทบกัน ชอบของเล่นมีเสียง พยายามเลียนแบบเสียง ชอบคลานเข้าไปเล่นกับกระจก สำรวจร่างกายของตัวเองด้วยปาก

             พ่อแม่ช่วยได้ : ลูกเริ่มเชื่อมโยงความคิดได้ดีขึ้น คุณแม่อาจชี้ชวนให้ลูกดูภาพต่างๆ ในหนังสือ หรือสำรวจสิ่งรอบตัว เช่น นกบนต้นไม้ ปลาอยู่ในน้ำ แมวร้องเหมียวๆ

             ของเล่น : ของเล่นที่นำมากระทบกันแล้วไม่แตก ของเล่นมีเสียง ของเล่นที่มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกัน ลูกบอลหลากสี กระจกเงา บล็อกไม้ หนังสือนุ่มนิ่ม

8 Month

             เด็กบางคนคลานได้แล้วในเดือนนี้ และบางคนสามารถเกาะเครื่องเรือนและดึงตัวขึ้นยืนได้ด้วย ใช้นิ้วได้ดีขึ้น พยายามหยิบสิ่งของชิ้นเล็กๆ ถือของเล่นเขย่าได้นานอย่างน้อย 3 นาที ชอบหยิบของใส่เข้าใส่ออกภาชนะ หาของที่ซ่อนไว้ได้ รู้จักแยกแยะความแตกต่าง ชอบเล่น

             พ่อแม่ช่วยได้ : อ่านหนังสือด้วยกัน กับลูก ร้องเพลง ปรบมือ เล่นซ่อนหาของเล่นจ๊ะเอ๋

             ของเล่น : กล่อง บล็อกไม้ ลูกบอลหลากสี หนังสือ ตุ๊กตา ฯลฯ

9 Month

             วัยนี้ชอบปืนขึ้นบันไดมาก คุณแม่ควรสอนให้ลูกหัดลงอย่างถูกวิธี โดยการถอยหลังลงด้วย นอกจากนี้ยังชอบตบมือหรือจับของตีกระทบกันและเริ่มใช้นิ้วชี้ ชี้ แคะ และแหย่รู เริ่มต่อบล็อกได้ 2 ชั้น ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ และเริ่มแสดงความเป็นเจ้าของ

             พ่อแม่ช่วยได้ : ชวนลูกร้องเพลง ทำท่าทางประกอบ เช่น นิ้วโป้งอยู่ไหน เป็นต้น เล่นเกมซ่อนหาของ เกมสิ่งนี้เรียกว่าอะไร (ชี้ที่สิ่งของ ถามลูกว่านี่เรียกว่าอะไร แล้วบอกชื่อที่ถูกเพื่อลูกได้จดจำ)

             ของเล่น : บล็อกไม้ หนังสือ ลูกบอลหลากสี ตุ๊กตา

10 Month

             วัยนี้เริ่มลุกขึ้นยืนและเกาะเดินได้แล้ว และจะชอบปืนขึ้นลงเก้าอี้ เลียนแบบท่าทางได้มากขึ้น เช่น การเขียนหนังสือ เป็นต้น ชี้บอกอวัยวะได้ ชอบสำรวจและทดสอบวัตถุสิ่งของโดยการเคาะ ปล่อยให้ตก ใส่เข้าใส่ออก

             พ่อแม่ช่วยได้ : ลองหาของเล่นที่จะช่วยให้ลูกหยิบจับ เพื่อฝึกพัฒนาการของกล้ามเนื้อนิ้วมือ เช่น กระดาษ ดินสอสีให้ลูกได้หัดขีดเขียนก็ได้ค่ะ

             ของเล่น : บล็อกไม้ กระดาษ ดินสอสี ตุ๊กตา

11 Month

             ลูกวัยนี้ไม่ค่อยอยู่นิ่ง ชอบจับดินสอขีดๆ เขียนๆ บนกระดาษ ชอบจับของเล่น ใส่เข้าใส่ออกกล่อง สนใจดูรูปภาพในหนังสือเลียนแบบการเคลื่อนไหวของผู้ใหญ่และเด็กอื่นๆ เข้าใจและลำดับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันได้แล้ว

             พ่อแม่ช่วยได้ : หาหนังสือที่มีรูปภาพแปลกๆ ชี้ชวนให้ลูกดูภาพต่างๆ

             ของเล่น : บล็อกไม้ กระดาษ ดินสอ สี ตุ๊กตา กระจกเงา กล่อง ขวด หรือภาชนะที่เปิดปิดได้ ฯลฯ

12 Month

             ชอบจับแยกของจากกันและแกะห่อของเล่นเรียนรู้เรื่องการแทนที่ การหมุน การกลับหัวท้ายสิ่งของ จำเหตุการณ์ได้มากและนานขึ้น เลียนแบบได้ดี สามารถแยกของเล่นตามสีและรูปร่าง เล่นเกมอย่างเข้าใจมากขึ้น

             พ่อแม่ช่วยได้ : ลูกชอบเล่นเลียนแบบท่าทาง จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เช่น ดื่มนมจากถ้วยด้วยตัวเอง ตักอาหารเข้าปากเอง เป็นต้น

             ของเล่น : บล็อกไม้ กระดาษ ดินสอ สี ของเล่นที่แยกสีและรูปทรงต่างๆ ของเล่นที่สามารถแกะแยกชิ้นได้ เช่น บล็อกต่อ เลโก้ เป็นต้น

เลือกของเล่นให้ลูกรักด้วย หลัก 4 ป.

         ปลอดภัย อาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะที่ไม่มีอันตรายเกี่ยวกับผิว สัมผัสที่แหลมคมหรือมีชิ้นส่วนที่หลุดหรือแตกหักง่าย ตลอดจนทำด้วยวัสดุที่ไม่มีพิษมีภัยต่อเด็ก

         ประโยชน์ ของเล่นที่ดีควรช่วยเร้าความสนใจของเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีสีสันสวยงามสะดุดตาเด็ก มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กใช้ความคิดและจินตนาการ ช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อการเคลื่อนไหว

         ประสิทธิภาพ ควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุและความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก ของเล่นที่ยากเกินไป จะบั่นทอนความสนใจในการเล่นของเด็ก และทำให้เด็กรู้สึกท้อถอยได้ง่าย ส่วนของเล่นที่ง่ายเกินไปก็ทำให้เด็กเบื่อไม่อยากเล่นได้

         ประหยัด ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องราคาแพงเสมอไป

             ด้วยประการฉะนี้ ประสบการณ์ที่ลูก ๆ จะได้รับจากากรเล่น จึงเป็นรากฐานสำคัญ สู่การเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเขาเติบโตขึ้น...อย่างมิต้องสงสัย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.177 กรกฎาคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่นได้เล่นดี ตั้งแต่แรกเกิด อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2553 เวลา 15:32:06
TOP