x close

ลูกละเมอบ่อย ๆ ปล่อยไว้จะดีหรือ

นอนละเมอ

ลูกละเมอบ่อย ๆ ปล่อยไว้จะดีหรือ
(M&C แม่และเด็ก)

             การนอนละเมอ ในเด็กทารกสามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ โดยการนอนละเมอของเด็ก เป็นอาการที่แสดงออกในช่วงที่นอนหลับโดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กอาจจะลุกขึ้นมาร้องไห้ หัวเราะ เป็นต้น ซึ่งการนอนละเมอนั้น ไม่ใช่พฤติกรรมที่มีอันตรายร้ายแรงหรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่ทว่าการนอนละเมอหรือนอนหลับไม่สนิทนั้น อาจจะส่งผลเสีย คือ เด็กนอนไม่พอ หรือเกิดภาวะรบกวนทางด้านจิตใจ ดังนั้น คุณแม่ควรเฝ้าสังเกตการนอนของลูกน้อยว่า เขานอนหลับสนิทหรือมีอาการละเมอ

แบบไหนจึงเรียกว่านอนละเมอ

             หลังจากที่เข้านอนเรียบร้อยแล้ว เด็กจะหลับสนิทเป็นเวลานานก่อนที่จะร้องไห้ เพราะหิว แต่เด็กที่นอนละเมอนั้นต่างจากการร้องทั่วไป คือ เด็กบางคนร้องไห้ สลับกับการยิ้มและหัวเราะเป็นเวลาไม่กี่นาที หรือเด็กบางคนอาจจะเป็นร่วมชั่วโมงได้ค่ะ แล้วก็หยุดไปเอง

             บางคนอาจจะละเมอด้วยการส่งเสียงร้องเบาๆ ส่งเสียงคลอเคลีย หรืออาจถึงขั้นกรีดร้องเสียงดัง แล้วก็หยุดไปเอง เป็นอาการที่แสดงออกเพียงพักเดียวเท่านั้น แต่พ่อแม่บางท่านอาจจะวิตกกังวลได้

             เด็กบางคนลุกขึ้นมาเอาฟาดแขน ฟาดขากับเตียง นั่งยิ้ม ตาเหม่อลอยโดยไม่มีจุดหมาย เด็กบางคนอาจจะมีเหงื่ออกมากตามตัวด้วย

             จะเห็นได้ว่าการนอนละเมอของเด็ก อาจจะพบได้เพียงเวลาสั้น ๆ และเด็กแต่ละคนก็มีอาการที่แตกต่างกัน พ่อแม่บางคนอาจจะไม่สังเกตเห็นความผิดปกติของลูก ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงขณะหลับ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นมาทำกิจกรรมของเด็กทารก  หรือที่เรียกว่าอาการนอนละเมอในเด็กนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก และภายในร่างกายของเด็กเอง อาจจะเป็นไปได้ว่าลูกน้อยได้รับการกระตุ้นมากไปในช่วงเวลากลางวัน

พ่อแม่ควรช่วยอย่างไรเมื่อลูกละเมอ

             icon 1. ไม่ควรตกใจเมื่อพบว่าลูกมีอาการดังที่กล่าวมา เพราะหากเป็นการแสดงพฤติกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ก็ไม่เป็นอันตราย ดังนั้น เมื่อลูกแสดงอาการดังกล่าว ให้พ่อแม่พยายามปลุกลูกให้ตื่น แล้วเข้าไปปลอบ หรือโอบกอด เพื่อให้ความอบอุ่นและคลายความกังวลกับลูกค่ะ

             icon 2. พยายามอย่ากระตุ้นลูกมากจนเกินไปในเวลากลางวัน งดการเล่นที่หวาดเสียวหรือการเล่นที่รุนแรง เพราะการถูกกระตุ้นแรงๆ อาจจะส่งผลให้ลูกมีอาการตกใจและนอนละเมอในตอนกลางคืนได้ค่ะ

             icon 3. เวลาว่างอาจจะนวดตามตัว ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลูก เพื่อเป็นการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดอาการตึงเครียดได้บ้างค่ะ

             icon 4. พยายามหากิจกรรมที่เบา ๆ และสร้างสรรค์ ที่เห็นว่าเหมาะสมกับเด็กวัยนี้ค่ะ เช่น เล่านิทานที่มีเนื้อหาไม่ซับซ้อน ให้เขาฟังแพลงที่มีท่วงทำนองที่ผ่อนคลายสบายๆ ค่ะ

             icon 5. ห้องนอนของลูกควรที่จะมีบรรยากาศที่ดี เงียบสงัด มีแสงไฟที่สลัวๆ ซึ่งอาจจะช่วยให้ลูกหลับสบาย และหลับสนิท อาการละเมออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ค่ะ

             icon 6. ลดการนอนกลางวันลง เพื่อที่จะให้เด็กรู้สึกอ่อนเพลีย และนอนกลางคืนยาวขึ้น เพราะเด็กที่นอนกลางวันมากไป มักจะสับสนในตอนกลางคืนและไม่ยอมนอน ลุกขึ้นมาเล่นได้ค่ะ

             icon 7. พยายามเฝ้าสังเกตการนอนของลูก ค่ะว่ามีอาการละเมอติดต่อกันเป็นเวลานานเท่าไหร่ มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่นอาการชัก กระตุก ซึ่งหากเป็นอย่างที่กล่าวมา ควรที่จะพาลูกไปพบแพทย์นะคะ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นอันตรายได้ค่ะ

             อาการนอนละเมอในเด็กทารก อาจไม่ใช่ปัญหาที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามมาได้ ทางที่ดีควรป้องกันหรือหาทางแก้ และที่สำคัญ อย่าลืมให้ลูกรับประทานอาหารที่เหมาะสม และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ให้ลูกด้วยค่ะ

คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกละเมอบ่อย ๆ ปล่อยไว้จะดีหรือ อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2553 เวลา 16:03:24 5,274 อ่าน
TOP