x close

จะเป็นอย่างไรถ้าคู่สมรสไม่ยอมหย่า

หย่าร้าง

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระุปุกดอทคอม

          การหย่าร้าง หมายถึง การสิ้นสุดของชีวิตคู่ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ หรือมีเหตุผลทางสังคมอย่างอื่น ซึ่งสามารถกระทำได้โดยไปจดทะเบียนหย่าที่กฎหมายระบุ ซึ่งการหย่าร้างของคู่สมรส ของคู่จดทะเบียนสมรสมี 2 แบบ คือ การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย และ การหย่าโดยการฟ้องหย่า

          กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจกันโดยไปที่ที่ว่าการอำเภอ หรือทำเป็นหนังสือให้ความยินยอมและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งเอกสารที่ต้องนำไปด้วยคือ บัตรประชาชนของทั้งสองฝ่าย และ ใบสำคัญการสมรส แต่กรณีคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สมัครใจที่จะหย่า ท่านจะต้องยื่นมูลฟ้องต่อศาล โดยการดำเนินการหย่าในกรณีนี้ ตามระเบียบการดำเนินการหย่าแล้ว ฝ่ายที่ฟ้องจะต้องอ้างมูลเหตุในการหย่าและต้องมาแสดงตัวต่อศาลด้วยตนเอง

แต่งงาน

          โดยทั่วไปแล้วมูลเหตุในการหย่าในประเทศไทย มีดังนี้...

          1. สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและ ความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          3. สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี ฟ้องหย่าได้
 
          5. สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิด การกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็น เป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          6.สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามี ภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          7. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          8. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          9. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          10. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          11. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง และโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

          12. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

          อย่างไรก็ตาม การฟ้องหย่า ฝ่ายที่เสียหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนด้วย และสุดท้ายก็คือการแบ่งสินสมรส กฎหมายบอกว่าให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่า ๆ กัน ถ้าฝ่ายหนึ่งเอาสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งไปจำหน่ายเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว หรือทำให้อีกฝ่ายเสียหาย หรือไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง จงใจทำลายให้สูญไป ฝ่ายที่ได้จำหน่ายของเขาไป ต้องเอาส่วนของตนชดเชยใช้ให้จนครบ


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความ คิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
jarataccountingandlaw.com และ miracleconsultant.co.th 




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จะเป็นอย่างไรถ้าคู่สมรสไม่ยอมหย่า อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2553 เวลา 14:22:14 9,531 อ่าน
TOP