x close

“ แม่จ๋า...แม่จ๋า หนูจะไปโรงเรียนอนุบาล”



 “ แม่จ๋า...แม่จ๋า หนูจะไปโรงเรียนอนุบาล” (Lisa)

          จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเราพร้อมแล้วที่จะอยู่ห่างและแยกกับพ่อแม่เพื่อเข้าเนิร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาล ไม่ง่ายเลยสำหรับคุณแม่ที่ไม่เคยอยู่ห่างลูกมาตั้งแต่เขาเกิด จนกระทั่งวันหนึ่งก็ถึงเวลาที่เขาต้องไกลจากบ้าน จากอ้อมอกแม่เพื่อไปอยู่ในสังคมข้างนอกเป็นเวลาวันละหลายๆ ชั่วโมง

          พ่อแม่ทุกคนย่อมอยากเห็นลูกเล็กเติบโต แต่คุณอาจรู้สึกราวกับว่าเร็วเกินไป และมักเกิดคำถามประเภทว่า “ฉันกำลังทำถูกหรือเปล่า” หรือ “เขาโตพอแล้วแน่นะ” อยู่เสมอๆ ถ้าคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มพ่อแม่ที่กังวลเกี่ยวกับการที่ต้องแยกจากกันเช่นนี้ เราก็มีคำแนะนำเพื่อตรวจสอบความพร้อมของลูก (และของคุณพ่อคุณแม่) มาฝาก

           เมื่อไหร่ที่คุณแม่พร้อม

          การที่คุณจะประสบความสำเร็จในการเห็นลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลได้อย่างมั่นใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ และพัฒนาการของลูกน้อยแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น พ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญในกรณีนี้เช่นกัน

          เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียนอนุบาล บางครั้งคุณพ่อคุณแม่มีความลำบากใจในการแยกกับลูกน้อยอายุ 2 ขวบ 3 ขวบ หรือ 4 ขวบ เป็นครั้งแรก ยิ่งหากคุณยังไม่เคยชินกับการแยกจากลูกเล็กๆ วันละหลายชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงสูงที่คุณจะสร้างปัญหาให้กับคุณครูของเด็กๆ (โดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง)

          ดังนั้น เพื่อความเตรียมพร้อมของคุณแม่ในเรื่องนี้ คุณสามารถฝึกฝนตัวเองให้ผ่อนคลายจากความกังวลได้ ด้วยการหาพี่เลี้ยงเด็กหรือหาคนมาดูแลลูก (เช่น คุณย่า คุณยาย พี่ป้าน้าอา) สักวันละประมาณ 15 นาที จนถึงครึ่งชั่วโมงก่อน แล้วค่อยๆ ขยายเวลาเป็น 1 ชั่วโมง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จากนั้นก็เพิ่มเวลาเป็น สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง

          ในขณะที่คุณแยกจากลูก คุณก็ควรหาอะไรทำเพื่อจะเบี่ยงเบนความคิดเกี่ยวกับลูกออกไป เช่น ไปชอปปิ้ง ทำธุระ อ่านหนังสือ ดูทีวี บริหารร่างกาย ทำงานบ้าน หรือโทรคุยกับเพื่อนโดยไม่พูดถึงเรื่องลูกตัวเอง และหากคุณทำได้เสมอต้นเสมอปลาย (ประมาณ 3-4 อาทิตย์) คุณก็จะแปลกใจว่ามันช่างรวดเร็วเหลือเกินที่คุณสามารถทำใจผ่านข้ามความกังวลนั้นมาได้อย่างง่ายดาย

           เมื่อไหร่ที่ลูกพร้อม

          สัญญาณที่จะบอกว่าเด็ก ๆ พร้อมแล้วที่จะแยกจากพ่อแม่ไปเนิร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาลก็คือ การที่เขาสามารถนั่งเล่นคนเดียวได้ หรือปล่อยเขาให้อยู่กับผู้ใหญ่คนอื่นได้หลายๆ ชั่วโมง

          ในทางกลับกันถ้าเขาเป็นเด็กติดแม่ ร้องไห้งอแงอยู่เสมอๆ ก็ย่อมแสดงว่าเขายังไม่พร้อมที่จะเข้าเนิร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาล ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าทางโรงเรียนย่อมคาดหวังว่าเด็กๆ จะมีพัฒนาการอย่างน้อยก็สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น รู้จักขับถ่ายในห้องน้ำได้ ใส่เสื้อติดกระดุมเป็น หรือมีพัฒนาการด้านอื่นๆ ที่จะใช้ชี้วัดถึงความพร้อมของเด็ก ซึ่งหากลูกคุณยังไม่พร้อมในเรื่องเหล่านี้ คุณก็อาจจะรออย่างน้อยสักประมาณหกเดือนหรือหนึ่งปีก่อนที่จะส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล

          วิธีการหนึ่งที่จะบอกว่าลูกพร้อมหรือไม่ก็คือ การสังเกตเมื่อเขาอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ คุณอาจพาเข้ากลุ่มเพื่อนเล่น เพื่อดูว่าเขามีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่ออยู่กับคนอื่น โดยอาจลองให้เขาอยู่กับกลุ่มเด็กที่เล็กกว่าว่า เขามีความสะดวกสบายใจและสนุกกับการอยู่ในกลุ่มไหนมากกว่ากัน วิธีนี้จะทำให้คุณมองเห็นภาพถึงความไม่พร้อมของลูกคุณได้คือ ถ้าเขาชอบที่จะอยู่กับกลุ่มเด็กที่เล็กกว่าก็หมายความว่าคุณควรเลื่อนเวลาในการส่งลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลออกไปก่อน และจำไว้เสมอว่าเด็กสามารถจับความรู้สึกได้จากทั้งคำพูด หรือสิ่งที่พ่อแม่ไม่ได้พูดออกมา ยิ่งคุณผ่อนคลายและไม่รีบเร่งตั้งแต่เริ่มต้น มันก็จะยิ่งง่ายขึ้นสำหรับเขาในการไปโรงเรียนอนุบาล






ขอขอบคุณข้อมูลจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
“ แม่จ๋า...แม่จ๋า หนูจะไปโรงเรียนอนุบาล” อัปเดตล่าสุด 30 กรกฎาคม 2552 เวลา 16:28:23
TOP