x close

สหรัฐฯ ชี้ศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีผลต่อโรคมะเร็งชนิดรักษายาก เสียชีวิตแล้ว 9 ราย

สหรัฐฯ ชี้ศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีผลต่อโรคมะเร็งชนิดรักษายาก

          องค์การสหรัฐอเมริกา เผยผลวิจัยการแพทย์ ชี้ศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลต่อโรคมะเร็งชนิดหายากและรักษายาก เผยผู้ป่วยหญิงใน 359 ราย เสียชีวิตแล้ว 9 ราย

          หลังจากเมื่อ 6 ปีก่อน ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับเรื่องการเสริมซิลิโคนมีส่วนเกี่ยวข้องส่งผลให้เกิดมะเร็งออกมาครั้งแรก หน่วยงานทางการแพทย์หลายประเทศก็มีการตื่นตัว พยายามศึกษาวิจัยถึงแนวทางความเชื่อมโยงดังกล่าว และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เว็บไซต์เดลี่เมล เปิดเผยรายงานว่า องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ของสหรัฐฯ ฉบับอัพเดท ระบุว่า การศัลยกรรมเสริมซิลิโคนหน้าอกนั้น ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดหายากและรักษายาก
          โดยจากรายงานระบุว่า มีสตรีที่ศัลยกรรมเสริมซิลิโคนหน้าอกจำนวน 359 ราย ยอมมาเปิดเผยข้อมูลกับทางคณะกรรมการหน่วยงาน ซึ่งพบข้อมูลว่า การศัลยกรรมเสริมซิลิโคนมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้พวกเธอเป็นโรค ALCL (large cell lymphoma) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหายากและรักษาให้หายขาดยาก และที่น่าเศร้าคือ ในจำนวนสตรีทั้ง 359 นี้ เสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9 รายด้วยกัน จากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

          สำหรับสหรัฐอเมริกา การเสริมหน้าอก นับเป็นการศัลยกรรมที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดาการศัลยกรรมทุกประเภท โดยเฉลี่ยแล้วมีการศัลยกรรมเสริมหน้าอกมากถึงปีละ 300,000 ราย โดยกว่า 99 เปอร์เซ็นต์เป็นการเสริมด้วยซิลิโคน ซึ่งตามกฎที่อนุญาตให้ใช้ได้มีเพียง 2 แบบ คือแบบเติมน้ำเกลือและซิลิโคนเจล ซึ่งมีทั้งแบบเรียบและแบบมีผิวสัมผัส อันมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป 

          โดยทาง FDA เผยว่า ผู้หญิงที่เสริมซิลิโคนหน้าอกมีอัตราความเสี่ยงต่อการเป็นโรค ALCL สูง เมื่อเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ผ่านการศัลยกรรมเสริมซิลิโคนหน้าอก โดยจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคดังกล่าวนี้ ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการเสริมซิลิโคนหน้าอกทั้งสิ้น ซึ่งวิธีการรักษาก็คือ การนำซิลิโคนเหล่านี้ออก ก่อนจะฝังแคปซูลรอบ ๆ จุดที่เสริมซิลิโคน และบางเคสจะต้องใช้วิธีการักษาด้วยเคมีบำบัดและการฉายรังสีเข้าช่วย

          นอกจากนี้ ยังมีนักวิจัยบางท่าน มีความเห็นว่า แบคทีเรียที่สะสมยู่ที่ด้านนอกของเปลือกหุ้มซิลิโคน เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกัน อันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็ง แต่ทั้งนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีการยืนยันแต่อย่างใด


ภาพจาก FDA




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สหรัฐฯ ชี้ศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีผลต่อโรคมะเร็งชนิดรักษายาก เสียชีวิตแล้ว 9 ราย โพสต์เมื่อ 24 มีนาคม 2560 เวลา 18:25:09 28,912 อ่าน
TOP