x close

เรอ..ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว !



เรอ..ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว !
(รักลูก)
โดย: ยาหยี

         ถ้าเจ้าตัวเล็กงอแงบ่อย หลับไม่ค่อยสนิท เดี๋ยวตื่น เดี๋ยวตื่น ลองสำรวจดูสิว่า เป็นเพราะคุณไม่ได้จับลูกเรอทุกครั้ง หลังมื้อนมหรือเปล่า ?

ใครที่คิดว่าการเรอเอิ้ก ๆ ของลูกไม่สำคัญ ทำบ้างไม่ทำบ้างก็ได้ คุณคิดผิดนะคะ โดยเฉพาะในวัยแรกเกิด-3 เดือน เพราะเวลาที่เจ้าตัวเล็กกินนม ไม่ว่าจะนมแม่หรือนมขวด ลูกไม่ได้กินนมอย่างเดียวค่ะ แต่กินลมเข้าไปด้วย กระเพาะลูกก็เล็กนี้ดเดียว แถมระบบการย่อยก็ยังทำงานไม่ดี พอมีอากาศเข้าไปในท้อง เลยไปสร้างความปั่นป่วนให้เจ้าตัวเล็ก ทำให้...

         สำรอก (คือการแหวะนมที่กินเข้าไปออกมานิดหน่อย ไมใช่อาเจียนนะคะ)

         ร้องกวนคุณแม่บ่อย ๆ

         นอนหลับไม่สนิท โดยปกติเด็กเล็กมักจะมีช่วงที่หลับยาว ๆ ถึง 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้ามีลมในท้องลูกจะตื่นเร็วขึ้นค่ะ

ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว

         วิธีไล่ลมก็คือการทำให้เจ้าตัวเล็กเรอ...เอิ้ก ออกมานั่นเอง ซึ่งพอลูกกินนมเสร็จก็ลงมือได้เลยค่ะ อาจใช้เวลาครั้งละ 5-10 นาที ส่วนมากไม่เกิน 5 นาที โดยมีท่าสบายๆ สำหรับไล่ลมอยู่ 2 ท่า

         1. อุ้มลูกพาดบ่า มือข้างหนึ่งของคุณแม่ค่อยๆ ลูบขึ้นลูบลงที่หลังลูก ทำซ้ำๆ จนได้ยินเสียงดังเอิ้ก แสดงว่าลมไปแล้ว

         2. อุ้มลูกนั่งบนตัก มือข้างหนึ่งของคุณแม่ประคองคอลูกไว้ ส่วนมืออีกข้างก็ลูบหลังลูก พอมีเสียงเรอปุ๊บ ลมก็หายปั๊บค่ะ

เรอบ้าง..ไม่เรอบ้าง..ไม่ดีนะ

         อย่าเห็นว่าลูกตื่นกลางดึก กินนมไปแป๊บเดียว หรือลูกกินเสร็จก็หลับไปแล้ว กลัวจะตื่น ก็เลยไม่จับลูกเรอก่อนให้นอน อย่างนี้ไม่ดีค่ะ

         คุณควรให้ลูกเรอทุกครั้งหลังกินนม แต่อาจปรับได้บ้างตามสไตล์ของเด็กค่ะ คือเด็กบางคนเลี้ยงง่าย ตื่นมากินนมตอนกลางคืนก็กินไม่เยอะ แล้วก็นอนหลับได้ทีละยาว ๆ การไม่ได้เรอบ้างก็ไม่เป็นไรค่ะ แต่ถ้าเป็นเด็กเลี้ยงยาก กินยาก นอนยาก แถมตื่นง่าย งอแงเก่งอีกต่างหาก แบบนี้ควรจับเรอทุกมื้อนมนะคะ เพราะการตื่นง่าย ร้องงอแง และหลับยากนั้น สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะมีลมในท้อง ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง

         อ้อ...แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าหลังกินนมลูกหลับไปแล้ว มาจับเรอเดี๋ยวลูกจะตื่นนะคะ เด็ก ๆ สามารถเรอออกมาได้ทั้ง ๆ ที่หลับอยู่ค่ะ

ป้องกันลมเข้า

         ไม่มีวิธีที่ป้องกันเจ้าตัวเล็กกินลมได้ 100% หรอกค่ะ แต่พอจะทำได้บ้างด้วยการ..

         1. ให้ลูกกินนมแม่ค่ะ การกินนมแม่จะช่วยลดการเอาลมเข้าปากได้มากกว่ากินนมจากขวด

         2. เดี๋ยวนี้มีขวดนมแบบที่สามารถกันลมเข้าได้ โดยจะเป็นขวดที่มีลักษณะโค้ง เมื่อลูกยกขวด น้ำนมในขวดจะไหลออกมากันอากาศเข้าค่ะ

         3. เวลาป้อนนมจากขวด เอาลูกเข้าอกเหมือนกับเวลาให้นมแม่นะคะ เพราะท่านี้ นอกจากน้ำนมจะเต็มขวดอยู่เสมอทำให้ลดการดูดอากาศของลูกได้แล้ว ยังให้ความรู้สึกอบอุ่น สานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกด้วย และอย่าปล่อยให้ลูกนอนแล้วยกขวดป้อนนมลูก เพราะท่านี้มีโอกาสที่ลูกจะดูดอากาศเข้าไปได้มากเลยค่ะ

ไล่ลม..เลิกได้เมื่อไหร่?

         คำตอบก็คือไม่ตายตัวค่ะ บางคนอาจจะยาวไปถึง 6-7 เดือน แต่ส่วนใหญ่ พอลูกเริ่มพลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องมาไล่ลมให้ลูกทุกมื้อนมแล้วล่ะค่ะ แต่ขอย้ำนะคะว่า ช่วง 0-3 เดือน คุณแม่ต้องไล่ลมให้ลูกหลังมื้อนมเสมอ

         เพียงเท่านี้ไม่ว่าจะลม นม หรือเรอ ก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำให้เจ้าตัวเล็กไม่งอแง หลับสบาย และมีสุขภาพดีแล้วล่ะค่ะ


     


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรอ..ไล่ลม..ชิ้ว..ชิ้ว ! อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2553 เวลา 14:58:30 5,477 อ่าน
TOP