x close

ช่วยด้วย! ลูกนิ้วล็อก

baby

ช่วยด้วย! ลูกนิ้วล็อก
(modernmom)
โดย: นพ.ปริยุทธ์ เจียรพัฒนาคม

           ผู้ใหญ่ทั้งหลายนิ้วล็อกเพราะหิ้วของหนักเกินไป หรือ chat BB มากเกินไป แต่ความจริงแล้วโรคนี้เด็กเล็ก ๆ ก็เป็นได้นะครับ

           คุณพ่อและคุณแม่พาน้องฝ้ายอายุ 9 เดือนไปหาคุณหมอ "คุณหมอครับ นิ้วโป้งลูกสาวผมงอครับ สงสัยถูกประตูหนีบเมื่อวานนี้" คุณพ่อบอกอาการด้วยความเป็นห่วง

           "น้องฝ้ายร้องไห้นานไหมครับตอนที่ถูกประตูหนีบ" คุณหมอถาม

           คุณพ่ออธิบายต่อว่า "ร้องอยู่แค่ไม่ถึงนาทีเลยครับ หลังจากนั้นก็เล่นซนเหมือนเดิม วันนี้เราเพิ่งสังเกตเห็นว่านิ้วงอ เพราะจะดูนิ้วลูกว่าหายแล้วหรือยัง แล้วยังคลำเจอปุ่มนูนๆ ที่โคนนิ้วด้วยครับ"

           คุณแม่เสริมว่า "พอลองดัดนิ้วออกให้ตรง น้องฝ้ายร้องไห้เสียงดังเลยคะ ดังกว่าเมื่อวานตอนที่ถูกประตูหนีบเสียอีก"

           "แล้วที่ลองดัดนิ้วดู นิ้วเหยียดออกได้ไหมครับ" คุณหมอขอข้อมูลเพิ่ม

           คุณแม่รีบตอบว่า "นิ้วเหยียดออกได้สักครู่แล้วก็กลับงอเข้าไปอีกคะ คราวนี้น้องฝ้ายไม่ยอมให้ใครมาแตะมือแกอีกเลยค่ะ"

           เมื่อหมอตรวจลักษณะนิ้วโป้งที่งอของน้องฝ้ายแล้ว สรุปได้ว่า น้องฝ้ายมีเอ็นหนาตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้นทำให้เหยียดนิ้วไม่ออก ลักษณะคล้ายโรคนิ้วล็อกในผู้ใหญ่ จึงอาจเรียกว่า "โรคนิ้วล็อกในเด็ก (congenital trigger thumb or digits in children)" ครับ

รู้จักนิ้วล็อก

           ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า เรากำลังคุยกันถึงโรคข้อนิ้วที่เหยียดไม่ออก เฉพาะข้อต้นของนิ้วเท่านั้น ซึ่งสำหรับนิ้วอื่นที่ไม่ใช่นิ้วโป้งก็คือ ข้อแรกนับจากโคนนิ้วขึ้นมาห่างจาก เล็บสองข้อ แต่ถ้าเป็นนิ้วโป้งก็คือข้อตรงกลางระหว่างเล็บกับโคนนิ้ว ไม่ใช่ข้อตรงโคนนิ้ว เพราะถ้าข้อที่โคนนิ้วโป้งพับเข้ามา โดยที่ตัวนิ้วโป้งเองไม่ได้งอ แต่จะมีลักษณะพับเข้าไปในมือ (thumb in palm) ก็จะเป็นโรคหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับโรคนิ้วล็อกที่เรากำลังคุยกันอยู่ครับ

           โรคนิ้วล็อกนี้ นิ้วที่พบงอบ่อยสุดคือนิ้วโป้ง ส่วนใหญ่มักเป็นในมือข้างเดียว แต่อาจพบที่มือทั้งสองข้างในเด็กคนเดียวกันได้ถึง 1 ใน 3 ของเด็กที่นิ้วล็อก

           เด็กที่มีนิ้วงอเหยียดไม่ออกหรือเหยียดออกยาก เป็นได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเป็นโรคที่เกี่ยวกับมือเพียงอย่างเดียว เช่น เอ็นมีการเจริญผิดปกติตั้งแต่เกิด โรคข้อยึด โรคเอ็นยึด หรือเอ็นบางเส้นขาดหายไป แต่หลายครั้งเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับนิ้วมือเลย เช่น โรคทางสมองบางชนิด โรคที่มีการสะสมของสารบางชนิดในร่างกายมากจนทำให้เอ็นบวมติด

           โรคนิ้วล็อกในเด็กที่จะคุยกันในครั้งนี้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นิ้วงอ ตำแหน่งของนิ้วที่มีอาการงอช่วยบอกได้ว่าสัมพันธ์กับโรคอะไรด้วย ถ้าเป็นที่นิ้วโป้ง ก็ค่อนข้างสบายใจได้ว่าเป็นแต่ตัวเอ็นที่นิ้วที่หนาตัวขึ้น และมักจะรักษาไม่ยาก แต่ถ้าเป็นที่นิ้วอื่นการรักษามักยากกว่า เพราะมักมีโรคอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการบวมของเอ็นร่วมด้วย นอกจากจะผิดปกติแบบที่นิ้วงอค้างแล้ว มีเหมือนกันที่เด็กบางคนจะแสดงอาการในทางตรงกันข้าม คือเอ็นที่หนาตัวขึ้นไปขวางให้งอนิ้วเหยียดค้างงอไม่ลง แต่ลักษณะแบบหลังนี้พบได้น้อย

           โดยทั่วไปในเบบี๋แรกเกิดนั้นจะกำมืออยู่เกือบตลอดเวลาอยู่หลายเดือน คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ยากว่าลูกเหยียดนิ้วไม่ออก การจะพิสูจน์ว่าลูกเป็นโรคนี้ตั้งแต่กำเนิดหรือเปล่า จึงเป็นเรื่องยาก ยกเว้นว่า เมื่อผ่าตัดเข้าไปแล้วพบเอ็นเจริญผิดปกติอย่างชัดเจนจึงใช้เป็นข้อ อธิบายเรื่องนี้ได้

           อย่างไรก็ตาม เด็กอายุน้อยสุดที่เคยมีการบันทึกไว้ว่านิ้วล็อก ได้รับการวินิจฉัยเมื่ออายุ 3 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่คุณพ่อคุณแม่จะเห็นความผิดปกติเมื่อลูกอายุ 6 เดือนไปแล้ว เพราะลูกจะเริ่มกางนิ้วเพื่อหยิบจับของต่าง ๆ มากขึ้น แต่เด็กบางคนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรู้ว่านิ้วลูกผิดปกติก็อายุ 2-3 ปีแล้ว ยิ่งในคนที่นิ้วงอไม่มากยิ่งสังเกตเห็นได้ยาก หมอเคยตรวจพบว่าเด็กเป็นโรคนี้ ขณะที่มาหาหมอด้วยโรคอื่น โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกนิ้วมีปัญหา

รีบรักษาก่อนนิ้วมีปัญหา

           อย่างกรณีของน้องฝ้าย เอ็นที่นิ้วอาจบวมจึงคลำได้เป็นก้อนบริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ คุณพ่อคุณแม่อาจพยายามนวด กดคลึง หรือดัดนิ้วลูกอยู่ระยะหนึ่งก่อนพามาพบคุณหมอ ซึ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี การนวดดัดอาจได้ผลและนิ้วเหยียดออกได้ชั่วคราว หรืออาจเหยียดออกได้ถาวร แต่การนวดนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าทำให้หายได้จริง แต่คุณหมอบางท่านอาจลองให้ใส่เฝือกดามนิ้วไว้ แต่มือเด็กมีขนาดเล็กมาก เฝือกมักจะหลุดบ่อย ดูแลยาก นิ้วจึงไม่หายงอ เพราะว่า ไม่มีการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า ได้ผลดีอย่างชัดเจน สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้รอดูอาการไปก่อน เพราะพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่นิ้วล็อกอาจหายเองได้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รักษาอะไรเลย

           แต่หากลูกอายุมากกว่า 1 ปีแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพามาหาคุณหมอ เพราะหากทิ้งไว้ไม่รักษาจนกระทั่งลูกอายุมากกว่า 3-4 ปี เมื่อตัดสินใจที่จะรักษาภายหลัง ผลการรักษาก็จะไม่ดี เพราะนิ้วที่งออยู่นานๆ เอ็นจะหดสั้นไม่ได้เจริญตามปกติ เมื่อรักษาแล้วนิ้วที่งออาจจะไม่สามารถเหยียดออกได้เต็มที่ และจะทำให้การหยิบจับสิ่งของชิ้นใหญ่ๆ ได้ยากเพราะมือใช้งานได้ไม่เต็มที่ครับ

           ในเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี การรักษาต้องใช้วิธีผ่าตัด แม้ว่าจะต้องดมยาสลบ แต่การผ่าตัดทำได้ไม่ยุ่งยาก และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แผลผ่าตัดก็ไม่ใหญ่มาก เมื่อหายแล้วมองเกือบไม่เห็นรอยแผลผ่าตัดเลย หลังผ่าตัดเด็กส่วนใหญ่จะไม่ร้องไห้งอแง เพราะไม่ค่อยเจ็บแผลมากนัก นิ้วบริเวณที่ผ่าตัดจะมีเส้นประสาทของนิ้ววางพาดอยู่ใกล้ ๆ เอ็น คุณหมอจะให้ความระวังเป็นพิเศษกับเส้นประสาทนี้ขณะที่ทำการผ่าตัด เพื่อไม่ให้เส้นประสาทบาดเจ็บ หลังผ่าตัด 1-2 สัปดาห์แผลหาย เด็กก็กลับไปใช้งานมือได้ดีตามปกติ

           เมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจอาการที่น้องฝ้ายเป็นก็สบายใจ และตัดสินใจว่าจะรอดูอาการของน้องฝ้ายต่อไปก่อนจนอายุครบ 1 ปีก่อน หากยังไม่หายหมอก็อาจต้องผ่าตัดนิ้วให้

           "หมอขอเอาใจช่วยให้น้องฝ้ายหายเองได้นะครับ" คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายและยิ้มให้กำลังใจ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ช่วยด้วย! ลูกนิ้วล็อก อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2553 เวลา 16:52:57 4,586 อ่าน
TOP