x close

รำลึก 46 ปี แห่งการจากไป...มิตร ชัยบัญชา




 มิตร ชัยบัญชา

มิตร ชัยบัญชา

          8 ตุลาคม รำลึก 46 ปี การจากไปของพระเอกหนังไทย มิตร ชัยบัญชา เจ้าตำนานอินทรีแดง ที่ยังอยู่ในหัวใจคอหนังไทยตลอดกาล 

          ยังอยู่ในใจของชาวไทยเสมอ สำหรับพระเอกหนังไทย มิตร ชัยบัญชา ที่เชื่อว่าเมื่อย้อนไปในยุค 40 กว่าปีก่อน คงไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก แถมเขาคนนี้ยังเป็นวีรบุรุษต้นฉบับ "อินทรีแดง" ที่ยังเป็นตำนานและได้รับความชื่นชมอย่างยิ่งในวงการหนังไทย มาบัดนี้เวลาได้ล่วงเลยไปถึง 46 ปีแล้ว นับจากวันที่วงการบันเทิงบ้านเราได้สูญเสียพระเอกตลอดกาลผู้นี้ไป ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513  เราจึงขอพาทุกคนกลับไปร่วมรำลึกถึง (อดีต) พระเอกหนังไทย มิตร ชัยบัญชา และประวัติของเขากันอีกครั้ง  

          มิตร ชัยบัญชา มีชื่อจริงว่า พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2477 เป็นชาวอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงในช่วงปลายปี พ.ศ. 2499 โดย มิตร ชัยบัญชา มีผลงานเป็นพระเอกภาพยนตร์ไทยในช่วง พ.ศ. 2500-2513 ผลงานเรื่องแรกคือ ชาติเสือ ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เขาจึงมีผลงานเรื่องที่ 2 ออกมาคือ จ้าวนักเลง หรือ อินทรีแดง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เองที่ทำให้ มิตร ชัยบัญชา มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก 

          หลังจากนั้น มิตร ชัยบัญชา ก็มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง และหลายเรื่องก็ทำรายได้เกินล้านบาท โดยในปี พ.ศ. 2508 มิตร ชัยบัญชา ได้เข้ารับพระราชทานรางวัล "โล่เกียรตินิยม" นักแสดงนำชายที่ทำรายได้สูงสุด จากภาพยนตร์เรื่อง "เงิน เงิน เงิน" แต่ถัดมาเพียง 1 ปี ภาพยนตร์เรื่อง เพชรตัดเพชร ที่เขานำแสดงก็สามารถทำรายได้ทำลายสถิติเรื่อง "เงิน เงิน เงิน" โดยทำรายได้ 3 ล้านบาท ในเวลา 1 เดือน และได้เข้ารับพระราชทานรางวัล ดาราทอง พร้อมกับ มี้-พิศมัย วิไลศักดิ์

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 มิตร ชัยบัญชา กับบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำรายได้มากกว่า 6 ล้านบาท และเข้าฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์นานกว่า 6 เดือน ทำรายได้ทั่วประเทศรวมกว่า 13 ล้านบาท

มิตร ชัยบัญชา

มิตร ชัยบัญชา

          แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าขึ้นในปีเดียวกัน เมื่อ มิตร ชัยบัญชา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "อินทรีทอง" โดยเป็นฉากที่ มิตร ชัยบัญชา ต้องโหนบันไดเชือกที่ห้อยจากเฮลิคอปเตอร์ ถ่ายทำบริเวณหาดดงตาล พัทยาใต้ จ.ชลบุรี เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความอาลัยรักของมหาชนเป็นอย่างมาก ทำให้ มิตร ชัยบัญชา กลายเป็นบุคคลธรรมดาที่มีผู้มาร่วมงานศพมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์  

          ด้านชีวิตส่วนตัว มิตร ชัยบัญชา เป็นคนชอบเล่นกีฬาและชกมวย สมัยเรียนมัธยมเขาเคยคว้าเหรียญทองมวยนักเรียน 2 ปี ในรุ่นเฟเธอร์เวท และไลท์เวท ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 มิตร ชัยบัญชา ก็สอบเข้าโรงเรียนจ่าอากาศ เพื่อรับราชการทหารอากาศ ที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะอยากเป็นนักบิน และเขาก็ได้เป็นนักเรียนการบินรุ่นที่ ป.15 ของโรงเรียนการบินโคราช และนักเรียนจ่าอากาศ เหล่าอากาศโยธิน รุ่นที่ 11 สำเร็จการศึกษาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2499 ติดยศจ่าอากาศโท เมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 จนได้เป็นครูฝึกที่กองพันต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน กองทัพอากาศดอนเมือง

          ในปี พ.ศ. 2502 มิตร ชัยบัญชา สมรสกับภรรยาชื่อ จารุวรรณ สรีรวงศ์ อย่างเงียบ ๆ และมีบุตรชายชื่อ ยุทธนา พุ่มเหม แต่ชีวิตสมรสของเขาไม่ราบรื่น เนื่องจาก มิตร ชัยบัญชา ไม่มีเวลาให้ภรรยา ต้องทำงานตอนกลางวัน ถ่ายหนังตอนกลางคืนและวันหยุด และในสมัยนั้นดารามีครอบครัวเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดต่อสาธารณชน เพื่อรักษาความนิยมจากแฟนภาพยนตร์ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจหย่าร้างกันในปี พ.ศ. 2506  

          หลังจากนั้น มิตร ชัยบัญชา ใช้ชีวิตคู่อย่างไม่เปิดเผยกับ กิ่งดาว ดารณี ภรรยาคนที่ 2 โดยผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายรับทราบ แต่อยู่ด้วยกัน 5 ปี ชีวิตรักก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ อันเนื่องมาจากความหึงหวง และทิฐิ ทำให้ทั้งคู่เลิกรากันไปด้วยความเสียใจของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งว่ากันว่า กิ่งดาว ถึงขนาดตัดสินใจไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม มิตร ชัยบัญชา ก็ได้พบรักครั้งใหม่กับ ศศิธร เพชรรุ่ง ภรรยาคนที่ 3 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพียงไม่นาน  

          ทั้งนี้ ในช่วงที่ มิตร ชัยบัญชา ยังมีชีวิตรุ่งโรจน์ในเส้นทางสายบันเทิง เขาได้รับฉายา "พระเอกนักบุญ" เพราะเป็นผู้ริเริ่ม "กฐินดารา" บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลไว้มากมาย  และด้วยความที่ชีวิตเคยลำบาก รวมทั้งเคยเป็นทหารมาก่อน ทำให้ทุกคนที่ใกล้ชิดต่างรู้ว่า มิตร ชัยบัญชา เป็นคนขยัน อดทน อยู่ง่ายกินง่าย ใช้ชีวิตสบาย ๆ ไม่หรูหรา แม้จะมีเงินรายได้ถึงสัปดาห์ละหนึ่งแสนบาท ซึ่งในยุคนั้นถือว่าสูงมาก แต่เขายังใช้รถรุ่นเก่า ไม่ฟุ่มเฟือย เพราะเขามองว่า รถยนต์คือพาหนะ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์

          โดย ดอกดิน กัญญามาลย์ นักแสดงและผู้กำกับอาวุโส ที่มีความสนิทสนมกับ มิตร ชัยบัญชา บอกว่า พระเอกยอดนิยมคนนี้เป็นคนสนุกสนาน และด้วยความเป็นคนง่าย ๆ ทำให้เขาเป็นที่รักของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องความตรงต่อเวลา ที่อยากให้คนรุ่นใหม่เอาเป็นแบบอย่าง มิตร ชัยบัญชา มักมากองถ่ายก่อนใคร ๆ ซึ่งแม้เขาจะตายไป แต่ความดีมากมายก็ยังคงอยู่ให้พูดถึงได้เรื่อย ๆ

          อย่างไรก็ตาม หลังการจากไปของ มิตร ชัยบัญชา ได้มีการจัดสร้างศาล มิตร ชัยบัญชา ตรงบริเวณที่เสียชีวิต ต่อมาเมื่อมีการซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงแรม จึงได้ปรับปรุงสร้างเป็นศาลไม้สักขึ้นมาใหม่ ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามสำนักงานสรรพากร บริเวณหาดจอมเทียน และยังมีการตั้งชื่อซอย มิตร ชัยบัญชา หรือ พัทยาซอย 17 บนถนนเทพประสิทธิ์ อีกด้วย

 มิตร ชัยบัญชา

มิตร ชัยบัญชา

          และในทุก ๆ ปี เหล่าบรรดาแฟนคลับ ได้มีการจัดงานรำลึกถึง มิตร ชัยบัญชา ขึ้นเป็นประจำ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ซึ่งภายในงานเป็นนิทรรศการภาพ การฉายภาพยนตร์ของ มิตร ชัยบัญชา นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ กรุงเทพฯ ยังได้จัดทำหุ่นขี้ผึ้งของ มิตร ชัยบัญชา ในชุด อินทรีแดง เพื่อจัดแสดงร่วมกับหุ่นของบุคคลสำคัญอื่น ๆ ด้วย

ประวัติ มิตร ชัยบัญชา

         ชื่อจริง :  พันจ่าอากาศโท พิเชษฐ์ พุ่มเหม

         เกิด : 28 มกราคม พ.ศ. 2477

         เสียชีวิต :  8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 

คู่สมรส :   

         จารุวรรณ สวีรวงศ์ 

         กิ่งดาว ดารณี

         ศศิธร เพชรรุ่ง

ผลงานเด่น :  

         พ.ศ. 2501 เรื่อง ชาติเสือ รับบทเป็น ไวย ศักดา

         พ.ศ. 2502 เรื่อง จ้าวนักเลง หรือ อินทรีแดง รับบทเป็น โรม ฤทธิไกร

         พ.ศ. 2508 เรื่อง เงิน เงิน เงิน รับบทเป็น ตุ๊ อรรคพล

         พ.ศ. 2513 เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง รับบทเป็น ไอ้คล้าว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รำลึก 46 ปี แห่งการจากไป...มิตร ชัยบัญชา อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2559 เวลา 19:49:50 7,757 อ่าน
TOP