x close

แนวโน้มครอบครัวไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า




แนวโน้มครอบครัวไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า (Momypedia)

           อัตราหย่าร้างของครอบครัวไทยมีประมาณ 1 แสนคู่ในปี 2552

           จำนวนพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เพิ่มมากขึ้นถึง 2.5 ล้านครอบครัว

           สัดส่วนหญิงโสดในกรุงเทพฯ จำนวน 19.9% สูงกว่าของสิงคโปร์ที่มี 15%

           เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา หากเราลองหันมามองดูรอบตัวทุกวันนี้ ก็มีความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวหลายอย่างที่สามารถเห็นได้ ไม่ว่าจะมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น การอยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน และเหล่านี้ก็ดูเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ดูห่างไกลจากการเป็นครอบครัวไทยๆ ที่เราเคยพบเจอแต่ก่อนแต่ไร

           เป็นเรื่องธรรมชาติที่เมื่อโลกหมุนไป ความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำความเข้าใจและเตรียมรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร มากกว่าค่ะ

ครอบครัวจะเปลี่ยนไป

           หากจะถามว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ครอบครัวในสังคมไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ได้ให้ข้อมูลมาว่า ครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไปเป็นแบบ...

           มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว ที่มีแค่พ่อแม่ลูกมากขึ้น

           รูปแบบความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงาน และส่วนใหญ่จะไม่มีลูก

           เด็กจะไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นครอบครัวเดี่ยว และพ่อแม่ต้องทำงาน อาจมีการไปฝากปู่ย่าตายายเลี้ยง หรือพึ่งพาเนิร์สเซอรี

แม่กว่า 90% ทำงานนอกบ้าน

           ผู้หญิงและผู้ชายจะแต่งงานกันช้าขึ้น จากผู้ชาย 25 ปี และผู้หญิง 22 ปี เมื่อ 50 ปีก่อน จะเป็นผู้ชายอายุ 30 ปี และผู้หญิงมากกว่า 25 ปี

อัตราคนโสดเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง

           ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดแนวโน้มเช่นนี้ มาจากแรงผลักดันของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเรื่องของค่านิยมในเรื่องการแต่งงาน และชีวิตครอบครัวที่เปลี่ยนไป เศรษฐกิจที่ครอบครัวจะต้องอาศัยรายได้ของทั้งพ่อและแม่ และการศึกษาที่สูงขึ้นของผู้หญิง พึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

สายสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป

           คุณหมอพรรณพิมล ได้กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดี่ยวแบบนี้ว่า "การใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวจะลดลงเรื่อย ๆ หรือเวลาพื้นฐานของครอบครัว อย่างเวลาอาหารเย็น ก็ยากที่คนในครอบครัวจะมานั่งกินข้าวเย็นกันทุกวัน ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนเป็นเรื่องปกติมาก โดยเฉพาะในเมือง และครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ทำงาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลกระทบต่อการดูแลลูก เพราะในการใช้ชีวิต การที่จะสอนลูกนั้น พ่อแม่จะต้องมีเวลาในการสอนและฝึกลูก"

           เนื่องจากครอบครัวไม่ค่อยได้เจอกัน ก็จะมีเวลาตามลำพังมากขึ้น พ่อแม่มีเวลาที่จะไปอยู่กับเรื่องอื่นที่ไม่เรื่องครอบครัวมากขึ้น เด็กก็จะมีกิจกรรมของตัวเอง ที่อาจไม่ใช่วัยของเขา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเทคโนโลยีแทนที่การใช้เวลากับครอบครัว เกม อินเทอร์เน็ต ตามอายุของเด็กไป

           "ลักษณะเช่นนี้เป็นครอบครัวที่ค่อนข้างปิด เพราะคนในครอบครัวก็ไม่ค่อยมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ไม่ค่อยได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่เป็นครอบครัวขยายเกิน 1 รุ่น ก็ยังได้เรียนรู้จากพ่อแม่ตัวเอง หรือได้เห็นจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บางทีก็ไม่ได้คุยกัน แต่จะสามารถสังเกตได้จากวิธีการเลี้ยงลูก และจะแลกเปลี่ยนไปโดยอัตโนมัติ แต่สำหรับไลฟ์สไตล์ของสังคมสมัยใหม่ ก็กลายเป็นการซื้อบริการ เดี๋ยวนี้มีการเปิดบริการกลุ่มสำหรับพาลูกไปออกกำลังกาย ไปเล่น และไปได้เพื่อนจากตรงนั้นแทน"



สานสัมพันธ์ในครอบครัว

           และเมื่อความห่างเหินในครอบครัวเกิดขึ้น อันเนื่องจากไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน ที่ทั้งพ่อและแม่ต่างต้องทำงาน แล้วก็อาจต้องส่งลูกไปต่างจังหวัดฝากลูกให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง หรือพึ่งพาเนิร์สเซอรีต่างๆ เพราะหากเด็กยิ่งโตก็จะมีแนวโน้มจะห่างพ่อแม่มากขึ้น ยิ่งถ้าห่างกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ระยะห่างเมื่อโตขึ้นก็กว้างออกไปอีก ซึ่งการจะให้มาสนิทชิดเชื้อกันก็ไม่ทันแล้ว

           เราคงไม่อยากเห็นลูกเราเป็นเหมือนเด็กในประเทศตะวันตก ที่ไม่ได้รู้สึกว่าครอบครัวมีความสำคัญต่อกัน พอแยกบ้านแล้วก็เหมือนต่างคนต่างอยู่ เหมือนตัดขาดกันไปได้ง่าย แต่บ้านเรา ด้วยวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ความสัมพันธ์ต่อกันในระบบครอบครัวยังคงมีความสำคัญอยู่ แม้จะดูห่างออกไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะมาเริ่มสร้างกันใหม่ไม่ได้ เริ่มง่ายๆ กับในครอบครัวของเราก่อน

           1. สื่อสาร เพียงแค่ในชีวิตประจำวัน อย่างตอนเช้าก่อนคุณแม่จะออกจากบ้านไปทำงาน หรือลูกจะไปโรงเรียน การได้คุยกับลูกสัก 2-3 คำ การตั้งคำถาม การใช้คำพูดบางคำก็ทำให้ลูกรู้สึกถึงความห่วงใยที่แม่มีให้ ก็ทำให้วันนี้ดูมีความหมายขึ้นมาทันที

           2.กิจกรรมครอบครัว การทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะหมุนไปตามลูก โดยอาจจะเป็นบางเวลา อย่างพ่อหรือแม่ไปทำอะไรแล้วเอาลูกไปทำด้วย และถ้ามีลูกมากกว่า 1 คน ก็ต้องสนับสนุนให้พี่น้องมีกิจกรรมร่วมกันด้วย โดยอาจจะต้องดูกิจกรรมที่ทุกคนสนุก และมีส่วนร่วม สิ่งที่จะได้มันมากกว่าแค่มาทำกิจกรรมด้วยกัน แต่จะเห็นตัวตนของสมาชิกในครอบครัว เด็กก็จะเห็นพ่อแม่เป็นอย่างนี้นะ พ่อแม่ก็จะรู้ว่าลูกเราเป็นยังไง นี่คือประสบการณ์ที่ได้แลกเปลี่ยนกัน แล้วจะถูกพัฒนาไปเป็นความผูกพัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง แต่ให้มีความสม่ำเสมอ

           3.พ่อแม่ ก็ต้องมีการตระหนัก และวางแผนจัดสรรเวลาให้เกิดขึ้น อาจจะมีการข้ามบางช่วงเวลาไปได้บ้าง แต่ให้คงลักษณะความสม่ำเสมอ และลูกยิ่งโตก็ควรให้มีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมและวางแผนการช้ชีวิตของตัวเขาเองด้วย

ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลง

           ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ความห่างไกลรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย การหาข้อมูลหรือตัวช่วยที่พึ่ง ที่ปรึกษาของคุณพ่อคุณแม่ก็ย่อมเปลี่ยนไป เกิดเป็นครอบครัวใหม่ที่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นไม่ต่างจากครอบครัวขยายแบบในอดีต

ชุมชนอินเทอร์เน็ต

           ในยุคคอนเวอร์เจนจ์ ที่อะไร ๆ ก็เชื่อมต่อกันหมด การต่ออินเตอร์เน็ตในเวลาเพียงไม่กี่วินาที โลกไซเบอร์กลายเป็นแหล่งข้อมูลแหล่งใหญ่สำหรับคุณแม่ ในข้อสงสัยต่างๆ เรื่องลูก หรือเรื่องอื่นๆ การแลกเปลี่ยน เรียนรู้กันบนโลกออนไลน์ ซึ่งก็สามารถมองได้ว่าเป็นทางเลือกที่ดี ด้วยได้รับรู้มุมมองใหม่ ๆ คำแนะนำที่เรานึกไม่ถึง หรืออาจเป็นกระจกสะท้อนตัวเองได้ แต่คุณแม่ก็ต้องรู้จักกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ด้วยว่าคำแนะนำนั้น ๆ ใช้กับเราได้ไหม เพราะไม่ได้หมายความว่าทุกคำแนะนำจะใช้ได้หมด

เพื่อนช่วยเลี้ยงลูก

           เมื่อครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดเล็กลง ไม่มีปู่ย่าตายายอยู่ที่บ้านด้วยกัน แล้วในขณะที่พ่อแม่ทำงาน การดูแลลูกมันก็ต้องเปลี่ยนระบบ เพราะฉะนั้นก็เลยตามมาด้วยการเลี้ยงลูกหลายรูปแบบที่เราเห็น ส่วนหนึ่งก็เริ่มมีระบบครอบครัวที่ช่วยกันในเรื่องการดูแลลูก อย่างลูกบ้านข้างๆ ไปเรียนว่ายน้ำเหมือนกัน ก็ฝากลูกเราไปด้วย ผลัดกันรับส่งลูกๆ คุณแม่ก็มีเวลาว่างในการทำอย่างอื่นมากขึ้น หรือข้างบ้านก็อาจจะเอาลูกมาฝากเรา เมื่อมีธุระได้เช่นกัน ซึ่งเป็นระบบที่ต้องเอื้อเฟื้อกัน เข้าใจกัน

           ดูเหมือนว่าคุณแม่ยุคใหม่ที่ต้องทั้งทำงานด้วย เลี้ยงลูกด้วย ย่อมเรื่องที่เข้ามาให้ตัดสินใจมากมาย ซึ่งคุณหมอพรรณพิมล ฝากข้อคิดถึงให้ว่า “ตัวสำคัญในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เป็นการเลือกตัดสินใจ ไม่มีอะไรถูกผิด แต่เป็นการเลือกตัดสินใจในสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่ง แต่อยากให้คุณแม่ใช้เวลากับตัวเอง และไม่ใช้อารมณ์ในการเลือก และเมื่อตัดสินใจไปแล้ว ก็ให้ยอมรับว่ามันอาจไม่ได้ทุกอย่างอย่างที่วางแผนไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือมนุษย์เรียนรู้จะอยู่กับสิ่งที่เราเลือกและตัดสินใจอยู่แล้ว”

           ถึงแม้ว่าในอนาคตข้างหน้าลักษณะของครอบครัวไทยจะเปลี่ยนไปตามตัวแปรต่างๆ มากมาย แต่หัวใจสำคัญที่จะช่วยคงความเป็นครอบครัวให้เหนียวแน่นเอาไว้ได้ ก็คือความรักและความผูกพันของคนในครอบครัวที่มีต่อกันค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย: นภชา
ข้อมูลวิชาการ : พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนวโน้มครอบครัวไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า อัปเดตล่าสุด 16 พฤศจิกายน 2553 เวลา 15:15:47 3,306 อ่าน
TOP