x close

ศัลยกรรมเสริมหน้าอก แพทย์ชี้มีโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          เสริมหน้าอก เสี่ยงมะเร็ง เพราะการศัลยกรรมความงามแม้จะนำมาซึ่งความสวย แต่บางครั้งก็อาจแฝงภัยร้ายอย่างโรคมะเร็งได้เช่นกัน แล้วการเสริมหน้าอกทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้อย่างไร

ศัลยกรรม

          สาว ๆ หน้าอกเล็กที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง หรือบางคนพอมีหน้าอกอยู่บ้าง แต่อยากเสริมเต้าเพื่อให้มีบุคลิกที่ดูดีขึ้น พวกเธอเหล่านี้จึงขอใช้ทางสวยแบบเร่งด่วน ด้วยการศัลยกรรมเสริมหน้าอกให้เอิบอิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เลือกทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและสถานที่ปลอดภัย สาว ๆ เลยมั่นใจได้ว่า การทำหน้าอกคงไม่เกิดปัญหาอะไรตามมา

          แต่อันที่จริง การศัลยกรรมหน้าอกมีผลเสียที่อาจเกิดภายหลังและสร้างความรุนแรงแก่ชีวิตได้มากกว่าที่คิด อย่างเช่นโรคมะเร็งนั่นเอง โดยข่าวล่าสุด ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สั่งเรียกคืนซิลิโคนเต้านมเทียม แบบผิวขรุขระ ยี่ห้อ นาเทรล (NATRELLE) หลังพบเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งข้อมูลเผยว่าสาวไทยใส่ไปแล้วกว่า 1.4 หมื่นคน (อ่านเพิ่มเติมที่นี่) ซึ่งข่าวนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสาว ๆ หลายคนที่ผ่านการทำหน้าอก และวางแผนที่จะทำในอนาคตเป็นอย่างมาก มะเร็งที่ว่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้หญิงที่ผ่านการทำหน้าอกมา เสี่ยงเป็นมะเร็งทุกคนหรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาไขข้อสงสัยนี้ให้สาว ๆ เอง

ศัลยกรรม

เสริมหน้าอกเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

          โรคมะเร็งที่เกิดขึ้นกับสาว ๆ ผู้ผ่านการศัลยกรรมเต้านมนั้นไม่ใช่มะเร็งเต้านมอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด Non - Hodgkin\'s Lymphoma ซึ่งมะเร็งชนิดนี้พบได้บ่อยและเป็นได้ทุกช่วงวัย โดยทางองค์การอนามัยโลกเรียกชื่อย่อยของมะเร็งที่เกิดจากการศัลยกรรมหน้าอกแบบเฉพาะว่า BIA-ALCL (คำว่า BIA ย่อมาจาก Breast Implant Associated แปลว่า เกี่ยวข้องกับการศัลยกรรมหน้าอก ส่วน ALCL คือชื่อย่อของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมความหมายได้เป็น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกิดจากการทำศัลยกรรมหน้าอก นั่นเอง) พบอาการของโรคตรงเนื้อเยื่อบริเวณหน้าอกและแผลรอบ ๆ ซิลิโคน ไม่ได้เกิดขึ้นที่เต้านมโดยตรง

โอกาสการเกิดโรคมะเร็งในผู้ที่เคยเสริมหน้าอก

          โอกาสของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ยังบอกได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก ด้วยตัวคนไข้ที่ทำศัลยกรรมหน้าอกมักจะไม่เปิดเผยตัวตน จึงทำให้การเก็บข้อมูลเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังพอมีประวัติการรักษาของคนไข้ที่ได้รับการเปิดเผยอยู่บ้าง โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานว่า ปี 2017 มีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้แล้วประมาณ 414 คน เสียชีวิตไปทั้งหมด 9 คน ประเมินได้ว่าผู้หญิงชาวอเมริกันที่ผ่านการศัลยกรรมหน้าอกมา มีสิทธิ์เป็นโรคนี้มากถึง 1 ใน 30,000 คน ทว่าตัวเลขผู้ป่วยจากมะเร็งต่อมน้ำเหลือง BIA-ALCL ของประเทศออสเตรเลียกลับพบว่ามีโอกาสเกิดได้สูงถึง 1 ใน 1,000 คนเลยทีเดียว

ศัลยกรรม

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง BIA-ALCL

          โรคมะเร็งชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากทำศัลยกรรมหน้าอกมาแล้ว 3-14 ปี ช่วงแรกจะรู้สึกเจ็บรอบ ๆ หน้าอกแล้วก็มีก้อนเนื้อเล็ก ๆ ทั้งที่คลำเจอ และที่ปูดออกมาให้เห็นด้วยสายตา ก้อนเนื้อนั้นสามารถลุกลามไปตรงกล้ามเนื้อโดยรอบ ทั้งคอ ต้นแขน อาการหนักเข้าอาจถึงขั้นขยับแขนไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางคนกลับไม่มีอาการเจ็บป่วยหรือปวดบริเวณเต้านมสักนิด มีเพียงแค่ก้อนเนื้อขนาดเล็กปูดออกมาเท่านั้น

ซิลิโคนผิวทราย เสี่ยงมะเร็งมากกว่า

          จากการสำรวจ ผู้หญิงที่ผ่านการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนชนิดผิวทราย มักจะเป็นมะเร็งชนิด BIA-ALCL มากกว่าผู้หญิงที่ผ่านการเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนชนิดผิวเรียบ และในข้อมูลของผู้ป่วยทั่วโลกพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่สัมพันธ์กับซิลิโคนผิวขรุขระนี้ 800 คน และจำนวนนี้เป็นคนไทย 1 คน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานที่ยืนยันชัดเจนนักว่าเป็นเพราะสาเหตุใด ทำไมซิลิโคนผิวทรายถึงก่อมะเร็งได้มากกว่าแบบผิวเรียบ

          แม้ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัด ว่ามะเร็ง BIA-ALCL เกิดขึ้นได้อย่างไรหรือเกิดกับซิลิโคนชนิดไหนได้มากกว่ากัน แต่ทางที่ดี สาว ๆ ที่ผ่านการทำศัลยกรรมหน้าอกมา ควรตรวจดูหน้าอกของตัวเองทุกวัน คลำหาก้อนเนื้อที่ปูดขึ้นมา หากพบเจอ ถึงจะเป็นก้อนเพียงเล็กน้อยก็อย่าเพิ่งไว้วางใจ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อเช็กอาการให้ละเอียดจะดีที่สุด

ข้อมูลจาก : womenshealthmag.com, smh.com.au, livescience.com, fda.gov, theguardian.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศัลยกรรมเสริมหน้าอก แพทย์ชี้มีโอกาสเสี่ยงมะเร็งต่อมน้ำเหลือง อัปเดตล่าสุด 7 สิงหาคม 2562 เวลา 13:40:02 10,754 อ่าน
TOP