x close

เบบี๋ตากุ้งยิง



เบบี๋ตากุ้งยิง (รักลูก)

          ใครเลยจะคิดว่าแม้แต่ลูกวัยทารกก็มีสิทธิเป็นตากุ้งยิงได้เหมือนกัน และหากไม่รีบพาลูกไปรักษา อาจถึงขั้นทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ค่ะ

          โรคตากุ้งยิงพบได้บ่อยบริเวณหนังตาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครคาดคิดว่าในเด็กเล็กๆอายุประมาณ 1 เดือนก็เป็นตากุ้งยิงได้

          ซึ่งการเกิดตากุ้งยิงมาจาก 3 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน คือ…

          1. ติดเชื้อที่ขอบตา โดยปกติบริเวณขอบตาของคนเราจะมีต่อมไขมันอยู่ ถ้าเปลือกตาไม่สะอาด แล้วมีการขยี้ตาบ่อยๆ ก็จะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ทั่วไปตามผิวหนัง

          2. ต่อมไขมันทำงานผิดปกติ กรณีนี้คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าตามขอบตาของลูกมีขุยๆ เหมือนรังแค นั่นเป็นเพราะมีการผลิตไขมันที่มากเกินไป ซึ่งต่อมไขมันเหล่านี้จะไปอุดตันทางออก ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่ขอบตา และลุกลามเป็นตากุ้งยิงได้ในที่สุด

          3. โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคชาเชีย ส่งผลให้มีอาการอักเสบตามผิวหนังได้ง่ายและพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กเล็ก เนื่องจากร่างกายมีการสร้างไขมันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไปอุดตันตามต่อมไขมัน จึงเพิ่มโอกาสของโรคได้มาก

          สาเหตุทั้ง 3 ที่กล่าวมานี้นำมาซึ่งโรคตากุ้งยิง ซึ่งคุณหมอบอกว่า มักเป็นลักษณะของอาการรวมหลายๆ อย่างประกอบกันด้วย บางคนอาจเป็นตุ่มแข็ง พร้อมกับเจ็บตาตาแดง หรือบางคนอาจคลำไม่เจอตุ่ม แต่รู้สึกเจ็บและเคืองตา หรืออาจเริ่มต้นจากเคืองตามีน้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ ร้อนบริเวณหนังตาแล้วค่อยๆ กลายเป็นตุ่มหนองขึ้น

          ในเด็กเล็กๆ คุณหมอแนะนำว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของลูกจากการดูบริเวณหนังตา และเยื่อบุตาค่ะ หากดูแล้วหนังตาบวมแดง เยื่อบุตาแดงกว่าปกติก็ให้รีบพามาพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ การป้องกันตากุ้งยิง คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะการอักเสบติดเชื้อจะมีน้อยมากเพียงทำความสะอาดผิวหน้าลูกเป็นประจำด้วยสบู่ที่อ่อนโยนไม่ระคายเคืองต่อผิวและดวงตาลูกก็พอ

          ส่วนเด็กที่มีอาการขอบตาอักเสบ หรือเป็นโรคที่มีการสร้างต่อมไขมันผิดปกติคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาด เพื่อลดการอุดตันของไขมันตามรูต่อมไขมันโดยใช้สบู่หรือแชมพูที่ไม่ระคายเคืองต่อดวงตาลูก ผสมกับน้ำอุ่นในอัตราส่วน แชมพู 1 ส่วน ต่อน้ำอุ่น 5 ส่วน หลังจากนั้นใช้คัดตอนบัดชุบแล้วเช็ดบริเวณโคนขนตา เพื่อเอาขุยไขมันออกทุกเช้าเย็น อาการอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุของตากุ้งยิงก็จะดีขึ้นค่ะ

          รู้เร็ว รักษาเร็ว หายเร็ว

          ในเรื่องของการรักษานั้น แตกต่างกันออกไปตามอาการค่ะ

           ไม่เป็นตุ่มหนอง หมอจะให้ยาปฏิชีวนะมากินและหยอดยาร่วมกับการประคบอุ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่โดยตรง การประคบอุ่นนี้ทำได้โดยใช้เจลลดไข้ ซึ่งสามารถแช่ในน้ำอุ่นได้ นำไปแตะหลังมือดูว่าอุณหภูมิไม่ร้อนจนเกินไป จากนั้นนำไปประคบที่บริเวณตาลูก ใช้มือนวดคลึงเบาๆ ประมาณ 5 นาที วันละ 3-4 ครั้ง แล้วจึงหยอดยาหรือให้กินยาปฏิชีวนะที่คุณหมอให้มา ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงอะไร นอกจากเด็กบางคนอาจจะแพ้ต่อยาชนิดนั้นๆ ด้วยเหตุนี้คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสังเกตให้ดีว่าหยอดแล้ว ตาลูกบวมแดงขึ้นหรือเปล่า ถ้าใช่ นั่นอาจแสดงว่าลูกแพ้ยาได้

           เป็นตุ่มหนอง กรณีเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมาเจาะเพื่อดูดเอาน้ำหนองออก ซึ่งในเด็กเล็กทำได้ยาก เนื่องจากเด็กมักจะดิ้นร้องงอแง จึงทำให้คุณหมอกังวลว่ามีดที่ใช้ในการกรีดอาจพลาดไปโดนอวัยวะอื่นๆ ดังนั้น ในบางรายอาจต้องดมยาสลบเพื่อเจาะเอาหนองออก

          สำหรับกรณีที่ลูกวัยทารกเป็นตากุ้งยิงคุณหมอบบอกว่าไม่อยากให้ถึงขั้นดมยาสลบ จึงแนะนำว่าหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกตาแดงผิดปกติควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับยาหยอดหรือยาป้าย รวมถึงยากิน และรับคำแนะนำเกี่ยวกับการประคบอุ่น ซึ่งหากว่าคุณพ่อคุณแม่ดูแลอย่างใกล้ชิดอาการก็จะทุเลาได้เอง และไม่เป็นตุ่มหนองจนถึงกับต้องเจาะให้เจ็บตัว

          ปล่อยไว้ ไม่ดีแน่

          อย่างที่บอกไปแล้วข้างต้นว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องสนใจกับอาการตากุ้งยิงของลูกไม่แพ้โรคอื่น ที่สำคัญหากสงสัยว่าลูกเป็นควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อรักษา เนื่องจากผลกระทบของโรคกรณีไม่รักษา หรือรักษาแต่ไม่หายขาดนั้นรุนแรงทีเดียวค่ะ

          หากละเลยจนน้ำหนองเซาะไปได้ผิวหนังก็อาจทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ ติดเชื้อรอบๆ บริเวณกระบอกตา ยิ่งไปกว่านั้นถ้าการติดเชื้อเกิดในเด็กเล็กที่ร่างกายยังมีภูมิด้านทานโรคไม่มากนัก และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เชื้อก็อาจลุกลามเข้ากระแสเลือดได้ สรุปคือถ้าลูกเป็นตากุ้งยิงคุณพ่อคุณแม่จะต้องพามาพบแพทย์ทุกราย ที่สำคัญไม่ควรไปซื้อยามาหยอดเองเพราะ…

           ยาหยอดตาบางชนิดมีเสตรียรอยด์ ทำให้เกิดต้อหินหรือต้อกระจกในเด็กเล็กได้

           ร้านขายยาอาจคิดว่าเป็นแค่อาการระคายเคืองตาธรรมดา   จึงจัดยาลดการอักเสบที่เป็นยาเสตรียรอยด์  ซึ่งไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้นแต่เด็กบางคนตากลับหายแดง  ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วน้ำหนองยังฝังอยู่เพียงแต่อาการตาแดงน้อยลง ก็อาจทำให้โรคหายช้าหรือไม่หายขาดได้

          เพราะฉะนั้น หากลูกเป็นตากุ้งยิง ต้องรีบพามาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ และอย่าซื้อยามาหยอดเองด้วยนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก



ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เบบี๋ตากุ้งยิง อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2552 เวลา 17:46:06 14,244 อ่าน
TOP