x close

Soft tissue fillers สารเติมความอูมเพื่อความงาม

ฉีดหน้า

 



Soft tissue fillers สารเติมความอูมเพื่อความงาม (สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย)

          มีคนไข้หลายคน มาปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารฉีดหน้า เพื่อแก้ไขรอยย่น รอยบุ๋ม รวมทั้งเติมความอูมของส่วนต่างๆ อีกทั้งเมื่อนั่งตรวจคนไข้อยู่ทุกวันจะพบกับคนไข้กลุ่มหนึ่งที่มาให้แก้ไขความผิดปกติของใบหน้า และอวัยวะหลายส่วนที่ได้จากการฉีดสารต้องห้าม เช่น พวกน้ำมันซิลิโคน พวกพาราฟิน หรือพวกไขมันเทียมอย่างที่หมอเถื่อนหรือนักฉีดพเนจร (ที่ใช้ชื่อนี้เพราะว่าพวกนี้มักจะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แต่มักจะหิ้วกระเป๋าฉีดตามแฟลต คอนโด หรือห้องแถวต่างๆ และอาศัยการหาคนไข้โดยผ่านทางระบบนายหน้าหรืออาศัยการกล่อมคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ให้หลงเข้าไปให้ฉีด แต่เมื่อฉีดแล้วกลับไปหาตัวก็มักจะหาไม่เจอเพราะย้ายที่อยู่ไปเรียบร้อยแล้ว) ใช้เรียกกัน เลยทำให้ได้ความคิดว่าน่าจะเขียนบทความเกี่ยวกับสารฉีด สารเติมความอูมที่ใช้ในท้องตลาดขณะนี้ให้ได้อ่านกันอย่างกว้างๆ สักหน่อย เผื่อเวลาไปเจอชื่อเรียกของสารเหล่านี้ในหน้าหนังสือ หรือนิตยสารที่ทันสมัยหน่อยจะได้มีแนวทางมาเปรียบเทียบว่าสารนั้นๆ เป็นสารพวกไหนและมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด บทความนี้เป็นเพียงบทความเสนอแนะคร่าวๆ เท่านั้นไม่ได้ลงไปในรายละเอียดเหมือนที่หมอๆ เค้าเรียนกันที่จะลึกซึ้งถึงระดับโมเลกุลเลยทีเดียว แต่คุณผู้อ่านคงจะได้ความรู้ไว้กว้างๆ ประดับสมองบ้างไม่มากก็น้อย

          ความนิยมในการเสริมความงามนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่มักจะเป็นหัวข้อที่ต้องการของคนไข้นั้นก็มักจะอยู่ในแนวทางดังนี้คือ ควรจะหายเร็ว ไม่มีความผิดปกติให้เห็นชัดนานเกินไป ได้ผลดีหรือดีเลิศ รวมทั้งมีความปลอดภัยสูง ซึ่งทั้งนี้การผ่าตัดก็มีข้อจำกัดอยู่บางส่วน ทำให้ในบางกรณีการใช้สารบางอย่างฉีดเข้าไปที่ใบหน้าและสามารถแก้ไขปัญหาได้นอกเหนือจากการผ่าตัดจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่คนไข้มักจะนิยมเลือกใช้ และทำให้ปัจจุบันนี้มีการค้นคว้าหาวัสดุหรือสารที่ฉีดเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ดังจะเห็นได้จากสถิติของการใช้ injectable soft tissue filler ในอเมริกามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากผิดหูผิดตาตั้งแต่ปี 1997-2000 เช่นการใช้ collagen ฉีดเพิ่มขึ้นถึง 71% การใช้ไขมันตนเองฉีดมีอัตราเพิ่มถึง 121% เป็นต้น

          ถึงแม้ว่า soft tissue filler ที่สมบูรณ์ในอุดมคติในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถผลิตออกมาได้ก็ตาม แต่เราก็สามารถจะบอกได้ว่าสารที่น่าจะนำมาฉีดได้ผลดีและเป็นที่ต้องการในแง่ทางการแพทย์ควรจะมีลักษณะเช่นใด (ขอให้ดูตารางที่ 1 ประกอบ) โดยมากหมอมักจะคิดถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นประการแรก (safety first) ติดตามมาด้วย ผลสำเร็จของการใช้ (efficacy) นอกจากนั้นก็คงเป็นเรื่องของการติดเชื้อ หรือความต้านทานต่อการติดเชื้อได้ดี, ความง่ายในการฉีดหรือการใช้ โดยมีแผลเล็กหรือน้อย, การหายสนิทของแผลในช่วงเวลาสั้นๆ รวมทั้งสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญคือควรจะมีผลอยู่คงทนถาวรพอสมควร (โดยปกติหากฉีดแล้วอยู่ได้เกินกว่าหนึ่งปีเราก็มักจะถือได้ว่าได้ผลพอสมควรแล้ว แต่ถ้านานกว่านี้ได้ก็ถือว่าสอบผ่าน) หลังฉีดแล้วควรจะให้ความรู้สึกที่เหมือนกับผิวหนังปกติและควรจะมีความคงทนถาวรต่อการถูไถและการสัมผัสได้ดี (ไม่ใช่ว่าฉีดแล้วห้ามแตะต้องบริเวณนั้นๆ เลยก็ไม่ไหวเหมือนกัน) และในประเด็นเกี่ยวกับการเลาะเอาออกได้ง่ายเมื่อไม่ต้องการก็เป็นเรื่องที่น่าใส่ใจด้วยเหมือนกัน (หากฉีดแล้วแก้ไขไม่ได้เลยก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงพอสมควร)

          ประการสุดท้ายก็คือเรื่องของการก่อมะเร็งและการเป็นพิษภัยต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกาย หรือต่อทารกในครรภ์ก็ต้องไม่มีในสารนั้นๆ ซึ่งแน่นอนที่สุดในประเทศที่ผลิตเพื่อวางขายก็คงต้องมีระบบทดสอบและตรวจสอบอย่างเข้มงวดในปัจจุบันจึงจะผ่านออกมาขายได้ ดังนั้นการจะใช้สารฉีดชนิดใดๆ ที่ใบหน้าหรือร่างกายของเราก็ตามสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาหาความรู้กันให้ถ่องแท้เสียก่อนเพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจเมื่อเกิดผลข้างเคียงตามมาในภายหลัง ซึ่งบางครั้งก็ไม่สามารถแก้ไขกลับคืนมาสู่สภาพเดิมได้อีกด้วย

 

 ความปลอดภัย

 

              ประสิทธิภาพ

 ต้านทานต่อการติดเชื้อได้ดีพอควร  ใช้ได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นการฉีดหรือการผ่า ตัดเสริม
 ไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ  หายได้ไว
 ไม่ก่อให้เกิดการแพ้  คนนอกมองไม่รู้ (not visible)
 ไม่เป็นพิษ (nontoxic)  ได้ผลยั่งยืนพอควร (มากกว่า 1 ปี)
 ไม่ก่อมะเร็ง (noncarcinogenic)  ลักษณะคล้ายหรือเหมือนเนื้อหนังธรรมชาติ
 noncomedogenic ทนทานต่อการเสียดสี ถูไถ  ง่ายต่อการเอาออก เมื่อไม่ต้องการ



          คราวนี้หากเราจะทำการแยกชนิดของสารที่ใช้ฉีด เราจะแบ่งออกได้กี่ประเภท อันนี้เราพอจะพิจารณาชนิดของสารฉีดที่มีอยู่ในท้องตลาดออกได้ด้วยกัน 4 ชนิดได้แก่ 1. สารที่มาจากธรรมชาติ อันสกัดมาจากเนื้อเยื่อของมนุษย์ 2. สารที่มาจากการเตรียมมาจากเนื้อเยื่อของสัตว์ 3. สารสังเคราะห์ที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือจากมนุษย์ 4. สารสังเคราะห์ที่เป็นสารเคมีล้วนๆ รายละเอียดเกี่ยวกับสารฉีดแต่ละจำพวกจะเล่าให้ฟังต่อดังต่อไปนี้ 

          1. สารที่มาจากธรรมชาติ ที่สกัดมาจากเนื้อเยื่อมนุษย์ 

          สารที่อยู่ในกลุ่มนี้ตัวอย่าง เช่น acellular dermal material (Alloderm เป็นต้น) เป็นสารที่มีมาตั้งแต่ปี 1990 และสามารถใช้โดยการเปิดแผลเล็กๆ แล้วเติมเข้าไปในส่วนที่ต้องการ แต่ในเวลาต่อมาพบว่ามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการสลายตัวไปรวดเร็วประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปีเท่านั้น จึงมีสารตัวอื่นๆ เช่น cadaver-derived human collagen (Dermalogen) ออกมาใช้แพร่หลายในเวลาต่อมา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการสลายตัว และอาจจะเกิดการแพ้ได้ นอกจากนั้นยังมีตัวอื่น เช่น Autologen (autologous dermal material) ซึ่งอยู่คงทนมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม autologen นั้นเป็นสารที่ใช้ฉีดได้ค่อนข้างยากและการฉีดที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดการขรุขระได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ autologous dermal fat อาจจะได้ผลดีเหมือนกันแต่ก็ยังมีผลเกี่ยวกับผลในระยะยาวเหมือนกัน และยังขึ้นอยู่กับเทคนิกในการสกัดจากร่างกายด้วยเหมือนกัน ในระยะหลัง ๆ นี้มีการเปิดตัวสารใหม่คือ Cymetra (micronized acellular dermal material) ซึ่งทางผู้ผลิตคิดว่าน่าจะอยู่ได้ยาวนานกว่าสารตัวอื่น ๆ แต่เนื่องจากเป็นตัวใหม่อยู่จึงต้องติดตามผลการรักษาในระยะยาวเสียก่อนจึงจะบอกผลได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

          2. สารที่สกัดมาจากสัตว์ 

          สารในกลุ่มนี้มีการใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 1980 มาแล้ว ได้แก่พวก zyplast, zyderm แต่ผลการรักษานั้นดูจะยังไม่ค่อยน่าจะประทับใจเท่าไหร่ เพราะมีปัญหาหลายอย่างเช่นเรื่องของการแพ้, การเกิดการอักเสบ (low grade inflammation) และยังมีปัญหาเรื่องการสลายตัวเมื่อเวลาผ่านไปด้วย สารชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ที่เป็นตัวใหม่ๆ ก็ได้แก่พวก Permacol ซึ่งเป็น collagen มาจากหมู และผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ แต่เมื่อนำมาใช้ก็พบว่าผลการรักษาก็ดูจะคล้ายๆ กับกลุ่ม zyderm, zyplast เรียกว่าไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่

          3. สารสังเคราะห์ที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือมนุษย์ 

          สารกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ Gore-Tex ซึ่งได้มีการใช้และรายงานในวารสารทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องนานหลายปีแล้ว และยังมีตัวที่พัฒนามาจาก Gore-Tex คือ SoftForm ซึ่งต่อมาก็พบว่ามีปฏิกริยาต่อผิวหนังและเยื่อบุค่อนข้างมากจึงถูกถอดออกจากท้องตลาดไปตั้งแต่ปี 2000

          มีสารสังเคราะห์ที่ได้จาก hyaluronic acid ซึ่งพบว่าเป็นสารที่ดูน่าจะดีสำหรับการเอามาฉีด เสริมส่วนต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากสารตัวนี้สามารถพบได้ในเนื้อเยื่อของคนเราอยู่แล้ว โดยเป็นส่วนประกอบของ chondroitin sulfate, collagen เป็นต้น ดังนั้นสารนี้จึงถูกนำมาผลิตและขายในท้องตลาดในหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Hylaform, Hyalaform gel, Synvisc, Biomatrix, Restylane, Restylane-5, Perlane เป็นต้น แต่สารกลุ่มนี้บางชนิดจัดว่ายังเป็นของใหม่จึงอาจจะยังไม่ผ่านการรับรองของ FDA ในบางประเทศ ผลข้างเคียงของสารกลุ่มนี้อาจจะมีบ้างเช่นการเกิดปฏิกริยาของร่างกาย การสลายตัว (Resorption) ซึ่งผู้ผลิตต่าง ๆ ก็พยายามที่จะทำให้สารเหล่านี้บริสุทธิ์ขึ้นเพื่อจะได้มีปฏิกริยาลดลง แต่กระนั้นก็ยังแก้ปัญหาเรื่องการสลายตัวยังไม่ดีพอ (คิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหน่อยก็คงจะได้สารที่คงสภาพได้ดีมากขึ้น)

          4. สารสังเคราะจากสารเคมีล้วนๆ 

          สารในกลุ่มนี้ที่ เราพอจะรู้จักกันดีได้แก่ Silicone, Bioplastique,Artecoll เมื่อไม่นานมานี้ทาง FDA ของสหรัฐได้ยอมรับการใช้ Silicone เหลว 2 ชนิดคือ Adatosil 5000 และ Silikon 1000 สำหรับการใช้ในการรักษา retinal detachment (แต่ไม่ใช่รักษาหรือฉีดเสริมสวยอย่างที่เรานำมาใช้กันในเมืองไทยโดยหมอเถื่อน ซึ่งไม่ว่าที่ไหนก็ไม่มีการรับรอง) ส่วน Bioplastique ซึ่งผลิตโดย Geleen ประเทศเนเธอร์แลนด์ นั้นเป็นสารที่ประกอบด้วย microparticles ของ solid-state polydimethylsiloxane (หรือซิลิโคนนั่นเอง) แต่ได้รับการผสมด้วย biocompatible carrier gel หุ้มภายนอกอีกทีหนึ่ง และเคยมีการใช้ในอเมริกาอยู่ช่วงสั้นๆ แต่ก็สาบสูญหายไปโผล่ในประเทศแถบยุโรปและเอเซียแทน ส่วนผลการรักษานั้นดูจะไม่ค่อยแน่นอนนักและยังต้องการการศึกษาทั้งในด้านความปลอดภัยและเทคนิกการฉีด และที่สำคัญสำหรับสารชนิดนี้คือการเลาะออกหากไม่ต้องการค่อนข้างจะยากและอาจจะต้องเสียเนื้อเยื่อรอบด้านไปด้วย

          Artecoll เป็นสารที่ผลิตออกมาโดยหวังผลของคุณสมบัติที่ดีของสารฉีดในอุดมคติ โดยตัวมันประกอบด้วย polished polymethylmethacrylate bead (plexiglass) แล้วนำมาเคลือบด้วย collagen matrix อีกทีหนึ่ง ทำให้การสลายตัวของมันเกิดขึ้นได้ยากกว่าโดยเมื่อถูกฉีดเข้าไปในร่างกายแล้ว ร่างกายจะสร้างพังผืดมาทดแทน collagen ที่มีอยู่เดิมแล้วสลายตัวไปหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน ดังนั้นผลข้างเคียงจึงมักจะเกิดจากการเกิดพังผืด อาการบวมแดง หรืออาจจะคลำก้อนได้ตะปุ่มตะป่ำ แต่อย่างไรก็ตามสารตัวนี้ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก US FDA ในปัจจุบัน 

          หากจะพิจารณา เรื่องเกี่ยวกับสารฉีดในปัจจุบันนี้เท่าที่มีการใช้และรายงานกันอยู่ในวารสารต่างๆ ดูเหมือนว่า artecol และ hyaluronic acid น่าจะเป็นสารที่ดูจะปลอดภัยและเป็นที่นิยมมากในอเมริกา และถึงแม้ว่าทาง FDA ยังไม่ได้รับรอง แต่ในอนาคตหากมีการใช้กันนานกว่านี้และมากขึ้นแพร่หลายก็อาจจะทำให้ความเข้าใจและการวิจัยเกี่ยวกับสารฉีดเหล่านี้และตัวอื่นๆ พัฒนาต่อไปเพื่อจะได้สารฉีดที่สมบูรณ์แบบในอนาคตได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
Soft tissue fillers สารเติมความอูมเพื่อความงาม อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2552 เวลา 11:03:12
TOP