x close

ระวัง! ภัยจากเครื่องเขียน

อุปกรณ์เครื่องเขียน

ระวัง! ภัยจากเครื่องเขียน
(รักลูก)

          เมื่อลูกของเราเริ่มต้นชีวิตแห่งการเป็นนักเรียนนั้น สิ่งที่ควรฝึกให้เด็กรู้จักก่อนเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือ "ความปลอดภัย" ของการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนหรืออุปกรณ์ศิลปะทั้งหลาย

          พูดได้ว่าเมื่อลูกเริ่มจับช้อน พอจะหม่ำอาหารเองได้ก็เริ่มให้ลูกหัดจับดินสอสี ให้ลูกได้วาดเล่นหัดขีดหัดเขียนเพราะนี่คือการช่วยส่งเสริมให้การทำงานของระบบประสาทสัมผัสของกล้ามเนื้อมัดเล็ก (มือนิ้วมือ) มีความแคล่วคล่องแข็งแรงยิ่งขึ้นอันเป็นพื้นฐานในการใช้มือใช้นิ้ว เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ในขั้นสูงขึ้นต่อ ๆไป เช่น พับผ้า พับกระดาษ ฯลฯ...

          ในบรรดาเครื่องเขียนถ้าหากไม่คิดอะไรมาก ก็อาจดูว่าไม่น่าจะมีอันตรายใด ๆ...แต่อาจต้องตกใจเมื่อรู้ว่าสิ่งต่อไปนี้ ล้วนเป็นเหตุให้เด็ก ๆ หลายคนเจ็บตัวและถึงขั้นอาจสูญเสียความสามารถในการทำงานของร่างกายบางส่วนมาแล้ว

        1. ดินสอ เป็นอุปกรณ์การเรียนชิ้นแรก ๆ ที่เด็ก ๆ รู้จักและต้องใช้งานเป็นประจำของคุ้นเคยนี้ดูแล้วไม่น่ามีอันตรายใด ๆแต่ว่ามีรายงานการบาดเจ็บสาหัสจากดินสอเป็นเหตุอยู่มากมายที่พบได้บ่อยคือดินสอแทงทะลุมือเด็กจนไส้ดินสอหักฝังในแล้วเกิดติดเชื้อในภายหลัง นอกจากนั้นก็มีดินสอแทงทะลุเข้าไปในตาทำให้กระจกตาเสียหาย หรือเกิดการอักเสบของลูกตาดินสอแทงทะลุไขสันหลังจนเกิดการติดเชื้อและทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบประสาท แทงทะลุทรวงอกทำให้เกิดลมในปอด ดินสอแทงทะลุหัวใจและเส้นเลือดใหญ่ ฯลฯ

        2. ดินสอสีไม้ มีแบบที่เป็นแท่งเล็ก ๆ ซึ่งเหมาะกับนิ้วมือน้อย ๆ ของลูกแถมจับได้ไม่มีสีมาติดนิ้วเลอะมือ ข้อสำคัญคือไม่แพงครับเพราะมันมีส่วนผสมของเนื้อสีน้อยกว่าดินสอสีประเภทอื่นข้อที่ควรระวังก็คือ อย่าให้เด็กเอาเข้าปาก-จมูก-หูหรือแม้แต่อย่าให้เด็กๆ เดินถือหรือวิ่งถือไปถือมา เพราะส่วนแหลม ๆของหัวดินสออาจทิ่มตำเนื้อตัวหรือลูกตาของเขาได้

          นอกจากสีไม้แล้ว บรรดาสีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีไม้ สีเทียน สีน้ำ หรือสีชอล์ก หากเด็ก ๆ จำเป็นต้องใช้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องพิถีพิถันในการเลือกซื้อให้กับลูก ๆโดยเลือกที่มีการการันตีที่บรรจุภัณฑ์ว่า non toxic หมายถึงมีกระบวนการผลิตที่ไร้สารพิษ ไร้สารตะกั่ว อาจมีเครื่องหมาย CEพิมพ์การันตีความปลอดภัยไว้ด้วย เพราะนั่นหมายถึงเป็นสินค้าที่ได้รับรองความปลอดภัยไว้ด้วย

          โดยเฉพาะสีเทียนบ้านเรานั้น มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเวลาเลือกซื้อควรเลือกแบบที่มีสัญลักษณ์มอก.ตามมาตรฐานจะตรวจสอบความแข็งแรงของสีและส่งตรวจหาสารโลหะหนักปนเปื้อนในสีหลายชนิดแต่ละชนิดก็มีโทษต่อร่างกายแตกต่างกันไป เช่น ตะกั่วทำให้ปัญญาอ่อน ปรอทจะทำลายสมองมีผลต่อการเคลื่อนไหว การพูดการมองหรือการได้ยิน ค่ากำหนดของสารเป็นพิษได้แก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องไปกับมาตรฐานสากล และเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบันโดยปริมาณของโลหะหนักในสารละลายที่สกัดได้ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด คือพลวง 60 สารหนู 25 แบเรียม 1,000 แคดเมียม 75 โครเมียม 60 ตะกั่ว 90 ปรอท60 เซลีเนียม 500 (หน่วย : มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)

          ขณะนี้มีการรับรองมาตรฐานเฉพาะสีเทียนครับ สีบางชนิดเช่น สีผง (ขายเป็นซอง ๆ) ยังไม่มีการรับรองมีขายกันเกลื่อนกลาดโดยไม่มีเกราะความปลอดภัยถ้าไม่แน่ใจว่าสีนั้นจะมีพิษหรือไม่ประกอบกับไม่มีเครื่องหมายที่รับประกันใด ๆ เลยไม่ต้องรีรอเลยครับพาลูกเดินห่างออกมาอย่าไปซื้อสารพิษเข้าสู่มือลูกเลยนะครับ ควรเลือกซื้อสีที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)เพราะว่าสีที่ไม่ได้คุณภาพ จะมีส่วนผสมของสารโลหะหนักหากเด็กกลืนเข้าไปจะเกิดอันตรายต่อร่างกายของเด็ก

        3. กรรไกร เด็ก ๆ มักโดนกรรไกรบาดนิ้วบาดมือที่น่าตกใจคือเอาไปเล่นกันอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนทะลุท้อง หรือลูกตาดังนั้นโรงเรียนและที่บ้านจะต้องให้เด็ก ๆ นั้นใช้กรรไกรพลาสติกหรือใช้กรรไกรที่มีปลายมน และแม้เด็ก ๆ จะใช้กรรไกรที่ว่านี้แล้วก็ตามแต่ก็ต้องอยู่ในการดูแลของคุณครูและอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคุณแม่ที่บ้านด้วยเช่นกันครับ

        4. น้ำยากัดกระจก ที่ใช้กับงานศิลปะที่พี่ ๆมัธยมมักนำไปใช้ประโยชน์ในงานศิลปะที่โรงเรียนแล้ว กลับมาทำต่อที่บ้านซึ่งเคยตกเป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีก่อนที่เมื่อใช้ไม่หมดแล้วจึงนำมากรอกใส่ขวดน้ำดื่ม (พลาสติก)แล้วตั้งทิ้งไว้บนโต๊ะ น้องชายวัย 4 ขวบ ตื่นเช้ามา...กระหายน้ำเลยชดน้ำในขวดเข้าไปเต็มอีกใหญ่ ผลก็คือล้มลงไปนอนดิ้นไปมาด้วยความเจ็บปวดและก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา เนื่องจากหลอดอาหารทะลุเพราะน้ำยากัดกระจกนั้นเป็นกรดอย่างแรง!

        5. สเปรย์แลคเกอร์ พิษภัยอันรุนแรงของมันถึงขนาดถ้าสูดดมเข้าไปบ่อย ๆก็จะเกิดแทรกซึมเข้าไปในกระแสเลือด ทำอันตรายต่อถุงลม ปอดเนื้อเยื่อ ตับไต อวัยวะภายในต่าง ๆ รวมถึงทำลายระบบประสาทส่วนกลางโดยอาจเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง

        6. ปากกา-วงเวียน ทั้งสองอย่างนี้อาจถือว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องเขียนเครื่องเรียนแท้ ๆแต่เพราะความแหลมคมของมัน จึงต้องสอนลูกๆให้รู้ถึงอันตรายของอุปกรณ์ดังกล่าวสอนให้เด็กเก็บอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ในกล่องที่มิดชิดและนำมาใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่เอามาเล่นกันอย่างเด็ดขาด

        7. น้ำยาลบคำผิด ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมและสอนให้เด็กรู้วิธีการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัยโดยแนะให้หลีกเลียงงการสูดดมไอระเหยของน้ำยาลบคำผิดเพราะอาจได้รับพิษภัยจากสารตะกั่วที่เป็นส่วนผสมในน้ำยาลบคำผิด

        8. กาวตราช้าง หากกาวติดนิ้ว ห้ามดึงแยกจากกัน เพราะจะทำให้เนื้อฉีก ให้เช็ดด้วยน้ำอุ่นหรือแช่มือลงในน้ำสบู่อ่อน ๆ แล้วถูเบา ๆ เพื่อให้กาวค่อย ๆ หลุดออกไป

        หากติดที่ริมฝีปาก อย่าดึง หรือจับแยกให้หลุดออกจากกันแต่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดริมฝีปากให้เปียก และใช้นิ้วถูเบาๆ ให้กาวหลุดออกไปหากเข้าตาให้รีบล้างตากด้วยน้ำสะอาดมาก ๆ จากนั้นก็รีบพาพบแพทย์ทันที

        คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคาดไม่ถึงว่าอุปกรณ์เครื่องเรียนเครื่องเขียนนั้นหากใช้ไม่รู้จักระมัดระวังจะนำภัยอันตรายมาสู่ตนเองดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นประจำ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 337 กุมภาพันธ์ 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระวัง! ภัยจากเครื่องเขียน อัปเดตล่าสุด 9 มีนาคม 2554 เวลา 15:37:27 1,588 อ่าน
TOP