x close

ปิดเทอม เติมเวลาที่หายไปให้ลูก กันเถอะ

แม่และเด็ก - ปิดเทอม

ปิดเทอม...เติมเวลา (ที่หายไป) ให้ลูก
(Momypedia)
โดย: อรุณเบิกฟ้า

          ยุคสมัยนี้ พ่อแม่ลูกหาเวลาอยู่ด้วยกันได้ยากเต็มทีค่ะ บ้านไหนที่พ่อหรือแม่ทำงานแค่คนเดียว อาจจะโชคดีหน่อย เพราะมีอีกฝ่ายคอยแสตนด์บายเลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน แต่ในความเป็นจริง ครอบครัวส่วนใหญ่ทั้งพ่อและแม่มักจะต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียว ฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยงหรือคอร์สเรียนพิเศษต่าง ๆ นานา

          น่าเสียดาย...เด็กวัยนี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายที่จะอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ เพื่อนยังไม่มีอิทธิพลมากนัก พ่อแม่ยังคงเป็นฮีโร่สำหรับเขา การจะปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องง่าย ถ้าพ้นช่วงนี้ไป เขาก็จะใช้เวลาอยู่กับเพื่อน กับสังคมข้างนอกมากกว่า ถ้าไม่ลงทุนเวลากับเขาตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่เขาเป็นวัยรุ่นแล้ว อย่ามานั่งน้อยใจก็แล้วกันว่าลูกฟังคนอื่นมากกว่าเรา

          ปิดเทอมนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ลูกจะได้ใช้เวลาอยู่กับบ้าน อย่าปล่อยให้ผ่านไปแบบไร้ค่า ลดจำนวนชั่วโมงกวดวิชาลงหน่อย เลิกคิดถึงค่ายไปสักพัก สำหรับพ่อแม่ที่ทำงาน มองหาจังหวะเหมาะ ๆ ลาพักร้อนมาอยู่กับลูกสัก 2 - 3 วันก็ยังดีค่ะ ไม่ต้องพากันไปเที่ยวไกล ๆ ก็ได้ แค่กิจกรรมธรรมดา ๆ เช่น ทำกับข้าว เล่นกีฬาด้วยกัน ไม่ต้องพาไปหาผู้เชี่ยวชาญที่ไหนหรอกค่ะ พ่อแม่สอนเองได้ พ่อแม่นี่แหละเหมาะสุดแล้ว เพราะการเรียนแบบอื่น ๆ มีเป็นคอร์ส ชั่วครั้งชั่วคราว แต่พ่อแม่สามารถสอนลูกได้ตลอดเวลา และคอร์สพิเศษเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม ความคิดต่าง ๆ ก็ไม่มีที่ไหนสอนได้ดีเท่ากับที่บ้านของเราเอง

          เด็กวัย 7-9 ปี กำลังอยู่ในช่วงที่เกิดพัฒนาการการเรียนรู้ มีความกระตือรือร้น สนใจสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ รอบตัว พ่อแม่ควรจะฉวยเอาโอกาสในช่วงวัยนี้ ส่งเสริมให้ลูกมีประสบการณ์ที่กว้างขวาง เพื่อให้เขาได้พัฒนาทักษะที่หลากหลาย และมีโอกาสสำรวจความสนใจและความสามารถพิเศษของตัวเอง ไม่แน่นะคะ กิจกรรมบางอย่างอาจจะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต และนำไปสู่การศึกษาหาความรู้ และประกอบอาชีพเป็นจริงเป็นจังได้ในอนาคต

         ต่อไปนี้เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่เคยทำกับสมาชิกในบ้านแล้วได้ผลค่ะ เลยรวบรวมมาฝากกัน เผื่อคนที่นึกไม่ออก

         อ่านหนังสืออัดใส่เทป แล้วส่งไปให้โรงเรียนสอนคนตาบอด

         ล้างมุ้งลวด

         ทาสีรั้วบ้าน

         ทำแปลงผักสวนครัว

         สอนลูกทำอาหารง่าย ๆ เช่น ไข่ตุ๋น ข้าวผัด

         ทำกล่องเก็บของ (ใช้ลังกระดาษใบเก่า แปะทับด้วยหน้าการ์ตูนสีจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แล้วเอากระดาษสติกเกอร์ใสคลุมทับอีกที กันหลุดลอก)

         เขียนจดหมายถึงญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนสนิทที่โรงเรียน

         หาของเก่าที่ไม่ใช้แล้ว เช่นหนังสือการ์ตูน ของเล่น มาเปิดแผงขายหน้าบ้าน

         ห่อปกสมุด และหนังสือเรียนด้วยกระดาษสวย ๆ

         เพนต์สีกระถางต้นไม้

          ก่อนที่จะลงมือทำ เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมก่อนนะคะ ชวนลูกคิดว่ากิจกรรมแต่ละอย่างจะใช้อะไรบ้าง อะไรที่ต้องซื้อ อะไรที่พอจะขอยืมคนรู้จักกันได้ ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกทักษะการวางแผนไปด้วยเลย

          กิจกรรมบางอย่าง พ่อแม่แค่ให้ข้อมูลแล้วกระตุ้นให้เขาทำเอง แต่บางเรื่องก็ต้องลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน เรื่องธรรมดา ๆ ของเราอาจจะกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจในสายตาของเด็ก ๆ ก็ได้ค่ะ เพราะเป็นโอกาสที่เขาจะได้เข้าสู่โลกของผู้ใหญ่ ไม่ว่าอะไรที่พ่อแม่ทำ เด็ก ๆ ก็เรียนรู้จากมันได้ทั้งนั้น

          ห้องเรียนไม่ได้เป็นสถานที่เดียวสำหรับการเรียนของลูกนะคะ เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป บางคนชอบอ่าน บางคนชอบฟัง บางคนชอบลงมือทำ บางคนชอบสำรวจ บางคนชอบทายปัญหา พ่อแม่ต้องคอยสังเกตค่ะว่า ลูกเรามีสไตล์แบบไหน จะได้เลือกกิจกรรมที่เหมาะกับเขาเป็นตัวดึงดูด

          หรือถ้าลูกแสดงความสนใจในเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ก็รีบใช้โอกาสนั้นให้เป็นประโยชน์ค่ะ หาสิ่งอื่น ๆ มาเติมเต็มความอยากรู้ของเขา เช่น ถ้าลูกชอบอ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ อาจจะลองแนะนำหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผจญภัยหรือเวทมนตร์ เพื่อกระตุ้นนิสัยรักการอ่านให้ต่อเนื่อง หรือถ้าเขาประทับใจกับการปลูกถั่วเขียว อาจจะลองหาพันธุ์ผักอื่น ๆ เช่น ต้นหอม กระเพรา โหระพา มาชวนเขาทำสวนครัวบ้างก็ได้ ถ้าลูกชอบเครื่องยนต์กลไก อาจจะให้ของขวัญเขาเป็นกล่องเครื่องมือเล็ก ๆ แล้วถ้ามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่า ๆ ที่เสียแล้ว เช่น เครื่องคิดเลข นาฬิกา ก็อาจจะยกให้เขาทดลองแกะชิ้นส่วนออกสำรวจดู ถ้าความสนใจของเขาถูกพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ วันหนึ่ง เด็ก ๆ อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นยิ่งกว่าเราเสียอีก

          ...เป็นแบบอย่างให้ลูก กระตุ้นให้เขามีความอยากรู้อยากเห็น หาเวลาเล่นด้วยกัน และชวนเขาคุยแลกเปลี่ยนความคิดแบบสบาย ๆ ระหว่างที่ทำกิจกรรมไปด้วย แค่นี้ก็เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่แสนวิเศษ ซึ่งหาที่คอร์สพิเศษไหน ๆ ก็ไม่มีซะด้วย



  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปิดเทอม เติมเวลาที่หายไปให้ลูก กันเถอะ อัปเดตล่าสุด 25 มีนาคม 2554 เวลา 19:25:44
TOP