x close

นักวิทย์จีนเจ๋ง พัฒนาโคนมปรับแต่งพันธุกรรมนมแม่ได้

นม

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          เว็บไซต์เดลิเมล์ ของอังกฤษ รายงาน เมื่อวันที่ 3 เมษายนว่า ศาสตราจารย์หนิง หลี่ ผู้อำนวยการศูนย์ทดลองเทคโนโลยีเกษตรชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรกรของจีน เปิดเผยถึงความสำเร็จในการพัฒนาโคนมปรับแต่งพันธุกรรม ซึ่งสามารถผลิต "นมมนุษย์" หรือ "นมแม่" ได้ และนมดังกล่าวจะปลอดภัยเหมือนการรับประทานเหมือนกับนมทั่ว ๆไป พร้อมทั้งคาดว่า รสชาติของนมดังกล่าวยังเข้มข้นว่านมมนุษย์อีกด้วย และเชื่อว่าภายในระยะเวลา 10 ปี ผู้คนจะสามารถแห่กันซื้อนมประเภทนี้กันตามซูเปอร์มาร์เก็ต

          ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ผสมพันธุ์วัว 300 ตัว กับยีนมนุษย์ ซึ่งทำให้น้ำนมที่ได้มีส่วนประกอบของสารอาหาร และไขมันแบบเดียวกับนมมนุษย์ และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้เป็นทางเลือกหนึ่งให้กับแม่ลูกอ่อน โดยทารกสามารถดื่มนมวัวนี้แทนนมแม่ได้ ซึ่งถือได้ว่า เป็นความสำเร็จครั้งล่าสุดในการพัฒนาปรับแต่งพันธุกรรม

          ผู้พัฒนากล่าวว่า นมปรับแต่งนี้จะสามารถช่วยเหลือแม่ลูกอ่อนที่ไม่สามารถให้นมลูกได้ และไม่ต้องการใช้นมผงให้นมลูก โดยทีมนักวิจัยกล่าวว่า พวกเขาใช้เทคโนโลยีการโคลนเพื่อปรับแต่งนมดังกล่าวให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับนมมนุษย์ โดยการสร้างยีนของมนุษย์ใน DNA ของวัวนม ซึ่งจะทำให้น้ำนมมีส่วนประกอบของ Lysozyme เป็นโปรตีนที่มีคุณสมบัติป้องกันทารกจากการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างถือกำเนิดช่วงแรก ๆ และยังสามารถผลิตโปรตีน Lactoferrin และ Alpha-lactalbumin ซึ่งช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายเด็กทารกด้วย

          อย่างไรก็ตาม หลังการวิจัยนี้ถูกเผยแพร่ออกมา กลุ่มผู้รณรงค์ในสหราชอาณาจักร ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความสำเร็จในการปรับแต่งพันธุกรรมนี้ พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยในการปรับแต่งพันธุกรรม เนื่องจากนมมนุษย์มีความแตกต่างจากนมวัวในหลาย ๆ ประการ เช่น นมวัวมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของทารกและระบบภูมิคุ้มกันน้อยกว่า ย่อยได้ยากกว่า มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่า และไม่มีสารในการต้านทานเชื้อโรคได้เหมือนกับนมมนุษย์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่แห่งสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (Royal Society for the Protection of Animals) แสดงความวิตกถึงปัญหาสุขภาพของลูกวัวที่จะเกิดจากการโคลน เนื่องจากเป็นการกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ โดยจากการทดลองนี้มีลูกวัว 42 ตัว รอด 26 ตัว ตาย ทันทีที่เกิด 10 ตัว และอีก 6 ตัว ตายภายใน 6 เดือน

          อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบในการปรับแต่งพันธุกรรมอาหารของจีนไม่เข้มงวดเท่ากับยุโรป ซึ่งนมปรับแต่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขายในสหราชอาณาจักร นอกเสียจากว่าได้รับการยอมรับจากทั้งสหภาพยุโรป และผ่านการทดสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร ศาสตราจารย์ คีธ แคมป์เบล นักชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธติ้งแฮม และสมาชิกกลุ่มผู้ที่ทำการโคลนแกะดอลลี่ในปี 1996 กล่าวว่า สัตว์ที่ได้รับการปรับแต่งทางพันธุกรรมจะไม่ได้รับอันตรายทางร่างกาย นอกเสียจากว่า นักวิทยาศาสตร์ตั้งใจจะใส่ยีนที่ทำให้นมเป็นพิษลงไป และการปรับแต่งพันธุกรรม หากทำอย่างถูกต้องจะสร้างประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์กับผู้ที่ไม่สามารถรับน้ำตาลจากนม และผู้ที่มีอาการปวดท้องจากการบริโภคนม





    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิทย์จีนเจ๋ง พัฒนาโคนมปรับแต่งพันธุกรรมนมแม่ได้ อัปเดตล่าสุด 4 เมษายน 2554 เวลา 20:15:53
TOP