x close

สูตรไม่ลับ การจัดพิธีแต่งงาน ให้ถูกประเพณีไทย




สูตรไม่ลับ การจัดพิธีแต่งงาน ให้ถูกประเพณีไทย (อสมท.)


          การแต่งงาน ในความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายความว่า "การทำพิธีเพื่อให้ชายหญิง อยู่กินเป็นผัวเมียกันตามประเพณี" การแต่งงานถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตครอบครัวของมนุษย์ในสังคม ผู้ที่จะมีครอบครัวได้ ก็คือ ชายหญิงที่อยู่ในวัยอันสมควรที่จะเป็นสามีภริยากันได้ โดยชอบด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีและตัวบทกฎหมายของสังคม ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคตามสมัย ทำให้พิธีการแต่งงานมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามคตินิยมของแต่ละท้องถิ่น

          สำหรับผู้ที่มีชื่อเสียงและกำลังทรัพย์ อาจจะจัดพิธีแต่งงานใหญ่โต ให้หรูหราสมฐานะอย่างไรก็ได้ แต่ในสภาพเช่นปัจจุบัน เชื่อว่าหนุ่มสาวหลายคู่คงจะคำนึงถึงพิธีที่คงความถูกต้องตามประเพณี ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่ายและประหยัด สอดคล้องกับสภาพสังคมและสภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้มากกว่า ซึ่งในที่นี้จะขอเสนอแนวทางปฏิบัติอันเนื่องด้วยการแต่งงานในทางที่ชอบด้วยประเพณีและตัวบทกฎหมายของไทย โดยตัดความสิ้นเปลืองออกไปคงไว้แต่สาระสำคัญของการจัดงาน ที่จำเป็นตามขั้นตอนดังนี้

          1. เริ่มจากการสู่ขอ ซึ่งเป็นเบื้องต้น

          ของประเพณีแต่งงานของสังคมไทย ถือเป็นเรื่องสิริมงคลของชายหญิงที่จะเป็นสามีภริยากันและเป็นการให้เกียรติแก่ฝ่ายหญิงด้วยการสู่ขอมี 2 ขั้นตอน คือ การทาบทามและการสู่ขอ การทาบทาม เป็นการเริ่มต้นของการสู่ขอโดยฝ่ายชาย จัดผู้ใหญ่ที่นับถือเป็น “เฒ่าแก่ทาบทาม” ไปทาบทามกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เมื่อฝ่ายหญิงไม่ขัดข้อง ก็จะมีข้อตกลงเกี่ยวกับสินสอดทองหมั้น ตลอดจนกำหนดวันเวลา ที่ฝ่ายชายจะมาสู่ขอต่อไป ส่วนการสู่ขอเป็นการยืนยันว่า ยอมรับข้อตกลงพร้อมทั้งหารือเรื่องพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน หรือฤกษ์ยามกันต่อไป

          พิธีหมั้น เป็นการมอบสิ่งของให้ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความมั่นหมายว่า จะแต่งงานด้วย ปัจจุบันการหมั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้แหวนเป็นของหมั้น และพิธีหมั้นก็มีเพียงชายสวมแหวนหมั้น ให้แก่ฝ่ายหญิงต่อหน้าเฒ่าแก่ และญาติผู้ใหญ่ ของทั้งสองฝ่าย ที่มาเป็นสักขีพยาน และมีการเลี้ยงกันเล็กน้อย ก็เป็นเสร็จพิธีหมั้น ในกรณีที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย คุ้นเคยไว้เนื้อเชื่อใจกันดีอยู่แล้ว จะเหลือไว้แต่การแต่งงาน และการจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้

          2. ขั้นตอนต่อมา เป็นการจัดพิธีแต่งงาน ในอดีตจะจัด 2 วัน 

          เรียกว่าวันสุกดิบ และวันแต่งงาน แต่โดยสภาพภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน นิยมจัดงานให้เสร็จในวันเดียว ซึ่งพิธีแต่งงานแนวประหยัด ที่นำมาเสนอในที่นี้มี 4 แบบ ให้เลือก คือ

          พิธีแต่งงานแบบที่ 1เป็นการดัดแปลงโดยตัดวันสุกดิบ และจัดขั้นตอนในทางปฏิบัติให้รวบขึ้น โดยเวลาเช้านิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นคู่บ่าวสาวตักบาตร เลี้ยงพระ เป็นเสร็จพิธีสงฆ์ ช่วงบ่ายฝ่ายเจ้าบ่าวจัดขบวนขันหมาก มายังบ้านเจ้าสาว มีการเชิญขันหมากตรวจสินสอด ไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ 

          พร้อมทั้งอาจจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้ พอช่วงเย็น มีพิธีรดน้ำคู่บ่าวสาว เพื่อเป็นการประหยัด อาจเชิญประธานเพียง 1 ท่าน เป็นผู้รดน้ำและเจิมคู่บ่าวสาว จะนำของชำร่วยแจกผู้ร่วมงาน พอถึงช่วงกลางคืน บิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ ก็จะทำพิธีปูที่นอน และทำพิธีส่งตัวเจ้าสาว พร้อมทั้งมีการให้โอวาท และอวยพรตามธรรมเนียมเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน

          พิธีแต่งงานแบบที่ 2 ฝ่ายเจ้าบ่าว จะจัดขันหมากมายังบ้านเจ้าสาว พร้อมทำบุญตักบาตร แล้วจดทะเบียนสมรสในช่วงเช้า ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย ก็จัดพิธีรดน้ำและเลี้ยงอาหารแก่แขก ซึ่งจะเป็นอาหารว่าง หรืออาหารเย็น ก็แล้วแต่ความเหมาะสม พอช่วงกลางคืน ก็จะมีพิธีส่งตัวเจ้าสาว โดยมีพิธีปูที่นอน แล้วให้โอวาท และอวยพรแก่คู่บ่าวสาว โดยบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่

          พิธีแต่งงานแบบที่ 3 ในช่วงเช้าคู่บ่าวสาวจัดถวายสังฆทาน แล้วร่วมกันตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้นมีพิธีรดน้ำ หรือผูกข้อมือ จดทะเบียนสมรส ซึ่งก็มีเฉพาะญาติผู้ใหญ่ของคู่บ่าวสาวเท่านั้นที่มาร่วมพิธี เสร็จแล้วช่วงเที่ยง มีการเลี้ยงอาหาร ซึ่งอาจจัดใน หรือนอกสถานที่ก็ได้ตามสะดวก ส่วนการส่งตัว เป็นการจัดภายในเท่านั้น เป็นอันเสร็จพิธี

          พิธีแบบที่ 4 ช่วงเช้า เจ้าบ่าวเจ้าสาวถวายสังฆทาน หรือตักบาตรที่หน้าบ้านหรือที่วัด ต่อจากนั้น บิดามารดา พร้อมทั้งญาติผู้ใหญ่ ที่ใกล้ชิดจะรดน้ำอวยพรหรือผูกข้อมือ แล้วไปจดทะเบียนสมรสเป็นเสร็จพิธี หรือในกรณีที่ต้องการให้กระชับที่สุด ก็อาจมีเพียงถวายสังฆทาน แล้วไปจดทะเบียนสมรสเลยก็ได้

          จะเห็นได้ว่า การที่คนเรารักกัน และต้องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันนั้น ไม่จำเป็นต้องมีพิธีที่ใหญ่โตให้สิ้นเปลือง เงินทอง เสมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพียงแค่มีพิธีที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม ในยุคสมัยปัจจุบันก็น่าเพียงพอแล้ว ซึ่งก็สามารถทำให้ชีวิตคู่ครองรักกันยืนนานได้เช่นกัน

          การแห่ขันหมาก เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการแต่งงาน ของคนไทยในภาคกลาง โดยถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เมื่อมีการทาบทามฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายชายจะมีการแห่ขันหมากมา เพื่อทำพิธีหมั้นฝ่ายหญิง และนำไปสู่การรดน้ำ และส่งตัวบ่าวสาว จึงถือว่าเป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานของคนไทย ในขบวนขันหมากนำด้วย ขบวนการร่ายรำประกอบขบวนกลองยาวเถิดเถิงอย่างสนุกสนาน และตามด้วยขันต่าง ๆ 2 ขัน ดังนี้

          1. ขันหมากหมั้น ประกอบด้วย

          ขันหมากเอก บรรจุหมากพลู ซึ่งถือว่าเป็นของใช้ประจำบ้านของคนไทยในอดีต

          ขันหมากโท บรรจุวัตถุมงคล อาทิ ข้าวเปลือก ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ยอดและดอกของดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญงอกงาม ความรักและการอยู่ร่วมกัน อย่างสงบสุขสมบูรณ์

          2. ขันของหมั้น บรรจุของหมั้นต่างๆ 
เช่น เงิน ทอง แก้ว แหวน เงินสดค่าสินสอด และตามด้วยพานผ้าไหว้ และของขวัญสำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิง

          เมื่อขบวนแห่ขันหมากมาถึงบ้านฝ่ายหญิง เพื่อนฝ่ายหญิงจะตั้งประเงิน ประตูทอง กั้นขบวนขันหมาก ถ้าฝ่ายชายจะผ่าน ต้องจ่ายค่าผ่านประตูเงิน ประตูทอง จึงเข้าสู่พิธีหมั้น และทำพิธีหมั้นตามประเพณี จึงถือว่าเป็นอันจบขบวนแห่ขันหมากอย่างสมบูรณ์




 เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร I Do


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สูตรไม่ลับ การจัดพิธีแต่งงาน ให้ถูกประเพณีไทย อัปเดตล่าสุด 30 สิงหาคม 2552 เวลา 15:56:40
TOP