x close

คุณพร้อมจริงไหม ที่จะแต่งงาน


คุณพร้อมจริงไหม ที่จะแต่งงาน

          เมื่อไหร่กันที่ความรักนั้นจะเรียกได้ว่าสุกงอม จนถึงขั้นที่ตัดสินใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันได้แล้ว คุณพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การแต่งงานแล้วหรือยัง การตัดสินใจครั้งนี้ของคุณเร็วเกินไปหรือไม่ อะไรที่จะเป็นปัจจัยในการพิจารณาถึงความพร้อมในการแต่งงานได้บ้าง ลองมาดูกันค่ะ

  1. คุณคบหากันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี และหมั้นกันแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

          ว่ากันว่าความรักจะไปได้สวยในช่วงหนึ่งปีแรกที่คบหากัน หลังจากนั้นนิสัยที่แท้จริงก็จะเริ่มปรากฏ เพราะฉะนั้น หากคุณตัดสินใจเร็วเกินไปก็มีโอกาสที่จะพลาดได้ ระยะเวลาสัก 16 เดือน หรือหนึ่งปีครึ่ง จะพอช่วยให้คุณเห็นตัวตนทั้งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของคนรักได้ อย่างน้อยก็ทำให้คุณได้เรียนรู้ว่า คนที่คุณคิดว่าใช่คนนี้คือคนที่จะใช้ชีวิตร่วมกันต่อไปในอนาคตอย่างมีความสุขได้หรือไม่

  2. มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน

          ไม่มีคู่รักคู่ไหนไปด้วยกันรอด หากไม่มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ถ้าคุณยังคงตามเช็คโทรศัพท์มือถือ อีเมล ข้อความในเฟซบุ๊กของคนรักอยู่ล่ะก็ เชื่อเถอะว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะแต่งงานหรอก การแต่งงานคือการใช้ชีวิตร่วมกัน เปรียบเป็นกีฬาก็คือการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค ต่างฝ่ายต่างต้องเชื่อใจกันและกันว่าอีกคนกำลังทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด หากมัวแต่ระแวงกัน เกมรักนี้คงไปไม่รอดแน่นอน

  3. คุยถึงเรื่องอนาคตอย่างละเอียดกันแล้ว

          การแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน ก็หมายถึงการวางอนาคตของคนทั้งคู่เอาไว้ร่วมกัน การคุยและวางแผนเรื่องอนาคตอย่างรอบคอบตั้งแต่ก่อนแต่งงาน จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้คนทั้งสองอยู่เคียงข้างกันอย่างมั่นคงไปได้จนแก่เฒ่า ดีกว่าแบบที่คิดว่าอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้มันเกิด โดยเรื่องที่คุณควรจะได้คุยกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ได้แก่…

             เรื่องลูก คุณทั้งสองต้องการที่จะมีลูกด้วยกันหรือไม่ หากต้องการจำนวนกี่คนที่คุณทั้งสองปรารถนา และเมื่อไหร่ที่พร้อมจะสร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ รวมถึงคุยในกรณีที่หากคู่ของคุณประสบภาวะมีบุตรยากด้วย

             เรื่องบ้าน คุณทั้งสองจะอยู่บ้านที่ไหน เป็นบ้านที่เช่าหรือซื้อ รวมทั้งใครรับผิดชอบตำแหน่งหน้าที่ใดในบ้านบ้าง

             เรื่องสัตว์เลี้ยง คุณทั้งสองปรารถนาที่จะมีสัตว์เลี้ยงหรือไม่ จะเป็นสัตว์ชนิดใด เลี้ยงไว้ภายในหรือนอกบ้าน ใครจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

             เรื่องญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย มีฝ่ายใดที่ต้องการปลูกบ้าน หรืออาศัยอยู่ใกล้กับพ่อแม่ของตัวเองหรือไม่ จะแบ่งเวลาไปเยี่ยมครอบครัวของแต่ละฝ่ายบ่อแค่ไหน จัดสรรวันหยุดที่จะไปใช้เวลากับครอบครัวของแต่ละคนอย่างไร

  4. มีเหตุผล และสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี

          ไม่ใช่เรื่องผิดหากคนรักกันจะมีการทะเลาะเถียงกันบ้าง เพื่อหาข้อสรุปให้กับข้อโต้แย้ง แต่สำหรับคู่ที่พร้อมจะใช้ชีวิตร่วมกันให้ยืดยาวต่อไปในอนาคต ขอให้เป็นคนที่ระลึกได้เสมอว่า ทุกครั้งที่มีปากเสียงกัน จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังและเข้าใจในตัวอีกฝ่าย ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะแต่เพียงเท่านั้น ต้องมีเหตุผล และไม่พูดจาด้วยอารมณ์ ในที่สุดก็จะสามารถหาข้อตกลงตรงกลางร่วมกันได้ นี่จึงจะเป็นคุณสมบัติของคู่รักที่พร้อมจะแต่งงาน และมีความรักที่ราบรื่นด้วยกัน

  5. คุณทั้งคู่ต่างได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวของแต่ละฝ่าย 

          การแต่งงาน นอกจากจะหมายถึงการมีชีวิตเข้าไปเกี่ยวพันกับใครอีกคนแล้ว ยังหมายถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับครอบครัวของอีกฝ่ายด้วย ไม่ว่าคุณจะเข้ากับครอบครัวของคนรักได้ดี หรือมีปัญหาหมางใจกันบ้างก็ตาม การได้ทำความรู้จัก พบปะกับครอบครัวของอีกฝ่าย จะทำให้คุณรู้ว่าหลังจากแต่งงานแล้ว คุณจะต้องทำตัวอย่างไรให้เข้ากับครอบครัวของอีกฝ่ายได้

          เพราะการแต่งงานไม่ใช่เรื่องของการจัดงานแต่ง การเลือกชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือการส่งบัตรเชิญเข้าร่วมงานเท่านั้น แต่การแต่งงานคือการวางแผนที่จะใช้ชีวิตร่วมกับคนที่เรารักอย่างราบรื่น และยาวนาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องรักที่เพ้อฝัน หากคนทั้งคู่มีความรัก ความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมีความพร้อมที่จะใช้ชีวิตร่วมกันจริง ๆ ค่ะ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณพร้อมจริงไหม ที่จะแต่งงาน อัปเดตล่าสุด 7 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:44:30
TOP