x close

แพทย์เตือน!! คาร์บ็อกซี่ หลุมพลางของคนคลั่งผอม

รูปร่างผอม


แพทย์เตือน!!คาร์บ็อกซี่ หลุมพลางของคนคลั่งผอม (ไทยโพสต์)

          ปัญหารูปร่างและส่วนเกินต่างๆ กลายเป็นปัญหากวนใจของหลายคน ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย เพื่อเอาใจคนที่อยากมีรูปร่างเพรียวบาง แต่ไม่อยากเสียเวลาออกกำลังกาย หรืออดอาหารให้ทรมาน 

          เทคโนโลยีที่รู้จักอย่างแพร่หลายในแวดวงความงาม เริ่มจากการดูดไขมัน การผ่าตัดไขมันส่วนเกิน ไปจนถึงการทำ "คาร์บ็อกซี่" ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นกระแสมาแรง เนื่องจากมีการโฆษณาชวนเชื่อ  อวดอ้างสรรพคุณกันอย่างครึกโครม แต่ประเด็นสำคัญคือก่อนทำการรักษาคุณรู้จักคาร์บ็อกซีดีพอหรือยัง ?

          นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามกล่าวถึงกระแสความนิยมของคาร์บ็อกซีว่า ปัจจุบันมีผู้สนใจทำคาร์บ็อกซีกันอย่างมากมาย เนื่องจากมีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถสลายไขมันและเซลลูไลต์เฉพาะส่วนได้ในระยะเวลาไม่นาน  และขั้นตอนไม่ยุ่งยาก  แต่หารู้ไม่ว่าคาร์บ็อกซีกำลังเป็นภัยเงียบที่คุกคามผู้บริโภค หากไม่ศึกษาถึงผลกระทบให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับบริการ

          นอกจากนี้ รศ.นพ.นิยม ตันติคุณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันเรารู้จักคาร์บ็อกซี (Carboxy) ว่า เป็นนวัตกรรมความงามเพื่อใช้ลดไขมันเฉพาะที่ด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ละลายน้ำได้ดี  สลายตัวได้เร็ว และพบว่าเมื่อฉีดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปยังชั้นไขมันใต้ผิวหนัง จะช่วยเพิ่มการขยายตัวของเส้นเลือดและทำให้เซลล์ไขมันสลายตัวและถูกกำจัดออกไป เป็นเทคนิคใหม่ในการขจัดเซลลูไลต์หรือลดไขมันส่วนเกินในบริเวณที่ไม่ต้องการ เช่น บริเวณ หน้าท้อง ใต้ท้องแขน สะโพก น่อง ต้นขา ฯลฯ

          อย่างไรก็ตาม ในวงการแพทย์มีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้อยู่ก่อนแล้ว เช่น การฉีดเข้าช่องท้องขณะส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน ซึ่งหากใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจะไม่ส่งผลอันตรายใดต่อร่างกาย เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สามารถละลายน้ำได้ดีและสลายตัวได้รวดเร็ว

          รศ.นพ.นิยม กล่าวต่อว่า กรรมวิธีในการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้นั้นสามารถทำได้ โดยแพทย์จะใช้เข็มฉีดยาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดเล็กมาก  ประมาณ 0.3 มม. สอดเข้าไปในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง แล้วปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปตามปริมาณที่เหมาะสม โดยขณะที่ก๊าซผ่านเข้าไปสู่ชั้นผิวนั้นจะรู้สึกอุ่นบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย เมื่อคลำผิวบริเวณที่ฉีดจะได้ยินเสียงเหมือนมีก๊าซอยู่ใต้ผิว  ลักษณะอาการหลังจากฉีดก๊าซเข้าไปในผิวหนัง อาจมีอาการปวดและรู้สึกตึง หรือบางรายอาจมีรอยช้ำเกิดขึ้นและก็จะหายไปได้เองในภายหลัง

          ทั้งนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังยังย้ำอีกว่า การทำคาร์บ็อกซีสามารถใช้ได้ผลในการสลายไขมันเฉพาะที่  ลดเฉพาะจุด  แต่ไม่สามารถใช้ลดน้ำหนักได้ ที่สำคัญผู้ที่ให้การรักษาควรเป็นแพทย์เท่านั้น ในส่วนความคงทนในการรักษาขึ้นอยู่กับการดูแลตนเอง เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

          กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการฉีดคาร์บ็อกซี ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เพราะหากก๊าซบางส่วนผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดอาจทำให้อาการดังกล่าวแย่ลง ดังนั้น ก่อนปล่อยก๊าซเข้าไปแพทย์จึงต้องมั่นใจว่าก๊าซจะไม่ผ่านเข้าไปในเส้นเลือด

          ในปัจจุบันข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซีปลอดภัยนั้นยังมีน้อย เท่าที่ทำการสืบค้นรายงานทางการแพทย์พบว่า มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่รับรองว่าการทำคาร์บ็อกซีได้ผลและส่งผลข้างเคียงน้อย

          นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า  การใช้ก๊าซคาร์บอนฉีดยังเป็นการทดลอง ยังไม่มีผลรับรองออกมาอย่างเป็นทางการ ทางที่ดีผู้บริโภคควรรอให้มีรายงานทางการแพทย์รับรอง 10 ฉบับขึ้นไป จึงนับว่าปลอดภัย 

          สำหรับราคาค่าบริการที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคนั้น ก็มีการจัดโปรโมชั่นและแพ็กเกจดึงดูดใจที่หลากหลาย อาทิ เลือกใช้บริการ 10 ครั้ง แก้ไขเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง ไม่จำกัดระยะเวลาในการรักษา สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 8,900  บาท หรือถ้าอยากประหยัดก็มีให้เลือกแบบบุฟเฟต์  คือใช้บริการกี่ครั้งก็ได้  และไม่จำกัดบริเวณที่ทำการรักษา แต่จำกัดระยะเวลาต้องใช้บริการภายใน 1 เดือน สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท แต่จะถูกหรือแพงอย่างไรถือว่าอยู่ในราคาที่จ่ายไม่ยากจนเกินไป... สำหรับคนคลั่งผอม



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์เตือน!! คาร์บ็อกซี่ หลุมพลางของคนคลั่งผอม อัปเดตล่าสุด 10 กรกฎาคม 2552 เวลา 14:31:39 19,073 อ่าน
TOP