x close

คุมกำเนิดแบบไหน ถึงจะเหมาะกับสองเรา



คุมกำเนิดแบบไหน ถึงจะเหมาะกับสองเรา (Lisa)


          ปัจจุบันเทคนิควิธีเพื่อการคุมกำเนิดได้พัฒนาไปมาก ดังจะเห็นได้ว่าการคุมกำเนิดไม่ได้มีเฉพาะในรูปของยากิน ยาฉีด ยาฝังไว้ใต้ผิวหนัง หรือถุงยางอนามัยเท่านั้น แต่ยังมีทั้งแบบที่เป็นพลาสเตอร์ แบบแท่ง แบบห่วง หรือแบบเกลียวอีกด้วย ซึ่งแต่ละอย่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะตัว และข้อดี-ข้อเสีย ที่แตกต่างกันไป

          แม้แต่ในแง่ของตัวยาสำคัญซึ่งบรรจุอยู่ในยาคุมกำเนิดแบบเม็ดเองก็ได้มีการปรับปรุงให้มีขนาดปริมาณของฮอร์โมนลดน้อยลง รวมถึงได้มีการออกแบบให้รับประทานง่าย จดจำง่าย และสะดวกพก แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังรู้สึกว่าไม่สะดวกสบายพอ และยังรู้สึกหวั่นเกรงผลข้างเคียงต่างๆ ของฮอร์โมนอยู่ด้วย เหตุนี้เองจึงเปิดโอกาสให้การผลิตยาและอุปกรณ์การคุมกำเนิดในรูปผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ ออกมาสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง


วิธีการคุมกำเนิดแบบที่มีฮอร์โมน

แอนตี้-เบบี้-พลาสเตอร์

          เพียงแปะแผ่นพลาสเตอร์บนผิว ตัวยาฮอร์โมนที่อยู่ในแผ่นพลาสเตอร์ก็จะค่อยๆ ซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่หลอดเลือด จากนั้น ตัวยาที่เป็นฮอร์โมนดังกล่าวก็จะเข้าไปขัดขวางการตกไข่ อย่างไรก็ดี พลาสเตอร์คุมกำเนิดชนิดนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนแผ่นใหม่ทุกๆ สัปดาห์ เว้นสัปดาห์ที่มีรอบเดือนมาจะไม่ต้องติด ดังนั้น ภายในหนึ่งเดือนก็จะติดพลาสเตอร์ประมาณ 3 แผ่น

ข้อดี: พลาสเตอร์ชนิดนี้มีข้อดีเมื่อเปรียบเทียบกับยาเม็ดคุมกำเนิดคือ ตัวยาฮอร์โมนไม่ต้องเดินทางผ่านกระเพาะหรือลำไส้ ดังนั้นจึงช่วยให้ไม่ถูกน้ำย่อยทำลาย และจะไม่สูญสลายไปเมื่อเกิดอาการท้องร่วงท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน

ข้อเสีย: ผิวที่ถูกพลาสเตอร์แปะอาจเป็นรอยแดงและกาวเหนียวจากพลาสเตอร์ก็จะติดแน่นบนผิวทำให้เช็ดออกยาก อย่างไรก็ดี มีทางแก้ไขได้โดยการย้ายที่ไปแปะพลาสเตอร์ตรงส่วนอื่นของร่างกายบ้างตามความเหมาะสม

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: การแปะพลาสเตอร์คุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ ผลเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากมีผู้หญิง 6 ใน 1,000 คนเท่านั้นที่เกิดตั้งครรภ์ หลังจากที่เลือกใช้วิธีคุมกำเนิดแบบนี้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: คือผู้หญิงที่สภาพร่างกายรับฮอร์โมนได้ แต่มักจะหลงลืมกินยาคุมบ่อยๆ


แบบฝังแท่งยาคุมไว้ใต้ผิวหนัง

          ฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้ว ก่อนที่แพทย์จะทำการฝังแท่งยาฮอร์โมนคุมกำเนิดไว้ใต้ผิวหนังแถวๆ ต้นแขน จะต้องมีการฉีดยาชาให้ก่อน หลังจากนั้นตัวยาจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 3 ปี

ข้อดี: การคุมกำเนิดวิธีนี้สะดวกสบายในแง่ที่สามารถช่วยคุมกำเนิดได้นานเป็นปี และไม่ต้องมาจดจำว่าวันนี้กินยาไปแล้วหรือยัง

ข้อเสีย: แท่งยาที่ฝังอยู่ใต้ผิวจะเป็นปุ่มนูน ซึ่งอาจสร้างความรำคาญได้ หนำซ้ำหากต้องการเอาออกก็ต้องให้แพทย์ช่วยเอาออกให้ ซึ่งต้องใช้วิธีกรีดผิว

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้สามารถช่วยคุมกำเนิดได้ดีมาก เพราะจากการสำรวจ พบว่าผู้หญิง 1,000 คนที่เลือกใช้วิธีนี้ มีเพียง 0-1 คนเท่านั้นที่เกิดการตั้งครรภ์

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: คือผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิดอย่างชนิดที่มีประสิทธิภาพแน่นอน โดยไม่ต้องมาจดจำหรือกังวลเรื่องการกินยาคุมทุกๆ วัน


แบบฮอร์โมนเกลียว

          เป็นอุปกรณ์การคุมกำเนิดที่ถูกออกแบบให้มีรูปร่างเหมือนตัว T ทำด้วยพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งจะมีตัวยาฮอร์โมนบรรจุอยู่ในตัวอุปกรณ์ดังกล่าว หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องให้สูติรีแพทย์เป็นผู้ใส่ให้เพราะต้องใส่ลึกเข้าไปถึงในมดลูก อย่างไรก็ดี วิธีนี้สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานสูงสุดถึง 5 ปี

ข้อดี: ช่วงเวลาที่จะมีประจำเดือนจะสั้นลง และปวดท้องน้อยลง

ข้อเสีย: ในช่วงเดือนแรกๆ ที่ใส่ จะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย อย่างเช่น มีอารมณ์ซึมเศร้า คัดแน่นเต้านม และประจำเดือนมาไม่ปกติ

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: พบว่าเพียง 2 ใน 1,000 คนของผู้หญิงที่เลือกใช้วิธีนี้ เกิดการตั้งครรภ์

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: เหมาะกับผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องและมีประจำเดือนมามาก เพราะวิธีการนี้ นอกจากจะช่วยคุมกำเนิดได้แล้ว ยังช่วยลดปัญหา ดังกล่าวได้อีกด้วย


ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติ

          ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติคือ ยาคุมชนิดรับประทานที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมจะมีลูก มีทั้งแบบรับประทานทุกวัน เว้นเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน หนึ่งแผงจะมีเพียง 21 เม็ด กับแบบรับประทานเป็นประจำทุกวันไม่มีเว้นช่วง หนึ่งแผงจะมีทั้งหมด 28 เม็ด (มีฮอร์โมน 21 เม็ด ส่วนอีก 7 เม็ดเป็นยาหลอกแต่ให้รับประทานไว้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและช่วยกันลืม)

ข้อดี: ฮอร์โมนจากตัวยานอกจากช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังสามารถช่วยบำรุงผิวพรรณด้วย

ข้อเสีย: อาจทำให้ความเสี่ยงต่อโรคเลือดจับตัวเป็นลิ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงสูบบุหรี่หรือที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ไม่ควรใช้วิธีนี้

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: ผู้หญิงประมาณ 3 ใน 1,000 คน ตั้งครรภ์ระหว่างคุมกำเนิดโดยการเลือกใช้วิธีนี้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: ผู้หญิงสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เหมาะที่จะเลือกใช้วิธีนี้เพราะค่อนข้างง่ายและสะดวก สามารถหาซื้อมารับประทานเองได้ โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์


ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบมินิพิล

          เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดเหมือนกัน แต่มีฮอร์โมนที่แตกต่างจากยาเม็ดคุมกำเนิดแบบปกติ โดยแบบปกติจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนร่วมกัน ซึ่งจะไปช่วยยับยั้งการตกไข่ แต่สำหรับแบบมินิพิลจะมีแต่โปรเจสเตอรโรนอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้ช่วยยับยั้งการตกของไข่ แต่จะไปทำให้เกิดมูกข้นหนืดเพิ่มขึ้นที่ปากมดลูก ส่งผลให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ลำบาก มิหนำซ้ำยังทำให้สภาพภายในมดลูกไม่เอื้ออำนวยต่อการฝังตัวของไข่อีกด้วย

ข้อดี: มีผลข้างเคียงน้อย สามารถรับประทานยานี้ได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้จะอยู่ในระหว่างการให้นมลูกด้วยนมตัวเอง

ข้อเสีย: ต้องรีบประทานยาอย่างตรงเวลาทุกวัน มิฉะนั้นโอกาสตั้งครรภ์จะมีความเป็นไปได้มาก

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: ผลในการป้องกันการตั้งครรภ์ยังไม่ค่อยน่าพอใจเท่าใดนัก เนื่องจากพบว่า 3 ใน 100 คนของผู้หญิงที่เลือกใช้วิธีนี้ตั้งครรภ์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: ผู้หญิงที่สามารถควบคุมตัวเองให้รับประทานตรงตามเวลาที่แน่นอนได้


แบบใส่ห่วงวงแหวน

          โดยห่วงวงแหวนชนิดนี้ถูกออกแบบให้นิ่มและยืดหยุ่นตัวได้สามารถสอดใส่เข้าสู่ช่องคลอดได้ด้วยตัวเองเหมือนกับการใส่ผ้าอนามัยแบบสอด โดยห่วงดังกล่าวจะมีฮอร์โมนบรรจุอยู่ในตัวเสร็จสรรพ ฮอร์โมนจะค่อยสลายตัวเพื่อส่งผลในการคุมกำเนิดทีละเล็กละน้อยเป็นเวลานานประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นห่วงวงแหวนดังกล่าวก็จะหลุดออกมาเองพร้อมกับการมีรอบเดือน เมื่อรอบเดือนหมดก็เริ่มใส่ห่วงอันใหม่

ข้อดี: ไม่มีปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย ไม่ต้องพะวงว่าจะลืมกินยา และไม่ต้องกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มมากขึ้น

ข้อเสีย: รู้สึกแปลกปลอมและรำคาญภายในช่องคลอดบ้างเป็นบางครั้ง

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: ผู้หญิงจำนวนประมาณ 6-7 ใน 1,000 คน มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ทั้งที่คุมกำเนิดด้วยวิธีนี้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ไม่ชอบรับประทานยา



วิธีการคุมกำเนิดแบบไม่มีฮอร์โมน

แบบเกลียวทองแดง

          อุปกรณ์คุมกำเนิดแบบนี้ต้องให้สูตินรีแพทย์เป็นผู้ใส่ให้ เพราะจะต้องใส่ให้ลึกเข้าไปถึงภายในมดลูก หลังจากที่ใส่แล้วอิออนของทองแดงจะคอยทำหน้าที่ขัดขวางการเคลื่อนตัวของเชื้ออสุจิ จึงมีผลทำให้เชื้อไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้

ข้อดี: ใส่ครั้งเดียวสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานถึง 3 ปี แต่ถ้าหากต้องการเอาออกหรือพร้อมที่จะมีลูกแล้วก็ให้แพทย์เอาออกให้ เท่านี้ก็สามารถจะกลับมามีลูกได้ตามปกติเหมือนเดิม

ข้อเสีย: ตอนเริ่มใส่ใหม่ๆ อาจรู้สึกเจ็บ และมีรอบเดือนมามากผิดปกติ

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: พบว่าผู้หญิงจำนวน 1,000 คน ที่เลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 2-20 คน เป็นอัตราเสี่ยงที่แตกต่างกันมาก ทั้งนี้อาจเพราะสภาพภายในมดลูกของแต่ละคนไม่เหมือนกันก็เป็นได้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: เหมาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงที่ร่างกายรับฮอร์โมนไม่ได้ ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรคเลือดจับตัวเป็นลิ่ม และผู้หญิงที่สูบบุหรี่เป็นประจำ


แผ่นกั้นหรือฝาครอบปากมดลูก

          อุปกรณ์ชนิดนี้บางคนอาจเรียกว่า ถุงยางอนามัยสำหรับใช้ในผู้หญิง ทั้งนี้เนื่องจากถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแผ่นยางที่มีความยืดหยุ่นตัว และสามารถจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ด้วยการสอดใส่เข้าไปภายในช่องคลอดให้ลึกจนกระทั่งไปปิดที่ปากมดลูกได้พอดี และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการปกป้องให้มากขึ้นไปอีก ก็จะมีการทาครีมหรือเจลฆ่าเชื้อโรคและฆ่าเชื้ออสุจิที่อุปกรณ์ดังกล่าวก่อนที่จะสอดใส่เข้าไปด้วย

ข้อดี: สามารถใส่เองได้ และจะใส่เฉพาะเวลาที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์

ข้อเสีย: ประสิทธิภาพของการป้องกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการใส่ หากใส่ถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาตามมา

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: พบว่ามีความเสี่ยงสูงประมาณ 4-7 ต่อ 100 รายของผู้หญิงที่เลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: ผู้หญิงที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงฮอร์โมน แต่อย่างไรก็ดี วิธีการนี้นับวันก็จะยิ่งไม่ค่อยเป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากมีความยุ่งยาก แถมมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูงอีกต่างหาก


วัดอุณหภูมิช่องคลอดด้วยคอมพิวเตอร์

          โดยปกติอุณหภูมิภายในช่องคลอดของผู้หญิงสามารถจะบ่งบอกถึงการตกไข่ หรือสัญญาณว่ารอบเดือนกำลังจะมาได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการผลิตอุปกรณ์ชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อตรวจวัดและบันทึกระดับอุณหภูมิดังกล่าวไว้ จากนั้นเครื่องก็จะทำการวินิจฉัยและบอกให้เรารู้ว่าวันไหนเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มากน้อยแค่ไหน อย่างไร และล่าสุดนอกเหนือจากตรวจวัดอุณหภูมิแล้ว เครื่องยังสามารถตรวจวัดระดับของฮอร์โมนในปัสสาวะได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยวันเสี่ยงมีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น

ข้อดี: ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และปราศจากผลข้างเคียง วันไหนที่เหมาะจะมีเพศสัมพันธ์จะถูกเก็บบันทึกเก็บไว้ในเครื่องมือดังกล่าว หลังจากนั้นเครื่องมือนี้ก็จะรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับรอบเดือนของเราแทบทะลุปรุโปร่ง (รู้ดียิ่งกว่าตัวเราเองซะอีก)

ข้อเสีย: เนื่องจากเครื่องมือนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยตรง แต่จริงๆ แล้วมีไว้เพื่อเตือนหรือบอกให้รู้ตัวล่วงหน้าว่าวันใดที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์บ้าง ดังนั้น หากวันไหนที่เครื่องเตือนว่าเสี่ยง วันนั้นก็ต้องขวนขวายหาวิธีคุมกำเนิดมาป้องกัน เช่นใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวยังมีข้อเสียอีกประการหนึ่งคือ ระดับของฮอร์โมนที่ตรวจวัดจากปัสสาวะบางครั้ง มีความผันแปรไม่แน่นอน ซึ่งอาจมีผลทำให้การวินิจฉัยของเครื่องผิดพลาดได้

อัตราเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์: พบผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ประมาณ 1-6 ราย จาก 100 รายที่เลือกใช้วิธีนี้

ผู้ที่เหมาะสมกับวิธีนี้: คุณผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาไม่แน่นอน หรือไม่ค่อยได้จดจำวันที่รอบเดือนมา






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุมกำเนิดแบบไหน ถึงจะเหมาะกับสองเรา อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2552 เวลา 16:40:48 1,789 อ่าน
TOP