x close

พูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว




พูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว (กรุงเทพธุรกิจ)



          การพูดคุยกันระหว่างสามีภรรยา ถึงความต้องการทางเพศ ความสุขสม การตอบสนองทางเพศ ท่วงท่าแห่งการแสดงออกทางเพศที่พึงประสงค์ นับเป็นการขจัดความเข้าใจผิดระหว่างกัน เป็นการยืดชีวิตคู่และการใช้ชีวิตคู่ออกไปอย่างมีความสุข

          การพูดคุยถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ และการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ ทั้งก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน รวมทั้งหลังจากใช้ชีวิตคู่แล้ว ก็ควรจะพูดคุยกันได้ในทุกเรื่องเช่นกัน อย่าลืมว่า การพูดคุย ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน และความเข้าใจก็นำมาซึ่งความรักความอบอุ่นของคนในครอบครัว และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จริงไหมครับ ?

อุปสรรคที่ทำให้คู่สมรสไม่พูดคุยกันเรื่องเพศ

1. การมีความคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอายสำหรับผู้หญิงในอันที่จะบ่งบอกถึงความต้องการทางเพศ และรูปแบบในการมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ต้องการ จนทำให้ผู้หญิงหลายรายไม่มีความสุขจากเพศรสที่ได้รับจากฝ่ายชาย ซึ่งนำไปสู่ความเบื่อหน่ายจากความซ้ำซากจำเจของรูปแบบเดิมๆ จากการมีเพศสัมพันธ์

2. กลัวว่าการเปิดเผยถึงความต้องการต่างๆ ทางเพศ จะทำให้คู่ของตนคิดว่าเป็นคนมักมากในกามคุณ ซึ่งจะทำให้อับอายขายหน้า

3. กลัวว่าถ้าเปิดเผยออกไปแล้วจะไม่เหมือนที่คนอื่นๆ เขาทำกัน จนกลายเป็นการไม่ยอมรับความจริงของชีวิตคู่ที่มีกามารมณ์เป็นพื้นฐาน

4. คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะต้องสอบถามเรื่องเพศกับคู่ของตน เช่น ผู้ชายหลายรายไม่เคยถามภรรยาว่า ไปถึงจุดสุดยอดไหม และผู้หญิงหลายราย ก็ไม่กล้าถามสามีว่า มีความสุขหรือไม่


วิธีการสื่อสารเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย

          ในยุคที่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะโรคร้ายแรงเช่นโรคเอดส์ในขณะนี้ การสื่อสารมีส่วนสำคัญอย่างมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ให้ปลอดภัยมากกว่าเดิม

          แต่วิธีการนำเสนอนั้น ก็มีส่วนในการทำให้เกิดความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันมากกว่าการบอกกล่าวข้างเดียว เพียงแต่การสื่อสารที่ดีต้องยึดถือการให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย หลักการในการสื่อสารนั้นมีหลายวิธีได้แก่

1. การพูดคุยกันให้เข้าใจถึงการใช้ถุงยางอนามัย ว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย ไม่มีการใช้ยา หรือวัสดุเข้าไปในร่างกายฝ่ายหญิง นอกจากนี้ การให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัย ยังเป็นการรักษาความสะอาด ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วย ทั้งยังป้องกันการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยไม่รู้ตัวจากพฤติกรรมเสี่ยงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

2. การไม่ปิดบังซึ่งกันและกันถึงพฤติกรรมทางเพศก่อนที่จะพบกัน และชวนกันไปตรวจสุขภาพ ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้มีการป้องกัน

3. การไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงนอกสมรส หรือในกรณีที่ฝ่ายชายซึ่งมีโอกาสมากกว่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยง โดยการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นนอกสมรส จนต้องสวมถุงยางอนามัยทุกครั้ง และถ้าไม่แน่ใจ อาจขอใช้ถุงยางอนามัย เมื่อจะมีเพศสัมพันธ์กับคู่ของตน โดยอาจจะอ้างถึงความสะอาดก็ได้

          เท่านี้ ครอบครัวของคุณก็จะมีความสุข






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2552 เวลา 16:00:34
TOP