x close

หยุดโป๊... หยุดโชว์ห่วย วันแห่งการแต่งกายในเครื่องแบบ




หยุดโป๊... หยุดโชว์ห่วย วันแห่งการแต่งกายในเครื่องแบบ (มติชน)

          เดี๋ยวนี้ เดินไปทางไหนก็เห็นแต่นักศึกษาแต่งกายแปลก ๆ ผู้หญิงก็นุ่งสั้น สั้นซะจนไม่กล้าขึ้นสะพานลอย ส่วนนักศึกษาชายก็นุ่งกางเกงหลุดก้นโชว์บ๊อกเซอร์ จนผู้ชายคนนั้นดูเซอร์ยังไงไม่รู้

          ทุกครั้งเวลากลับบ้านย่านปทุมธานี เวลาผ่านมหาวิทยาลัยทั้งชื่อดัง ชื่อไม่ดัง กล้าฟันธงเลยว่านักศึกษาร้อยทั้งร้อยไม่มีคนไหนนุ่งเสื้อทับในกระโปรงหรือทับในกางเกงเลย

          จริงๆ เรื่องการแต่งกายของนิสิต นักศึกษา เป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายต่อหลายรอบแล้ว แต่สุดท้ายก็แก้อะไรไม่ได้...
          
          จนวันนี้ความหวัง หวังที่อยากให้นิสิต นักศึกษาไทยแต่งกายถูกระเบียบกลับเห็นเป็นแสงรำไรอีกครั้ง เมื่อทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการแต่งกายของหนุ่มสาวที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยการทำโครงการ "อีกนิดนะครับ อีกนิดนะคะ" พร้อมทั้งยังกำหนดวันสำคัญอีกหนึ่งวัน "วันแห่งการแต่งกายในเครื่องแบบ" ซึ่งตรงกับทุกวันอังคาร



          การปฏิวัติครั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนจากภาพโปสเตอร์ที่แปะไว้โดยรอบมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ภาพนิสิตหญิงใส่เสื้อรัดติ้ว จนปริเห็นข้างใน ซึ่งมีข้อความเขียนเตือนว่า "เสื้อเล็กไปหรือเปล่า" หรือภาพนิสิตหญิง ใส่กระโปรงสั้นและสวมรองเท้าส้นสูงปรี๊ด ข้อความก็เตือนว่า "ก้มก็ไม่ได้ เดินก็ไม่สะดวก"
 
          ใช่ว่าจะถูกเตือนแต่นิสิตหญิง นิสิตชายก็มีเตือน โดยเป็นภาพนิสิตชายนุ่งกางเกงเอวต่ำจนเห็นกางเกงชั้นใน มีข้อความเตือนว่า "ยังมีเรื่องดี ๆ ที่เราอยากเห็น แต่ไม่ใช่กางเกงชั้นใน" และ ภาพใส่กางเกงขาเดฟและรองเท้าแฟชั่นสุดสุด ก็มีคำเตือนว่า "มาเรียนหนังสือหรือมาเดินแบบ"

          รศ.ดร.ธนิต ธงทอง รองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว บอกว่า จริงๆ นิสิตจุฬาฯ ไม่ได้แต่งตัวเลวร้ายอะไร ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเด็กดี แต่ด้วยวัย ด้วยแฟชั่นที่เข้ามา ก็อาจทำให้นิสิตบางคนไขว้เขวไปบ้าง

          "ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องการแต่งกายนั้น สังคมไทยพูดกันมาเยอะแล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่แก้ยาก เพราะมันเป็นเรื่องของจิตสำนึกของตัวนิสิต นักศึกษา อย่างที่จุฬาฯ เด็กที่เข้ามาเรียนตอนแรก ตอนปี 1 ก็ยังคงแต่งกายกันอย่างเรียบร้อย เพราะความภูมิใจในชุดพระราชทาน แต่อยู่ๆ ไปอาจเบื่อ พอขึ้นปี 3 ปี 4 ก็เริ่มแต่งตัวให้แฟชั่นขึ้น ให้ห้ามก็คงลำบาก เพราะเราก็เข้าใจว่าเป็นวัยของเขา" รศ.ดร.ธนิตบอก เพราะก่อนที่จะมีโครงการนี้ มหาวิทยาลัยเคยใช้มาตรการ "ตัดคะแนน" ความประพฤติของนิสิตที่แต่งกายผิดระเบียบ เป็นวิธีแก้ปัญหา ซึ่งก็ไม่ได้ค่อยผลเท่าไหร่ อาจารย์จึงได้เปลี่ยนมาเป็น "ขอความร่วมมือ"

          "โครงการนี้เหมือนเป็นการเตือนให้เขาตระหนัก เพราะเราเชื่อในคุณวุฒิและวัยวุฒิของนิสิตที่รู้ว่าอะไรควร-ไม่ควร ที่สำคัญหลักการของมหาวิทยาลัยคือ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม ทั้งบุคลิกภาพภายนอกต้องดีมีระเบียบวินัย และความรู้ความสามารถภายในที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพ" รศ.ดร.ธนิต ย้ำ

          ทว่า ทุกครั้งที่มีการรณรงค์เรื่องการแต่งกาย มักจะมีคำถามยอดฮิตตามมาเสมอว่า เกี่ยวอะไรกับการเรียน???

          รศ.ดร.ธนิต บอกว่า ไม่เกี่ยวกับผลการเรียนโดยตรง แต่หากนิสิตปฏิบัติตามก็เป็นประโยชน์กับตัวนิสิตเอง 

          "จุฬาฯ ต้องการสร้างคนที่มีระเบียบวินัยให้กับสังคม เพราะสังคมต้องการคนมีระเบียบวินัย เรื่องการแต่งกายให้เรียบร้อยอาจไม่เกี่ยวกับการเรียน แต่ถ้านิสิตมีระเบียบวินัยแม้กระทั่งการแต่งชุดนิสิต เมื่อออกไปสู่สังคม นิสิตก็จะปรับตัวเข้ากับระเบียบวินัยของสังคมได้ รู้กาละเทศะ รู้บทบาทหน้าที่ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เป็นคนคุณภาพของสังคม ซึ่งการแต่งกายของนิสิตจุฬาฯ ก็ไม่ได้แย่มาก แต่เราก็อยากให้เขาแต่งตัวดีขึ้นมาอีกนิดตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย เพื่อตัวของนิสิตเอง" รศ.ดร.ธนิต บอก

          การลุกขึ้นมาปัดฝุ่นเรื่องการจัดระเบียบการแต่งกายของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น ถือเป็นโครงการดีๆ ที่หลายๆ สถาบันน่าจะเอาเป็นตัวอย่าง เพราะนิสิต นักศึกษาที่เห็นทุกวันนี้ส่วนมากแต่งกายกันเกินพอดี เกินจนผู้ใหญ่ในวัยทำงานยังอายเลย

          ถ้าเป็นไปได้ "วันแห่งการแต่งกายในเครื่องแบบ" ทุกวันอังคารนั้น น่าจะเป็นวันที่นิสิต นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยร่วมใจกันทำ ไม่ใช่แค่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ลองหลับตาแล้วนึกภาพซิ วันนั้นเราคงได้เห็นวัยรุ่น วัยเรียน หน้าตาน่ารัก ดูสดใสสมวัยมากกว่าทุกวันนี้จริง ๆ



 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดโป๊... หยุดโชว์ห่วย วันแห่งการแต่งกายในเครื่องแบบ อัปเดตล่าสุด 2 ตุลาคม 2552 เวลา 17:09:18 3,527 อ่าน
TOP