x close

ฤกษ์ดี…ปีฉลู

 



ฤกษ์ดี…ปีฉลู (i DO)

          ตั้งแต่ครั้งโบราณมาคนไทยมีความเชื่อว่า หากจะกระทำการใดให้ราบรื่นและประสบความสำเร็จได้นั้น การหาฤกษ์ยามที่ดี คือสิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างบ้านปลูกเรือน การขึ้นบ้านใหม่การคลอดลูก รวมทั้งงานมงคลสมรส ถือได้ว่าเรื่องของฤกษ์ยามนั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว


          ในส่วนของการหาฤกษ์ยามสำหรับการแต่งงานนั้น ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่สำคัญของคู่สมรสที่จะเริ่มต้นชีวิตคู่อย่างปลอดภัย ราบรื่น รักใคร่ปรองดองกันอย่างดีในอนาคต โดยเฉพาะฝ่ายเจ้าสาวที่ฤกษ์แต่งงานยังเสมือนหนึ่งเป็นฤกษ์เกิดใหม่ ที่จะเกิดเป็นเป็นลูกสะใภ้ของพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวอีกด้วย


 ความสำคัญของการดูฤกษ์ยาม


          ฤกษ์ หมายถึง คราวหรือเวลา ความปลอดภัยหรือความสำเร็จสมประสงค์อำนวยความเป็นศิริมงคลแก่ผู้ประกอบการนั้นๆ ดังนั้นการหาฤกษ์ยามที่ดี จึงถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการแต่งงาน เพราะตั้งแต่โบราณมาเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ถูกบันทึกเป็นสถิติ เพื่อคำนวณหาเหตุการณ์ดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ตรงตามคำทำนาย จนเชื่อว่าชีวิตคู่จะอยู่กันยึดยาวจะอยู่กันอย่างมีความสุข ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการคำนวณหาฤกษ์ยามที่ดี

          ซึ่งการหาฤกษ์สำหรับการแต่งงานนั้น ต้องอาศัยความพิถีพิถันในการคำนวณเป็นพิเศษ เพื่อกำหนด วัน เดือน ปี ที่สมพงศ์กันระหว่างเจ้าบ่าว-เจ้าสาว โดยนำ วัน เดือน ปีเกิด ของคู่บ่าวสาวมาเป็นหลักในการคำนวณ แต่ถ้าเป็นการหาฤกษ์แบบจีน ผู้ดูฤกษ์ยามจะต้องนำปีเกิดของคุณพ่อและคุณแม่ของทั้ง 2 ฝ่าย มาเป็นข้อมูลเพื่อคำนวณหาวันดีพร้อมๆ กันด้วย


          ฤกษ์ที่ “สมพงศ์” ระหว่างเจ้าบ่าว-เจ้าสาวนั้น หมายความว่าเมื่อมีการร่วมวงศ์ตระกูล หรือการแต่งงานกันแล้ว ชีวิตคู่จะเจริญรุ่งเรืองต่อไป

          การหาฤกษ์แต่งงานตามประเพณีไทยโบราณ มักจะให้ฤกษ์แต่งงานในเดือนคู่เพราะคำว่าคู่หมายถึงการเริ่มต้นของการใช้ชีวิตคู่ เดือนคู่ที่นิยมแต่งงานที่สุดคือ เดือน 6 เพราะเริ่มเข้าสู่หน้าฝน ซึ่งเป็นต้นฤดูทำการเพาะปลูกของคนไทย จึงเหมาะกับการเริ่มชีวิตใหม่สร้างฐานะครอบครัวร่วมกัน ถ้าเป็นเดือนคี่มักจะให้แต่งในเดือนเก้าเพราะถือเคล็ดถึงความก้าวหน้า และเสี่ยงการแต่งงานในเดือน 8 แม้เป็นเดือนคู่ แต่เพราะเป็นช่วงเข้าพรรษาจึงเลื่อนมาเป็นเดือน 9 หรืออาจแต่งในเดือน 8 แต่ก่อนวันเข้าพรรษา


          วันที่ไม่นิยมแต่งงานกัน คือ วันอังคาร วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ ทั้งนี้ ในแต่ละท้องถิ่นมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป

          สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันอังคารและวันเสาร์ เพราะถือว่าวันทั้งสองเป็นวันแข็ง เหมาะสำหรับใช้ทำการเกี่ยวกับพิธีเครื่องรางของขลัง

          สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันพุธ เพราะถือเป็นวันสุนัขนาม คือถือเคล็ดเกี่ยวกับชื่อ

          สาเหตุที่ไม่แต่งงานวันพฤหัสบดี เพราะถือเป็นวันครู อีกทั้งมีตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้า คือพระพฤหัสบดีที่ทำการแต่งงานกับบุตรสาวในวันนี้ ต่อมาบุตรสาวมีชู้ จึงถือว่าเป็นวันที่ไม่ควรทำพิธีแต่งงาน บุตรสาวของพระพฤหัสบดีคือพระจันทร์ แต่งกับพระอาทิตย์ เป็นชู้กับพระอังคาร

          นอกจากนี้ยังมีวันที่ห้ามแต่งงานในวันที่ตรงกับวันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ ซึ่งจะไม่ตรงกันในแต่ละปี


          หากคู่บ่าวสาวไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อนแต่งงาน ควรดูฤกษ์โดยเผื่อเวลาเตรียมงานอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อไปหาพระครู หรือชินแสที่ให้ดูฤกษ์แต่งงานให้ ควรแจ้งว่าขอฤกษ์อีก 6 เดือนข้างหน้า เพื่อจะได้มีเวลาวางแผนเตรียมงานแต่งงานให้สวยสมใจอย่างรอบคอบ เพื่อควบคุมรูปแบบ รายละเอียดและงบประมาณไม่ให้บานปลาย


 ฤกษ์ที่เกี่ยวกับการแต่งงานมีอะไรบ้าง


          การหาฤกษ์พานาทีที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงาน มีตั้งแต่ฤกษ์ยกขึ้นหมากฤกษ์หมั้น ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์รดน้ำ ฤกษ์รับไหว้ ไปจนถึงฤกษ์เรียงหมอน แต่จะเลือกใช้ทั้งหมดหรือเพียงบางเรื่องบางฤกษ์นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของคู่บ่าวสาวและครอบครัวแต่ละคู่ ว่ามีความเชื่ออย่างไร ต้องการฤกษ์ใดบ้าง

          ฤกษ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับพิธีแต่งงาน คือวันแต่งงาน ในที่นี้คือฤกษ์ยกขันหมาก ส่วนฤกษ์อื่นๆ ก็จะสำคัญรองลงมา โดยส่วนใหญ่การหาฤกษ์จะหาแค่วันแต่งงานหรือวันทำพิธียกขันหมากเพียงวันเดียวก็ได้ ส่วนฤกษ์รดน้ำ ฤกษ์เรียงหมอน ฤกษ์จดทะเบียน ฤกษ์ฉลองสมรสจะมีก็ได้หรือไม่มีก็ได้


          ในปัจจุบันที่นิยมหมั้นเช้า-แต่งเย็น หากจะทำพิธีทั้งหมดตามฤกษ์ในวันเดียวกันให้ครบถ้วนนั้นจะค่อนข้างยาก เพราะฤกษ์อาจไปซ้อนกันหรือชิดกันเกินไป

          ตามพิธีไทย จะหาฤกษ์เริ่มต้น อย่างฤกษ์ยกขันหมากไว้ในช่วงเช้า ฤกษ์แต่งงานในช่วงบ่าย และฤกษ์ส่งตัวในช่วงค่ำ เพื่อให้กำหนดการแต่งงานจบในวันเดียว

          ถ้าเป็นพิธีตามประเพณีจีนฤกษ์เริ่มต้น คือฤกษ์ออกเรือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าบ่าวไปรับตัวเจ้าสาวที่บ้าน ในสมัยโบราณคุณพ่อคุณแม่ของฝ่ายเจ้าสาว จะนำเจ้าสาวมาส่งให้ขึ้นเกี้ยวเพื่อส่งตัวให้ว่าที่ลูกเขยต่อไป ฤกษ์หมั้น คือเวลาดีที่เจ้าบ่าวสวมแหวนหมั้นให้เจ้าสาวการกำหนดฤกษ์ยามในวันหมั้น โดยมากนิยมกำหนดตอนเช้า ก่อนเที่ยงหรือไม่ก็ควรเป็นตอนบ่าย แต่หากบ่าวสาวหมั้นและแต่งในวันเดียวกัน ก็จะกำหนดให้เป็นช่วงเช้า


 ก่อนเริ่มพิธีแต่งงาน


          ฤกษ์รดน้ำ ถือเป็นฤกษ์แต่งงานที่สำคัญ เพื่อหาวันและเวลาที่เหมาะสมในการหลังน้ำสังข์ประสาทพร หลังจากที่คู่บ่าวสาวได้ร่วมทำบุญตักบาตรฟังพระสวดพุทธมนต์ และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมจนจบขั้นตอนพิธีทางศาสนา


          ฤกษ์ปูที่นอน หรือฤกษ์เรียงหมอน การหาฤกษ์นี้จะเป็นช่วงเวลาก่อนส่งตัวบ่าวสาว อาจเป็นช่วงเวลากลางคืน หรือฤกษ์ก่อนวันงาน หรือตอนกลางวันก่อนส่งตัว ซึ่งไม่ว่าจะเลือกฤกษ์เป็นช่วงเวลาใดก็จะมีขั้นตอนพิธีการเหมือนกันทุกอย่าง โดยจะเชิญคู่สามีภรรยาอาวุโสที่แต่งงานอยู่กินกันอย่างราบรื่นจนแก่เฒ่า มีฐานะดี มีลูกหลานที่เลี้ยงง่าย มาทำพิธีปูที่นอนในห้องหอและลงนอนสักครู่ เพื่อเป็นเคล็ดให้เป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว


          ฤกษ์ส่งตัว เป็นการส่งตัวคู่บ่าวสาวเข้าหอ บางคู่ได้ฤกษ์ตอนหลังพิธีเช้า บางคู่ได้ฤกษ์เป็นตอนกลางคืน โดยทั่วไปการส่งตัวเข้าหอจะเลือกฤกษ์กลางคืนหลังงานเลี้ยงฉลองสมรสจบลง ถือว่าเป็นการจบพิธีและให้บ่าวสาวได้พักผ่อนด้วย ในการส่งตัวพ่อแม่ของฝ่ายหญิงนำเจ้าสาวมาส่งให้เจ้าบ่าว พร้อมทั้งกล่าวฝากฝังให้ช่วยดูแล รักใคร่เอ็นดูช่วยปกป้องคุ้มครอง และให้การเลี้ยงดูอย่าได้ทอดทิ้ง ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะรับคำ จากนั้น พ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายจะอบรมคู่บ่าวสาวให้รู้จักหน้าที่ของสามีภรรยาที่ดี ซึ่งต่อไปจะต้องพึ่งพาอาศัยกัน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนลงที่นอน โดยเจ้าบ่าวนอนด้านขวาและเจ้าสาวนอนด้านซ้าย


 การเตรียมตัวของคู่บ่าวสาวสำหรับการหาฤกษ์แต่งงาน


          หลักๆ คือต้องจด วัน เดือน ปี เกิด ของคู่บ่าวสาว เพื่อนำมาผูกดวงว่าเมื่อใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว จะมีส่วนไหนที่ขัดแย้งกัน เมื่อพบว่ามีส่วนที่ขัดแย้งกันผู้หาฤกษ์ก็จะใช้ขั้นตอนของการหากฤกษ์ยามเป็นตัวแก้ดวงของทั้งคู่ ส่วนการดูฤกษ์แบบจีน เมื่อได้ฤกษ์ที่เหมาะสมของบ่าวสาวแล้ว ก็จะดูปีเกิดของคุณและคุณแม่ของทั้ง 2 ฝ่ายด้วย ว่าถูกโฉลกกับฤกษ์ยามของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวหรือไม่ หากมีก็ต้องเลี่ยงไปเป็นวันอื่นแทน

          ในการหาฤกษ์ยามที่ดีจะต้องใช้เวลาพอสมควร บ่าวสาวจะต้องเอาดวงของตนมาทิ้งไว้ แล้วค่อยนัดแนะมารับฤกษ์ยามกันวันหลัง ซึ่งส่วนใหญ่วันที่จะมารับฤกษ์มักจะนัดมาเป็นวันคู่ เพราะถือว่าวันคู่เป็นวันดีสำหรับการเริ่มต้นชีวิตคู่นั่นเอง


 ถ้าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวดวงไม่สมพงษ์กัน จะแก้ไขอย่างไร


          การเอาดวงมาผูกกันเพื่อหาฤกษ์ยามที่ดีร่วมกัน สามารถแก้ไขให้คู่บ่าวสาวอยู่กินกันอย่างมีความสุขได้ แม้จะพบว่าทั้งสองคนดวงไม่สมพงศ์กันก็ตาม โดยต้องดูว่าในดวงของทั้งสองคนเป็นดวงที่ไม่สมพงศ์กันมากเพียงใด ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อหาฤกษ์แต่งงานแล้วจะไม่มีฤกษ์ ฤกษ์ที่ดีมีสำหรับทุกคู่เพียงแต่จะไปตกวันไหน เวลาไหนเท่านั้น เพื่อที่ชีวิตคู่จะได้ครองเรือนกันได้อย่างยืดยาว ถึงจะไม่สมพงษ์กันมาอย่างไร นักดูฤกษ์ยามที่ชำนาญสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน


 ถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นคนจีน ส่วนอีกฝ่ายเป็นคนไทย จะยึดหลักการดูฤกษ์ยามแบบไทยหรือจีน


          คู่บ่าวสาวที่เป็นคนไทยกับคนจีนจับคู่กันนั้นมีหลายคู่ ซึ่งเราสามารถยึดการดูฤกษ์ยามได้ทั้งแบบไทยและแบบจีนไม่ว่าจะดูหาฤกษ์ยามแบบไหน โหรก็จะดูวันไม่ดีของอีกแบบควบคู่ไป ด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงวันกาละกิณีทั้งแบบไทยและแบบจีน

          ซึ่งนักดูฤกษ์ยามส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการดูทั้งสองแบบควบคู่กัน หากจะประกอบพิธีทั้งแบบจีนและแบบไทยในวันเดียวกันหาฤกษ์เริ่มต้นฤกษ์เดียวก็เพียงพอ แต่ถ้าประกอบพิธีกันคนละวันก็ต้องหาฤกษ์ยามใหม่


 ตั้งครรภ์ก่อนแต่งสามารถหาฤกษ์แต่งงานได้หรือไม่


          เจ้าสาวที่กำลังตั้งครรภ์อาจจะกังวลว่าในการหาฤกษ์ยามนั้น จะมีดวงแม่กับดวงลูกซ้อนทับกันอยู่แล้วจะหาฤกษ์ไม่ได้ ในการคำนวณทางโหราศาสตร์สามารถหาฤกษ์ยามมงคลได้แน่นอน แต่ในการประกอบพิธีตามประเพณีจีนจะถือว่า หากมีการได้เสียกันก่อนแต่งงานหรือเกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานจะไม่ให้คู่บ่าวสาวไหว้ฟ้าดิน เพราะจะถือว่าเป็นการหลอกลวงฟ้าดิน ส่วนขั้นตอนอื่นๆ ยังทำเหมือนเดิมทุกอย่าง


ตารางวันฤกษ์ดี วันมงคลในปี 2552

เดือนมกราคม 2552



เดือนกุมภาพันธ์ 2552



เดือนมีนาคม 2552



เดือนเมษายน 2552



เดือนพฤษภาคม 2552



เดือนมิถุนายน 2552



เดือนกรกฎาคม 2552



เดือนสิงหาคม 2552



เดือนกันยายน 2552



เดือนตุลาคม



เดือนพฤศจิกายน 2552



เดือนธันวาคม 2552







เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Watnai.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฤกษ์ดี…ปีฉลู อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2552 เวลา 18:51:00 1,256 อ่าน
TOP