x close

“ศีรษะ” น่ารู้ของลูก

 

 

 

“ศีรษะ” น่ารู้ของลูก (Mother & Care)

 


          เด็กแรกเกิดเกือบทุกคน มีรูปร่างลักษณะใบหน้าค่อนข้างกลม คอสั้น แขน ขาสั้น ศีรษะโตกว่าเมื่อเทียบกับลำตัว เมื่อเติบโตขึ้น รูปร่างและส่วนต่างๆ ของร่างกาย จะเปลี่ยนแปลงไปตามพันธุกรรม ต้นทุนเดิม และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมของพ่อแม่ หากหยิบยกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่คุณพ่อคุณแม่มักให้ความสำคัญและระมัดระวังอย่างมาก มาขยายความ ก็คงจะเป็นเรื่องของศีรษะ ซึ่งแค่ศีรษะอย่างเดียวก็มีเรื่องราวน่ารู้มากมาย...

 

 

กะโหลกศีรษะ

 


          ประกอบด้วยกระดูกเป็นแผ่นๆ ต่อกัน กระหม่อมบริเวณส่วนหน้าที่เปิดอยู่เรียกว่า กระหม่อมหน้า เป็นตำแหน่งที่กระดูก 4 ชิ้น มาประสานกัน จะเหลือช่องตรงกลางเอาไว้ และมีเยื่อบางๆ ปิดอยู่เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อสมอง ส่วนกระหม่อมหลังมีขนาดเล็กกว่า อยู่บริเวณท้ายทอยด้านหลังศีรษะเด็ก

          ลองสังเกตดูจะเห็นว่ากระหม่อมของลูกเต้นตุ๊บๆ ตามจังหวะชีพจรหรือถ้าคลำดูเบาๆ จะรู้สึกนุ่มๆ เรียบๆ ก็ไม่ต้องวิตกหรือตกใจ เพราะถือว่าปกติค่ะ

 

 

กระหม่อมสำคัญอย่างไร

 

          กระหม่อมส่วนหน้าจะปิดเมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนกระหม่อมหลังปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เร็วกว่ากระหม่อมหน้า แต่หากกระหม่อมมีการปิดช้าหรือปิดเร็ว ก็อาจมีผลต่อตัวเด็ก

          เนื่องจากภายในกะโหลกศีรษะ ประกอบด้วยสมอง ถ้ากระหม่อมปิดเร็วเกินไป จะทำให้สมองเจริญเติบโตและขยายไม่เต็มที่ แต่ถ้าหากกระหม่อมปิดช้ากว่ากำหนด มักพบได้ในกรณีที่มีน้ำในสมอง หรือโรคทางต่อมไร้ท่อ เกิดจากการทำงานของต่อมธัยรอยด์บกพร่องแต่กำเนิด ก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน

          ระหว่างที่กระหม่อมศีรษะยังไม่ปิด (ก่อนขวบครึ่ง) สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ เรื่องอุบัติเหตุ การกระทบกระเทือน ไม่ควรไปกด ไปวุ่นวาย ทำอะไรกับกระหม่อมของลูก แต่ก็สามารถสังเกตสิ่งผิดปกติจากศีรษะลูก เช่น เวลาลูกไม่สบาย ท้องเสีย กระหม่อมจะบุ๋มเห็นเป็นแอ่ง ลักษณะเช่นนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดภาวะขาดน้ำ หรือถ้ากระหม่อมโป่ง นูนขึ้น ก็พบได้ในกรณีที่มีเลือดออกในสมอง หรือเกิดการติดเชื้อในสมอง ต้องไปพบคุณหมอทันที

 

 

 

เส้นรอบศีรษะ

 

          นอกจากการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงแล้ว การวัดเส้นรอบศีรษะ ก็เพื่อดูการเจริญเติบโตของสมอง ทั้งนี้คุณหมอจะทำการวัดเส้นรอบศีรษะ น้ำหนัก และความยาวแต่ละครั้ง เมื่อคุณแม่พาลูกน้อยมารับวัคซีน และตรวจสุขภาพ
 

          เด็กแรกเกิดจะมีเส้นรอบศีรษะยาวประมาณ 35 เซนติเมตร และเมื่ออายุครบ 1 ปี เส้นรอบศีรษะจะยาวประมาณ 46 เซนติเมตร (ความยาวเส้นรอบศีรษะอาจมีค่าบวกลบได้ไม่เกิน 2 เซนติเมตร) หากรอบศีรษะมีความยาวเกินเกณฑ์ปกติบวกกับกระหม่อมหน้าที่ยังไม่ปิด (สมองมีขนาดใหญ่) พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบคุณหมอ เพื่ออัลตร้าชาวนด์ เช็คว่าเกิดจากการผลิตน้ำในสมองมากเกินไปหรือการอุดตันของทางออกของน้ำในสมอง ทำให้มีน้ำในสมองหรือไม่

 

 

 

รูปร่างศีรษะ


          เด็กแต่ละคนมีรูปร่างศีรษะแตกต่างกัน บางคนหัวกลมสวย หรือรูปทรงดูยาวก็มีให้เห็นเป็นความแตกต่าง ที่มีผลมาจากการคลอดหากคลอดแบบธรรมชาติ โดยผ่านทางช่องคลอดเชิงกราน เด็กจะเอาศีรษะออกเป็นส่วนใหญ่ ศีรษะจะสามารถยืดหดได้ ขณะที่ไหล่และทรวงอกผ่านช่องคลอดที่แคบ เมื่อคลอดใหม่ๆ ทำให้ศีรษะเด็กมีรูปร่างยาวไปทางท้ายทอย และบางคราวหนังศีรษะบริเวณนั้นจะบวม มีสีเขียวคล้ำ จากการกดทับของปากมดลูก พอผ่านไปสักระยะ ศีรษะก็จะเข้ารูปเข้าร่างได้เอง แต่ถ้าผ่าตัดคลอด รูปร่างศีรษะเด็กจะมีลักษณะกลมสวย เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการที่ว่ามานั่นเอง

          จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่คุณแม่จะต้องเป็นกังวลกับเรื่องรูปร่างศีรษะของลูก เมื่อเห็นว่าแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ แต่เรื่องที่มีผลต่อรูปร่างศีรษะของเด็ก ก็คือ ที่นอน ซึ่งควรมีลักษณะที่ไม่แข็งหรืออ่อนนุ่มจนเกินไป เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับตัวเด็ก

          สิ่งสำคัญที่สุด คือการที่ลูกนอนหลับสบายอย่างปลอดภัยค่ะ ส่วนท่านอนท่าไหนดีนั้น แนะนำว่า นอนหงายดีกว่าป้องกันการหายใจไม่ออก แต่หากกลัวว่าหัวจะไม่ทุยไม่สวยพอ ก็อาจจับให้ลูกนอนตะแคงซ้าย-ขวาสลับสับเปลี่ยนกันก็ได้เช่นกัน

 

 

ไขที่ศีรษะ

 

          ไขที่ว่า หากมีลักษณะคล้ายสะเก็ดแห้งๆที่ติดมาตอนคลอด เป็นไม่มาก ก่อนสระผมคุณแม่อาจใช้น้ำมันมะกอกลูบศีรษะลูก เพื่อให้ไขที่ติดอยู่นิ่มและหลุดออกไป หากเห็นว่าสะเก็ดที่ศีรษะ เป็นๆ หายๆ คุณแม่ต้องระวัง เพราะเป็นไปได้ว่า ศีรษะลูกแพ้แชมพูที่ใช้ หรือเกิดภาวะการแพ้นมวัว แต่ทั้งนี้การแพ้นมวัวอาจต้องดูประกอบว่า ลูกน้อยมีผื่นที่ผิวหนังตรงอื่นด้วยหรือไม่ บางรายมีคราบติดแน่นมาก นานเป็นเดือนก็ไม่หลุด หากไม่แน่ใจกับอาการที่เกิดขึ้นคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

 

 

เส้นผม

 

          เส้นผมของเด็กก็เหมือนเส้นผมของผู้ใหญ่เราๆ นี่แหละค่ะ มีลักษณะที่แตกต่างกันไปแต่ละคน แต่ก็มีพ่อแม่บางส่วน ที่กังขากับเรื่องเส้นผมบนศีรษะของลูกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

 

 

ผมร่วง

 

          อาจเคยได้ยินได้ฟังมาว่า เป็นเพราะผ้าอ้อมกัด ด้วยความเข้าใจของผู้ใหญ่สมัยก่อนที่ว่า บริเวณที่ผมหลุดร่วง เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่ถูกเสียดสีตามรอยการนอนทับ เช่น ที่นอน ผ้าปู ทำให้เห็นเด่นชัดได้มากขึ้นความจริงแล้ว ในช่วง 3-4 เดือนแรก เด็กเล็กก็ผมหลุดร่วงได้ค่ะ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกาย เซลล์ผมมีการผลัดเปลี่ยน เพื่อสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่นั่นเอง

          มีข้อสังเกตว่า หลัง 6 เดือนไปแล้ว ผมของลูกยังหลุดร่วงอยู่ ก็ต้องดูสาเหตุกันว่า เป็นเพราะแชมพูที่ลูกใช้ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นตัวแปร

 

 

ผมน้อย ผมบาง

 

          เส้นผมของเด็กแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ไม่ว่าผมหนา ผมบางหรือผมน้อย แต่ไม่ว่าผมของลูกน้อยจะเป็นเช่นไร สิ่งที่คุณแม่ควรใส่ใจให้ความสำคัญ คือ การดูแลทำความสะอาดมากกว่า

          สำหรับประเพณีที่มีมาแต่ก่อน ความเชื่อเรื่องการโกนผมไฟ คงแล้วแต่ความสะดวก การตัดสินใจของคุณแม่แต่ละครอบครัว เพราะการโกนผมไฟไม่มีผลเกี่ยวกับเส้นผมของลูกแต่อย่างใด

 

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
“ศีรษะ” น่ารู้ของลูก อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2552 เวลา 10:58:15 13,820 อ่าน
TOP