x close

ฝึกลูกมีปัญญารู้สติ

Baby

ฝึกลูกมีปัญญารู้สติ (กรุงเทพธุรกิจ)

โดย : กานต์ดา บุญเถื่อน

           สติเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา โบราณท่านว่าไว้ สมการง่าย ๆ อย่างมีปัญญาต้องหมั่นฝึกสติ โดยเฉพาะพ่อแม่ยิ่งต้องมีสติ เพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกเดินตาม

           คงไม่ต้องเกริ่นแนะนำตัวให้เสียเวลาหรอกใช่ไหม สำหรับนักปฏิบัติและเผยแพร่หลักธรรมท่านนี้ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน สอนคนฝึกฝนปัญญาและเจริญสติแก่ตัวเองมามากแล้ว แม่ชีสลับหัวข้อฝากข้อคิดให้ผู้ปกครองไปฝึกลูกหลานสร้างปัญญาและรู้สติบ้าง

           ท่านบอกว่าทำไม่ยากเลย โดยเริ่มจากพ่อแม่เป็นผู้ฝึกฝนให้แก่ลูก หยิบเอาเรื่องราวสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวันให้เด็กลองสังเกตตัวเองอย่าง มีสติ เช่น การสังเกตกาย การสังเกตใจ เวลาที่กิน อยู่ หลับ นอนให้เขารู้สึกตัวตลอดเวลา

           แม่ชีท่านยกตัวอย่างเวลารับประทานอาหารเข้าไป แทนที่พ่อแม่จะถามลูกว่าอร่อยไหม อาจเปลี่ยนวิธีถามด้วยการตั้งคำถามให้เขาตามดูจิตและความรู้สึกของตัวเอง เช่นถามว่า “ลูกรู้สึกอย่างไรต่ออาหารที่กินเข้าไป” เด็กจะได้ฝึกใช้อายตนะ ตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส รู้ทันความรู้สึกที่ตนสัมผัสได้

           หากลูกชอบ ก็ถามว่ารสชาติที่ชอบอยู่นานไหมจ๊ะ แล้วมันเป็นลักษณะแบบไหนเพื่อให้เขาได้อธิบายและนึกคิด ส่วนรสชาติที่ไม่ชอบล่ะอยู่นานไหม มีลักษณะต่างจากรสที่ชอบอย่างไรบ้าง เขาจะเริ่มเห็นว่าชอบและไม่ชอบต่างกันอย่างไร และเรียนรู้ว่าสิ่งนั้นมาเพียงชั่วครู่ มันมาแล้วก็ไป ปลูกฝังให้เด็กมองเห็นว่า "ชีวิตก็แค่นี้ล่ะ มันเป็นอะไรที่มาให้เราเห็นไม่ได้มาไว้ให้เป็นอย่างถาวร"

           ธรรมเทคนิคสำหรับพิจารณากายใจก็ไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาตำรา หรือหนังสือพระพุทธศาสนามาอ่านให้ยุ่งยาก หรือสิ้นเปลือง ฝึกง่ายๆ จากการอ่านกาย อ่านใจของตัวเอง โดยฝึกให้มันเป็นวิถีในชีวิตประจำวัน จนเคยชิน แต่ต้องหมั่นฝึกอยู่ให้บ่อย อย่านาน ๆ ทำที เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่รู้คิดรู้ทำอย่างถ่องแท้

           สำหรับพ่อแม่ที่คิดจะเริ่มฝึกเด็กคนหนึ่งให้รู้จักคิดอย่างมีสติ อาจเริ่มจากกิจกรรมที่เด็กทำอยู่ เช่น ขณะที่เขากำลังสนุกกับอะไรสักอย่างหนึ่ง แทนที่จะถามว่าเขาทำอะไร ก็ปรับมาตั้งคำถามประมาณว่า "เขาว่ารู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่เขาทำ และคิดว่ามีผลดีผลเสียอย่างไร" เพื่อให้เด็กได้คิดและรู้สึกตัวว่าสิ่งที่ทำอยู่มีเหตุผลอย่างไร

           ท่านยกตัวอย่างอีกว่า เด็กบางคนมีฉันทะ คือมีความรักและความพอใจในสิ่งที่เขากำลังสนใจอยู่ พ่อแม่ควรฝึกการสังเกตว่าสิ่งที่ลูกสนใจ เมื่อเขามีความรักความพอใจกับสิ่งนั้นแล้ว เขามีความเพียรกับมันด้วยไหม

           การที่เห็นว่าลูกมีความรัก ความพอใจ มีความเพียร มีจิตจดจ่อกับสิ่งใดจนถึงขั้นใคร่ครวญที่จะทดลองก็ถือว่ามีอิทธิบาท 4 หรือมีคุณธรรมที่จะทำของยากให้ง่ายได้ในที่สุด

           บางคนอาจมองว่า "การเจริญสติอารักขาจิตเป็นงานของอริยเจ้าก็จริง แต่เราก็สามารถดัดแปลงมาใช้กับการเลี้ยงลูกได้เช่นกัน โดยนำมาสอนลูกเพื่อให้เป็นอริยชน สำหรับสร้างโลกให้มีอริยยิ่งขึ้นนั่นเอง" แม่ชีให้ข้อคิด

           ท่านบอกว่า การสร้างโลกให้เป็นโลกอริยะก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากอีกเช่นกัน แค่นำเอาธรรมะเดินทางเข้าไปอยู่ในใจตัวเอง ตัดทิ้งความโลภ ตัดทิ้งความโกรธ และตัดทิ้งความหลงให้เหลือในตัวตนเราน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากทำได้แล้ว ธรรมะก็จะเดินทางเข้าไปอยู่ในใจได้ สังคมไทยก็จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขพ้นทุกข์ร่วมกันได้ไม่ยากเลย

           "การจะทำให้เด็กสักคนมีสติระลึกรู้ทางกายและทางใจ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญญา ไม่ต้องใช้เงิน เพียงแต่อาศัยพ่อแม่ที่มารับบทเป็นครู และก็อาศัยบ้านนั่นแหละต่างว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรก สอนตั้งแต่ตอนที่เขาเริ่มพูดคุยรู้เรื่อง เพื่อให้เขาสั่งสมประสบการณ์ ฝึกฝนและปฏิบัติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีสติและปัญญา"

           แม่ชีฝากให้ช่วยกันมองโลกที่เป็นอยู่ว่า ความเป็นจริงในชีวิตของคนเราก็คือ ธรรมชาติ เวลาที่เราเข้าถึงกระแสของธรรมชาติว่าย่อมมีการเกิด ดับอย่างฉับพลัน ถือเป็นการมองเห็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า "เพราะสิ่งนี้มี ชีวิตจึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี ชีวิตจะมีได้อย่างไร"

           การฝึกสมาธิอย่างง่ายอีกวิธี ที่สามารถฝึกฝนทุกที่ทุกเวลาคือ การปฏิบัติแบบอานาปานัสสติ ที่ใช้เพียงลมหายใจเข้าออก ซึ่งจะช่วยให้คนเรามีสติตามดูทุกสิ่งอย่างได้อย่างรู้แจ้งเห็นจริง รู้ทันกาย รู้ทันใจ เพราะสมาธิคือ จิตที่บริสุทธิ์ เมื่อตั้งมั่นแล้ว นำมาบวกกับหน้าที่การงานก็จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ความสำเร็จที่สามารถเกิดขึ้น ได้ในความเป็นจริงนั่นเอง

           สำหรับการมีสติ สัมปชัญญะ ก็คือ การมีสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็มีปัญญาจัดการ กับสิ่งกระทบที่เข้ามาหาเราได้อย่างรู้ทัน ไม่ให้มากระแทกสิ่งที่กระทบใจตัวเราออกไปให้ใครต้องเจ็บปวด ยิ่งปฏิบัติได้บ่อย ทำเป็นประจำ ทุกวันอย่างตั้งใจจริงจะสามารถติดตามดู เห็นการเกิด ดับอย่างฉับพลันทุกการกระทบไม่ว่าจะอยู่ในสถานะที่ยืน เดิน นั่ง หรือนอน และรู้ทันคิด ไม่หลงตามจิตได้ในที่สุด
 
           สิ่งเหล่านี้ถือเป็นสติปัญญาที่ พ่อแม่พึงบ่มเพาะให้ลูกได้ วิธีการอย่างนี้เรียกว่าการสอนให้เขารู้จักอ่านชีวิตเป็น อ่านกาย อ่านใจ อ่านความรู้สึก รู้เท่าทันความรู้สึก มีจิตที่รู้เท่าทันอารมณ์ ไม่หลงไปตามอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง

           หากสอนได้ตามนี้ แม่ชีบอกว่าลูกก็จะเติบโตมาเป็นคนที่ไม่หลงโลกง่าย ๆ แถมครอบครัวยังเป็นบ้านแห่งสติปัญญา





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝึกลูกมีปัญญารู้สติ อัปเดตล่าสุด 8 ตุลาคม 2552 เวลา 17:32:31
TOP