x close

ปวดหลังเพราะคลอดลูก จริงหรือ?

ตั้งครรภ์

ปวดหลังเพราะคลอดลูก จริงหรือ?
(Mother & Care)

         อาการปวดหลังของคุณแม่ไม่ได้เกิดจากการบล็อกหลังในระหว่างการคลอดลูก แต่บางท่านอาจมีมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ที่ร่างกายมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้รับกับน้ำหนักของทารกที่เพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ และการเปลี่ยนถ่ายสมดุลให้ร่างกายสามารถนั่ง นอน ยืน เดิน ได้อย่างมั่นคง

         คุณแม่ที่มีอาการปวดหลังอยู่ก่อนแล้ว มักจะมีอาการได้มากขึ้น เพราะระหว่างที่ตั้งครรภ์เมื่อน้ำหนักของเด็กถ่วงท้องด้านหน้าเพิ่มขึ้น ท่าทางการเดินจึงมักจะแอ่นตัวไปด้านหลังมากขึ้น ทำให้ช่วงสะโพกรับน้ำหนักมากเกินไปจนเกิดการอ่อนแรง ดังนั้นกล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อหลังขาจึงต้องทำงานหนักในการช่วยพยุงร่างกาย ทำให้เกิดความไม่สมดุลของโครงสร้างกระดูก การหดเกร็งหรือการยืดของกล้ามเนื้อบางส่วนมากเกินไป สะสมเรื้อรังจนเกิดอาการปวดไปจนถึงหลังคลอดได้
 
         ดร.มนต์ทณัฐ (รุจน์) โรจนาศรีรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูกร่างกาย (ศาสตร์การแพทย์ไคโรแพรคติก)มีคำแนะนำ เกี่ยวกับการดูแลและป้องกันเพื่อไม่ให้คุณแม่มีอาการปวดหลังค่ะ

ทำอย่างไร...เมื่อปวดหลัง

         ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่จะมีอาการปวดหลัง ซึ่งถึงแม้ว่าการบล็อกหลังจะไม่ใช่สาเหตุของอาการปวดหลังหลังคลอดก็ตามแต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ทั้งการเลี้ยงลูกและท่าทางในชีวิตประจำวันตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ที่ทำให้โครงสร้างร่างกายบิด ผิดรูปไปจากเดิมอาการปวดหลังจึงต้องพิจารณาว่ามีอาการปวดมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์หรือไม่ การดูแลร่างกายและการออกกำลังกายในช่วงตั้งครรภ์ด้วย

         ในระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอด จึงควรระมัดระวังและเรียนรู้การใช้โครงสร้างร่างกายให้ถูกต้อง อาทิ ท่าทางในชีวิตประจำวัน ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน การก้ม-เงย เพราะถ้าใช้ร่างกายในท่าที่ผิดอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดการทำงานหนักของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของโครงสร้างมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังลักษณะการใช้งาน ควบคู่ไปกับการรักษาและเพิ่มความแข็งแรงต่าง ๆ ให้ร่างกายด้วยการออกกำลังกาย

         การอุ้มลูกเป็นเวลานานก็เป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้ปวดหลังได้มากขึ้น เพราะลักษณะของการอุ้มลูกจะต้องอยู่ในท่ายืนหรือนั่งท่าเดียวเป็นเวลานาน จึงต้องจัดท่าทางให้สมดุล เช่น หากถนัดอุ้มลูกด้วยแขนขวา ก็ควรสลับมาอุ้มลูกด้วยแขนซ้ายบ้าง ก็จะช่วยบรรเทาและป้องกันอาการปวดได้ส่วนหนึ่ง

         สำหรับการใช้ยาแก้ปวด ก็เป็นการรักษาที่ใช้ควบคู่กันได้ แต่ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุเพราะยาจะไปลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อ เท่านั้น จึงไม่ควรเน้นการรักษาโดยใช้ยา เว้นแต่ในบางกรณีที่ตรวจพบว่ามีอาการปวดค่อนข้างรุนแรง

         ส่วนวิตามินหรือแคลเซียมเสริมอาจช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้แข็งแรงขึ้น แต่การออกกำลังกายที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อและเส้นต่างๆ ได้ดีที่สุด
 
ป้องกันไว้..ไม่ปวดหลัง

         การป้องกันอาการปวดหลังที่ดีที่สุดคือ การออกกำลังกายที่คุณแม่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่2 เป็นต้นไปซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและช่วยให้คลอดง่ายขึ้นด้วย

         การออกกำลังกายจะช่วยในด้านของการดูแลระบบปอดและหัวใจ ระบบกล้ามเนื้อ ความยืดหยุ่นของข้อและเส้นเอ็นยึด แต่ต้องทำภายใต้คำแนะนำหรือการดูแลของผู้เชี่ยวชาญสูติ-นรีแพทย์นักกายภาพบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายต่าง ๆ
 
การจัดโครงสร้างของร่างกาย

(จัดกระดูก) คืออะไร

         การจัดโครงสร้างของร่างกายหรือการจัดกระดูก ไม่ใช่ท่าออกกำลังกาย  ที่สามารถนำไปทำเองได้ แต่เป็นการฟื้นฟูให้โครงสร้างร่างกายคืนสมดุล พัฒนาเรื่องการเคลื่อนไหวและกระตุ้นความแข็งแรงให้การทำงานของข้อต่าง ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ มีสมดุลที่ดีขึ้น โดยการดัด บิด ปรับ และการดูแลควบคู่กันในส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักคือ  กระดูกและข้อ  และในส่วนที่เป็นเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดที่อาจจะมีภาวะอ่อนแรง หดเกร็งมากเกินไปหรือบาดเจ็บจากการทำงานหนักเป็นเวลานาน
 
         ทั้งนี้ การออกกำลังกายคุณแม่สามารถฝึกเองได้ แต่การจัดโครงสร้างหรือการจัดกระดูกต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดโครงสร้างกระดูกเท่านั้น
 

 เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย


 
    คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดหลังเพราะคลอดลูก จริงหรือ? อัปเดตล่าสุด 29 ตุลาคม 2552 เวลา 21:37:46
TOP