x close

ดูให้ดี ก่อนจดทะเบียนสมรสซ้อน

การจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรส

สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ก่อนที่คู่บ่าวสาวจะจดทะเบียนสมรส หรือเอกสารทางกฎหมายเพื่อยืนยันสถานะภาพการเป็นสามีภรรยา โดยถือว่าเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ควรจะต้องพูดคุยปรึกษาถึงผลดีผลเสียของแต่ละบุคคล ที่จะตามมาภายหลัง และทางที่ดีควรตรวจสอบข้อมูลว่าคนรักของเราเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนหรือเปล่า เพื่อไม่เป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อน ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมหยิบเอาเรื่องราวเกี่ยวกับ "การจดทะเบียนสมรสซ้อน" มาบอกเล่ากันค่ะ...

          การสมรสซ้อน (bigamy หรือ plural marriage) หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับอีกบุคคลหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ตนมีพันธะทางการสมรสกับอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า "คู่สมรส" อยู่แล้ว และการสมรสนั้นยังไม่สิ้นสุดลง การสมรสซ้อนเป็นความผิดอาญาในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

          การสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขตาม ม.1452 การสมรสครั้งหลังย่อมเป็นโมฆะ (เสียเปล่าตั้งแต่วันที่จดทะเบียนสมรสซ้อน) ตาม ม.1495 ถ้าหากว่ามีการสมรสซ้อน แม้ว่าคู่สมรสคนแรกถึงแก่ความตาย หรือหย่าขาดจากกันแล้ว ก็ไม่มีผลทำให้คู่สมรสคนที่สองกลับกลายมาเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฏหมายได้ เช่น ชายจดทะเบียนสมรสกับภริยา 2 คน ต่อมาชายหย่ากับภริยาคนแรก การสมรสระหว่างชายกับภริยาคนที่สองยังคงเป็นโมฆะอยู่ดังเดิม หรือชายจดทะเบียนกับภริยา 2 คน ต่อมาภริยาคนแรกตาย การสมรสระหว่างชายกับภริยาคนที่สองยังคงเป็นโมฆะอยู่เช่นเดิม หากชายจดทะเบียนใหม่กับภริยาคนที่สาม การสมรสใหม่ดังกล่าวสมบูรณ์

          การจดทะเบียนสมรสที่เป็นโมฆะ ผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะกล่าวอ้างขึ้น (โดยวาจาหรือหนังสือก็ได้) หรือจะร้องขอ (เป็นคดีไม่มีข้อพิพาท) ให้ศาลพิพากษาการสมรสเป็นโมฆะก็ได้ (ม.1497) หรือเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีมีข้อพิพาท ฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำเลยก็ได้

          ชายหรือหญิงที่ทำการสมรสอันจะถือว่ามีส่วนได้เสียนั้น จะต้องทำการสมรสโดยสุจริต หากไม่สุจริตไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เช่น สามีจดทะเบียนสมรสกับภริยา 2 คน ภริยาคนที่สองสมรสโดยสุจริตไม่ทราบว่าสามีมีภริยาอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ ภริยาคนที่สองเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนสามีไม่สุจริต ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับภริยาคนแรกกับบุตรเป็นผู้มีส่วนได้เสียเช่นกัน

          การฟ้องคดีให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะไม่มีอายุความ จะฟ้องเมื่อใดก็ได้ แม้จะรู้อยู่แล้วว่าการสมรสเป็นโมฆะ แต่เพิกเฉยไม่ฟ้องคดี จนเวลาล่วงเลยมานานถึง 20 ปี จึงมาฟ้องก็ฟ้องได้คดีไม่ขาดอายุความและไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

          การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ ร่วมกันให้แบ่งกันคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น (ม.1498)

          ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการสมรสเป็นโมฆะ ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อบันทึกไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1497/1) การสมรสที่เป็นโมฆะไม่กระทบถึงสิทธิบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต ซึ่งได้มาก่อนมีการบันทึกความเป็นโมฆะไว้ในทะเบียนสมรส (ม.1500)

          การสมรสซ้อนเป็นโมฆะ ไม่ทำให้ชายหรือหญิงผู้สมรสโดยสุจริตเสื่อมสิทธิที่ได้มา เพราะการสมรสก่อนที่ชายหรือหญิงนั้นรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ แต่การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ทำให้คู่สมรสเกิดสิทธิรับมรดก ในฐานะทายาทโดยธรรมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

          คู่สมรสฝ่ายใดสมรสโดยสุจริตมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ และถ้าหากว่าต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานที่เคยทำอยู่ ฝ่ายนั้นมีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพได้ด้วย สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงเหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะ (ม.1499)

          ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด หรือฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด ให้ทำหนังสือ หากตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด (ม.1499/1)

          สำหรับบุตรที่เกิดจากการสมรสที่เป็นโมฆะนั้น ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา ไม่ว่าการสมรสจะเป็นโมฆะเพราะเหตุใดก็ตาม (ม.1536 วรรค 2 และ ม.1538)



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  และ clinicrak.com


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูให้ดี ก่อนจดทะเบียนสมรสซ้อน อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2552 เวลา 11:14:21 1,794 อ่าน
TOP