x close

สินสมรส ชัดเจนไว้ ไร้ปัญหา


สินสมรสชัดเจนไว้ ไร้ปัญหา


สินสมรสชัดเจนไว้ ไร้ปัญหา (Momypedia)
โดย: ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์


           เมื่อไม่สามารถลงรอยกันได้ต่อไป การหย่าร้างย่อมเกิดขึ้นได้

           ทั้งคุณสามีและภรรยาย่อมมีความรู้สึกเสียใจกันทั้งคู่ ความรู้สึกดังกล่าวจะทวีความรุนแรงเป็น 2 เท่าเมื่อมีการแบ่งสินสมรสกันหลังการหย่าร้าง!

           เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากทุกคนสามารถประคับประคองชีวิตครอบครัวให้ตลอดรอดฝั่ง แต่ความจริงที่เห็น ๆ กันอยู่ก็คือทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง

           มีคู่สามีภรรยาจำนวนมาก ไม่สามารถถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แม้ว่าทั้งคู่จะเหมาะสมกันราวกับกิ่งทองใบหยกก็ตาม

           แม้ว่าก่อนแต่งงานและจดทะเบียนสมรสนั้น ทุกคนจะรักกันมากแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถลงรอยกันได้ต่อไป การหย่าร้างย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

            สินสมรสต่างจากทรัพย์สิน

           จะเห็นได้จากกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องเป็นราวฟ้องร้องกันถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เนื่องจากความไม่ลงตัวในเรื่องสินสมรสนั่นเอง โดยเฉพาะคู่ที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากแยกไม่ออกว่าอะไรคือสินสมรส อะไรคือทรัพย์สินที่มีมาก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่การยอมรับไม่ได้ว่า มรดกของพ่อแม่ฉันที่ต้องแบ่งให้กับเธอและเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ความรักโรยรากันเต็มที

           เพื่อมิให้เกิดปัญหาให้ทุกคนต้องปวดหัว ดิฉันขอแนะนำว่าในช่วงที่กำลังหวานชื่นอยู่นั้น ควรจะหาเวลามานั่งคุยกัน เพื่อตกลงกันให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสินสมรสและทรัพย์สินส่วนตัว ที่ต้องแนะนำให้มีการพูดคุยกันในช่วงนี้ก็เพราะทุกอย่างจะได้ไม่รุนแรง หากมาคิดได้ภายหลังเมื่อเกิดอาการระหองระแหงกัน เรื่องก็จะบานปลายไปกันเปล่า ๆ นะคะ

           เรื่องนี้ไม่ต้องมัวอายกันอยู่หรอกค่ะ พูดกันมาตรง ๆ และแบ่งแยกเรื่องดังกล่าวไว้ซะให้เรียบร้อยตั้งแต่ยังพอคุยกันได้ อย่าคิดว่าการทำแบบนี้เป็นความคิดที่บอกถึงลางร้ายของชีวิตคู่เลยนะคะ โดยเฉพาะคู่ที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก การเคลียร์กันตั้งแต่เริ่มต้นว่าอะไรเป็นของส่วนตัวของเธอและของฉัน หรืออะไรเรามารวมกันเป็นสินสมรส น่าจะเป็นทางออกที่ดี เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเดินแยกออกไป จะได้ไม่ได้วุ่นวายเรื่องดังกล่าวมากนัก

            สินสมรส ชัดเจนด้วย "ลายลักษณ์อักษร"

           สำหรับผู้ที่เคยจดทะเบียนสมรสมาแล้วคงนึกออกนะคะ ว่าเจ้าหน้าที่ได้สอบถามเพื่อให้ระบุว่าทรัพย์สินอะไรเป็นสินสมรส อะไรเป็นทรัพย์สินเดิม เพื่อให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจกันอีกครั้งถึงความชัดเจนในเรื่องทรัพย์สิน

           ครอบครัวที่ไม่มีทรัพย์สินมากนัก คงไม่ต้องหนักใจกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากทั้ง 2 คนก็ตกลงกันมาสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายก็มักจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเลย เนื่องจากช่วงความรักแรก ๆ นั้นอะไรก็ดูเป็นสีชมพูไปซะหมด ใครจะมัวมาคิดเรื่องที่จะหย่าร้างแบ่งสมบัติกัน

           แต่สำหรับการแต่งงานระหว่างตระกูลใหญ่กับตระกูลเล็ก หรือครอบครัวระดับมหาเศรษฐีกับครอบครัวที่พอมีอันจะกิน การพูดถึงเรื่องแบบนี้ดูเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะผู้ที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก และต้องเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของครอบครัวขนาดใหญ่ การยอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตราหน้าว่างก ! ก็ยังดีกว่าให้อีกฝ่ายหนึ่งมีส่วนแบ่งหลังจากที่ต้องหย่าร้าง (แบบนี้มีจริง ๆ นะคะ)

           ไม่ว่าคุณจะมีทรัพย์สินน้อยหรือมาก หากทั้งคุณทั้งสองมีการตกลงว่าจะแบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินสมรสและทรัพย์สินส่วนตัว ที่ผ่านมาก็ได้มีการตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งถือว่าจะอยู่ภายในความคุ้มครองของกฎหมายว่าด้วยสินสมรส หากใครอยากทราบเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด ดิฉันขอแนะนำให้ไปศึกษาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเรื่องดังกล่าว หรือจะปรึกษาทนายและผู้ที่มีความรู้ดังกล่าวไว้ตั้งแต่แรกนะคะ

            หุ้นส่วนชีวิต หุ้นส่วนทรัพย์สิน

           สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจว่าสินสมรสคืออะไร หรือสำคัญอย่างไรกับชีวิตตนเอง เนื่องจากไม่เคยคิดว่าจะมีการหย่าร้างเกิดขึ้นในชีวิตอย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างที่คิดไว้ก็ถือว่าคุณโชคดีไปนะคะ ที่ไม่ต้องมาสร้างความลำบากใจกันในภายหลัง แต่ถ้าไม่ต้องการให้ตนเองเป็นกบในกะลา ดิฉันขอแนะนำว่าควรจะศึกษากันไว้บ้างก็ดีนะคะ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังไม่แน่ใจว่าคุณสามีนั้นจะมีบ้านเล็กบ้านน้อยตรงไหนหรือเปล่า

           ยิ่งหากคุณอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียน ยิ่งมีความเสี่ยงในเรื่องนี้มากนะคะ เพราะหากบ้านเล็กทำคะแนนตีตื้นแล้วแอบไปจดทะเบียนตัดหน้า แทนที่คุณจะมีกรรมสิทธิ์ในสินสมรสที่อุตส่าห์สร้างกันมา ก็กลับกลายให้คนอื่นมาครอบครอง เมื่อไม่มีใครยอมใครก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลเท่านั้นนะคะ

           ที่เป็นอย่างนี้เพราะสินสมรสนั้น จะครอบคลุมเฉพาะคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นนะคะ เพราะหลังจากทั้ง 2 ได้จดเบียนกันแล้วตามกฎหมาย ถือว่าทั้งคู่เป็นหุ้นส่วนชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างหลังจากนี้ต้องแบ่งปันกัน ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ตีตราจองก็รีบทำให้ถูกต้องให้เรียบร้อยนะคะ มิเช่นนั้นคุณอาจเสียสิทธิ์ได้ในภายหลัง


           อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องสินสมรสเพื่อประดับเป็นความรู้ ก็ขอให้ทั้งคู่ศึกษากันอย่างนุ่มนวลนะคะ อย่าทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าเธอระแวงฉัน ทั้ง ๆ ที่ฉันทำทุกอย่างเพื่อเธอ ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นได้เสมอนะคะ แทนทีเรื่องนี้จะส่งผลดีต่อชีวิต กลับกลายเป็นการจุดชนวนความไม่วางใจ หากจะแอบอ่านแอบศึกษาก็น่าจะเป็นผลดีกว่าไม่ใช่หรือคะ

           ดิฉันก็เป็นคุณแม่คนหนึ่งที่มีสิทธิ์ในสินสมรส ก็พอจะเข้าใจความรู้สึกของคู่สมรสทั้งหลายว่าคิดเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง แต่ก็ต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่าดิฉันเป็นนักการตลาด ไม่ใช่นักกฎหมาย หากจะให้เขียนลงลึกเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวมากเกินไป ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าทนายความเขาจะตกงานกัน! (พูดเล่นนะคะ) เพราะเกี่ยวกับเรื่องนี้มันซับซ้อนมากค่ะ แต่ไหน ๆ ก็ได้เขียนถึงเรื่องนี้แล้วดิฉันก็เลยไปค้นคว้าข้อมูลเด็ด ๆ มาฝากให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกันนะคะ

           เริ่มจากกรณีเงินฝากส่วนตัวก่อนสมรส ไม่ว่าใครจะมีเงินในบัญชีมากกว่ากัน แต่หลังจากจดทะเบียนแล้ว ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นสินสมรส ส่วนเงินต้นถือว่าเป็นสินส่วนตัวค่ะ แต่สำหรับที่ดินส่วนตัวที่โอนกรรมสิทธิ์ก่อนสมรส หลังจากที่จดทะเบียนแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวขึ้นราคาแล้วขายได้กำไร ส่วนของกำไรไม่ได้ถือว่าเป็นสินสมรสนะคะ

           หากใครสนใจเรื่องดังกล่าวมากกว่านี้ เพราะเห็นว่ากำลังอยู่ในช่วงวิกฤติความรัก หากคุณมีทรัพย์สินจำนวนมากก็ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมนะคะ แต่สุดท้ายดิฉันก็ไม่ต้องการให้ใครต้องมานั่งแบ่งสมบัติกันภายหลัง ขอให้รักกันไปนาน ๆ ดีกว่าค่ะ


 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สินสมรส ชัดเจนไว้ ไร้ปัญหา อัปเดตล่าสุด 28 ธันวาคม 2552 เวลา 17:04:11
TOP