x close

ฝึกวินัยสร้างพื้นฐานชีวิต

baby - mom

ฝึกวินัยสร้างพื้นฐานชีวิต
(modernmom)

          ในสังคมเราที่ขับรถปาดหน้ากัน คนแซงคิว หรือนัดแล้วมาสายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเป็นไปตามกระแสสังคมที่เกิดขึ้นด้วย ลองหันมาดูในครอบครัวเราดีกว่าค่ะว่า บ้านเรามีวินัยกันแค่ไหน โดยเฉพาะยิ่งเจ้าตัวเล็กของเราที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นคนของสังคมในวันข้างหน้า

          คุณแม่เคยทำพฤติกรรมดังเช่นข้างบนไหม หากเคยนั่นอาจเป็นสัญญาณให้คุณแม่ต้องหันมาดูว่า เราสอนเรื่องวินัยให้ลูกเพียงพอและทำอย่างสม่ำเสมอไหม

          การสอนวินัยทำได้ตั้งแต่เล็กจะง่ายกว่าสอนตอนลูกโต เริ่มด้วยเรื่องง่ายในชีวิตประจำวันที่ลูกต้องทำค่ะ

          "วินัย" คือ... การรู้จักควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และการกระทำของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และการกระทำของตัวเอง และยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมคนที่มีวินัยแม้จะไม่มีกฎบังคับ ก็สามารถควบคุมตัวเองให้ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสม จึงไม่สร้างปัญหาเดือดร้อนให้คนข้างเคียงหรือสังคม

          เรื่องดี ๆ ของการฝึกวินัยให้ลูก การสร้างวินัยให้ลูกโดยให้กลมกลืนไปกับชีวิตประจำวัน ลูกจะรู้สึกว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการใช้ชีวิตธรรมดาๆ การสร้างวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กจะช่วยให้เขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

          ช่วยให้ลูกรู้สึกมั่นคง เด็กที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบระเบียบ ก็จะรู้สึกเป็นสุขกายสบายใจ และเกิดความมั่นคงให้จิตใจ

          ช่วยป้องกันลูกจากอันตราย ธรรมชาติของเด็กเล็กมักจะมีความซนและอยากรู้อยากเห็น การฝึกลูกให้มีวินัยหรือออกกฎบางอย่างให้ปฏิบัติตาม ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกเอง

          ช่วยลูกรู้จักวางแผน อย่างถ้าล้างมือนั่นแสดงว่าเขากำลังจะกินข้าว ระบบวินัยในบ้านเช่นนี้จะช่วยฝึกลูกให้รู้จักวางแผนชีวิต คิดเป็นระบบ และรู้อะไรควรไม่ควร

          ช่วยลูกประสบความสำเร็จ วินัยถือเป็นพื้นฐานหลัก เพราะการดูแลให้ลูกมีวินัยในตัวเองมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง ทำงานให้เสร็จเป็นชิ้นๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเองและเป็นแรงจูงใจให้อยากทำอะไรอื่นๆ อีก

          ช่วยให้ลูกรู้จักรับผิดชอบ การฝึกวินัยจะช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเองที่เกินเลย มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น

          ช่วยลูกเข้าสังคม เมื่อถึงวัยที่ลูกจะออกไปพบคนอื่นมากขึ้น การที่ลูกรู้ว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น เช่น ไม่กัด ตี หรือตะโกนใส่หน้าคนอื่น แต่กลับรู้จักแบ่งปันของเล่น รู้จัก “ขอบคุณ” “ขอโทษ” รู้จักเข้าคิ้ว เล่นของแล้วเก็บเข้าที่ รู้จักและระมัดระวังคำพูดและกิริยา ฯลฯ ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ลูกเข้าสังคม และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข

          การสร้างวินัยให้ลูกไม่ใช่เรื่องยากค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจริงในการทำ และการฝึกลูกตั้งแต่เล็ก ก็จะง่ายกว่ามาทำตอนโต แต่อย่าทำให้จริงจังจนบ้านกลายเป็นค่ายทหารไปนะคะ เพราะวินัยนั้นสามารถยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ค่ะ

วัยเบบี๋

         สำหรับเด็กขวบปีแรกนั้น ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มปลูกฝังความมีวินัยในตัวเขาตั้งแต่เริ่มต้น โดยการฝึกวินัยในช่วงวัยนี้ ควรเป็นเรื่องกิจวัตรประจำวันของลูก ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการกิน และการนอนให้เป็นเวลา

พฤติกรรมการกิน

          ช่วง 3 เดือนแรก เวลาการกินของลูกยังไม่ค่อยเป็นเวลา ขึ้นอยู่กับความต้องการของเด็กแต่ละคน เพราะกระเพาะอาหารของลูกยังมีขนาดเล็กอยู่ ส่วนใหญ่จะให้นมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

          พอย่างเข้าสู่วัย 4-5 เดือน กระเพาะอาหารของเด็กจะขยายใหญ่ขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็ดีขึ้นด้วย ตอนนี้แหละค่ะที่เราจะฝึกวินัยการกินของลูกได้แล้ว โดยเริ่มด้วยการงดนมมื้อดึก เพราะยิ่งเริ่มช้าก็ยิ่งลำบากและถ้าเริ่มฝึกหลังจากฟันขึ้นแล้ว ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคฟันผุอีกด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการทำความสะอาดฟันหลังกินนมมื้อดึก

          เมื่อเข้าวัย 6 เดือนขึ้นไป ตารางการกินเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วค่ะ และเป็นช่วงเวลาที่ลูกจะเริ่มอาหารเสริมอื่นๆ นอกจากนม คุณแม่จัดเวลามื้ออาหารของลูกได้ โดยอาจจัดมื้ออาหารว่าง อาหารเสริม และอาหารมื้อหลักให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน

          พออายุ 8 เดือน เขาสามารถนั่งเองได้แล้ว ควรมีเก้าอี้ส่วนตัวให้ที่โต๊ะกินข้าว เพื่อให้ลูกฝึกกินข้าวเป็นที่เป็นทาง และให้กินด้วยตัวเอง

พฤติกรรมการนอน

          สำหรับ 3 เดือนแรก ลูกยังนอนไม่เป็นเวลาอาจตื่นขึ้นมากินนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เข้าสู่เดือนที่ 4 ลูกจะหลับและตื่นเป็นเวลามากขึ้น คุณแม่อาจสังเกตลูกว่าเมื่อไหร่ลูกหิวหรือง่วง ค่อยปรับให้ลูกกินนอนเป็นเวลา

          ตั้งแต่ช่วง 4 เดือนไป ตอนกลางคืนลูกจะเริ่มนอนยาวขึ้น และอาจจะมีอาการผวาบ้าง อย่าเพิ่งรีบเข้าไปอุ้มนะคะ ให้ดูท่าทีก่อน เพราะเขาจะกลับไปหลับต่อเองได้ แต่หากคุณพ่อคุณแม่รีบเข้าไปอุ้มก็อาจทำให้เขาตื่นได้

          เมื่อเข้าสู่วัย 6 เดือน โดยส่วนใหญ่ตารางการนอนของลูกจะสม่ำเสมอขึ้น ต่อจากนั้นค่อยๆ ปรับเวลาตื่นและเข้านอนของลูกให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น ตื่น ตั้งแต่ 6 โมงเช้า เข้านอน 2 ทุ่ม ใหม่ๆ อาจไม่ยอมหลับแต่ถ้าถึงเวลาก็พาเข้านอนทุกครั้ง ก็จะฝึกลูกให้นอนเป็นเวลาได้เองในที่สุด

Guide for Modern Mom

        ด้วยความที่ลูกยังเล็กเกินกว่าจะฝึกวินัยคุณแม่ต้องใจเย็น ค่อย ๆ ทำให้เป็นกิจวัตรไปค่ะ แม้ว่าแรก ๆ ลูกอาจงอแงเพราะไม่คุ้นชิน

        การฝึกในช่วงขวบปีแรกควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ว่า นี่เป็นเวลาที่เขาควรจะกิน และนอนได้แล้ว และเพื่อเป็นพื้นฐานในการฝึกวินัยในอนาคต

วัยเตาะแตะ

        วัย 1-3 ปีนี้ เป็นช่วงที่ลูกได้เปิดโลกกว้างมากขึ้นและได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ รอบๆ ตัว ถือเป็นช่วงเวลาทองแห่งการเรียนรู้และเลียนแบบสิ่งต่างๆ รอบตัว จึงเหมาะแก่การปลูกฝังและสอนให้ลูกรู้จักกับคำว่า “วินัย”

        วัย 1 ปี เริ่มรู้จักเข้าไปทักทายกับเด็กวัยเดียวกันแล้ว แต่อาจยังไม่รู้จักการเล่น หรือการเข้าสังคมที่ดีพอ จึงพบได้หลายครั้งว่า เด็กที่มาเล่นด้วยกันจะแย่งของเล่นหรือมีการกัด ดึงผม หรือข่วนหน้า อย่าเพิ่มด่วนลงโทษเพราะจริงๆ แล้วเข้าไม่ได้มีเจตนาทำร้าย แต่ด้วยวัยที่ยังไม่รู้จักการแบ่งปัน เล่นร่วมกันกับเด็กคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียงวิธีการทำความรู้จักเพื่อนใหม่เท่านั้นเอง

        พอเข้า 2 ปี เจ้าตัวน้อยของเราเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูงขึ้น บ่อยครั้งที่ชอบทำอะไรตามความต้องการเป็นหลัก แต่ก็มีที่ลูกรู้สึกตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด รำคาญใจ อาละวาด ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นในการสอนให้ลูกพูดความรู้สึก เช่น โกรธ โมโห แทนการขว้างปาข้างของหรืออาละวาดแทน โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผลยืดยาวเพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจหรือจดจำได้

        เมื่อวัย 3 ปี เขาจะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ไม่อยากให้เขาทำมากขึ้น รู้ว่าอันไหนควรอันไนไม่ควร แต่ด้วยวัยที่อยากเรียนรู้ของเขา ก็อาจจะมีขัดขืนบ้าง การตำหนิว่ากล่าวอาจทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ควรใช้การพูดทางบวกและท่าทีที่นุ่มนวล อย่างเช่น “ถ้าหนูเก็บของเล่นใส่ตะกร้าให้เรียบร้อย แล้วเราออกไปเดินเล่นกัน” จะดีกว่า “ถ้าหนูไม่เก็บของเล่นให้เรียบร้อย แม่ก็จะไม่พาออกไปเดินเล่น”

Guide for Modern Mom

        วางเฉยไม่ให้ความสนใจขณะที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ร้องดิ้นอาละวาด ร้องไห้งอแง หากจะใช้ให้ได้ผลต้องใช้ควบคู่ไปกับการที่พ่อแม่ให้ความสนใจลูกในเวลาปกติ เพราะถ้าเวลาปกติพ่อแม่ก็ไม่สนใจ เวลาที่เขาอาละวาด พ่อแม่ก็ไม่สนใจอีก ลูกก็คงไม่รู้สึกเดือดร้อน

        ใช้คำพูดสั้น ๆ เข้าใจง่าย รวมทั้งท่าทางและน้ำเสียงที่แสดงให้ลูกรู้ว่าไม่พอใจ เช่น ลูกขว้างปาของเล่น คุณพ่อคุณแม่อาจแสดงสีหน้าโกรธ พร้อมกับคำพูดสั้นๆ ว่า “หยุด ไม่ปาของเล่น”

        หากลูกทำหรือมีพฤติกรรมใดที่ไม่ดี ให้แสดงให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ คือ พฤติกรรมที่ไม่ดีของเขาไม่ใช่ตัวเขา เช่น “แม่ไม่ชอบที่ลูกฉีกหนังสือแม่” ลูกก็จะได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมอะไรที่แม่ไม่ชอบ แทนที่จะพูดว่า “เด็กอะไรไม่น่ารักเลย แม่ไม่ชอบ”

        เมื่อเราเตือนและสอนเวลาลูกทำผิด แต่หากลูกทำดี คุณพ่อคุณแม่ก็ควรให้รางวัลและแสดงความชื่นชมด้วยการกอด หรือคำพูด เช่น หากเขาเก็บของเล่นเรียบร้อย “หนูเก่งจัง เก็บของเล่นใส่ตะกร้าด้วย”
วัยอนุบาล

        สำหรับวัย 3-6 ปี เป็นเวลาที่เขาเริ่มมีสังคมนอกบ้านจากการไปโรงเรียน มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รู้จักการเล่นกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เริ่มพูดรู้เรื่องมากขึ้น เชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น แต่อาจยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่บ้าง ยังควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่มากนัก เวลาโกรธหรือไม่พอใจอะไรก็อาจจะมีร้องไห้อาละวาด โยนข้าวของบ้าง วินัยที่ลูกควรจะมีก็จะเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น

        ลูกควรมีความสามารถในการควบคุมตัวเอง ไม่อาละวาด หรือทุบตีคนอื่นเมื่อรู้สึกโกรธ ผิดหวัง อิจฉา

        ให้เรียนรู้เคารพสิทธิของผู้อื่น รู้จักพูดขอบคุณ ขอโทษ ขออนุญาตเวลาหยิบของผู้อื่นไปใช้ หรือรู้จักการเข้าคิว รู้จักกฎเกณฑ์กติกาเวลาเล่นกับคนอื่น

        ให้รู้จักรับผิดชอบตัวเอง เช่น อาบน้ำแต่งตัวเองได้ ช่วยรับผิดชอบงานบ้านเหมาะกับวัยได้

        รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เช่น เวลานี้เป็นเวลากินข้าวไม่ใช่เวลานั่งดูโทรทัศน์หรือมาวิ่งเล่น เป็นต้น

        รู้จักขอบเขตของตน ว่าสิ่งใดที่ทำได้ทำไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยแนะนำทางเลือกที่ลูกจะทำได้ และบอกสิ่งที่ทำไม่ได้

Guide for Modern Mom

        ชัดเจนในกฎระเบียบ พ่อแม่ควรคุยกับลูกถึงกฎที่ต้องทำ เช่น เวลารับประทานอาหารเย็นคือ 6 โมงเย็น หรือเวลาเข้านอนของลูกต้องไม่เกิน 3 ทุ่ม เป็นต้น

        ตักเตือนเมื่อลูกมีการกระทำที่ไม่เหมาะสม เช่น แซงคิว ทำลายข้าวของ แย่งของเล่นเพื่อน ไม่เพิกเฉย

        มอบหมายหน้าที่ให้ เช่น มอบหมายหน้าที่ให้ดูแลอย่างใดอย่างหนึ่ง คอยดูแลชั้นวางรองเท้า หรือหนังสือ ว่าใครไม่เก็บของให้เข้าที่หรือให้รับผิดชอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกสามารถทำได้ เช่น การกวาดห้องนอนตัวเองช่วยจัดโต๊ะอาหาร ตากผ้า คุณเองต้องไม่หงุดหงิดกับความไม่เรียบร้อยจนลูกหมดกำลังใจนะคะ วิธีนี้ลูกจะรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่เป็นที่ยอมรับ เกิดความภาคภูมิใจและมีแรงฮีดอยากทำต่อค่ะ

        ให้รางวัลถ้าลูกปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วยการชมเชย กอดหรือหอมแก้มลูก เพราะเด็กต้องการเป็นที่รักของพ่อแม่ ซึ่งจะเกิดความรู้สึกดีต่อการเคารพกฎเกณฑ์ อย่าตำหนิ ลงโทษหรือจู้จี้ขี้บ่นเมื่อลูกไม่ทำตาม เพราะจะทำให้รู้สึกไม่ดีกับกฎได้ แต่ให้ค่อยๆ บอกถึงเหตุผล

        เรื่องการฝึกนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจต้องยืดหยุ่นแต่ไม่หย่อนยาน และทำอย่าจริงจังสม่ำเสมอตามกติกาที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะกับเรื่องความปลอดภัย เช่น ไม่ยอมให้ลูกวิ่งเล่นตามถนน แต่ชวนให้ไปเล่นที่สนามหน้าบ้านหรือสนามเด็กเล่นแทน จะทำให้เขาเรียนรู้ถึงภาพของความแตกต่างของสถานที่ ว่าที่ไหนปลอดภัยหรืออันตราย ถือเป็นการสร้างกฎป้องกันอันตรายไปด้วย

        นอกจากการสอนลูกถึงระเบียบวินัยต่าง ๆ มีกรทำตามกฎแล้ว ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรสอนด้วยการกระทำของตัวเอง ให้ลูกเรียนรู้จากการได้เห็นว่าพ่อแม่ก็ปฏิบัติด้วยให้ลูกไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับ เพราว่าทุกคนในบ้านก็ทำเหมือน ๆ กันค่ะ

เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 15 มกราคม 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝึกวินัยสร้างพื้นฐานชีวิต อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2553 เวลา 15:19:04
TOP