x close

รักมั่นคง...ช่วยลูกพัฒนาดี

baby - mom

รักมั่นคง...ช่วยลูกพัฒนาดี
(รักลูก)

            ความสัมพันธ์ที่มั่นคง เป็นจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกขวบปีแรก แต่จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความสัมพันธ์ที่ดี มีคำตอบค่ะ

ขวบปีแรก...โหยหาความเชื่อใจ

            ทฤษฏีพัฒนาการ (psychosocial development) ของอิริคสันบอกว่าเด็กวัยขวบปีแรก จะเกิดความไว้ใจ เชื่อใจคน ผ่านการตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสมจากผู้เลี้ยง ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการด้านอื่นๆ ต่อไป เพราะสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กวัยนี้นั้น ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่มีความเข้าใจความต้องการของเด็กและตอบสนองได้อย่างถูกต้อง โดยอาศัยความรัก ความอบอุ่น และความเข้าใจในการเลี้ยงดูค่ะ

            ขวบปีแรกเป็นช่วงของการสร้างสัมพันธภาพ ถ้าเด็กได้รับการดูแลอย่างเข้าใจจากพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดู เขาจะผูกพัน ไว้เนื้อเชื่อใจความมั่นคงทางอารมณ์ก็จะเกิดขึ้น

            ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูกอย่างเหมาะสม เช่น หิวก็ให้กินนม ผ้าอ้อมเปียกก็เปลี่ยนให้ เป็นต้น

            แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจ้างพี่เลี้ยงมาเลี้ยงลูกหรือไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่งต้องทำทุกอย่างตามตาราง เช่นเวลาให้นม 9 โมง เปลี่ยนผ้าอ้อม 10 โมง โดยที่เด็กแต่ละคนต่างมีความต้องการที่ไม่เท่ากัน ถ้าเขาหิวแต่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด ก็ต้องรอจนกว่าจะถึงเวลา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ทำให้เด็กไม่ไว้ใจคนเลี้ยงดูไม่ไว้ใจสภาพแวดล้อม และทำให้มีอารมณ์ไม่มั่นคง

ความรัก ความอบอุ่น พลังสร้างความสัมพันธ์

            วิธีเลี้ยงลูกเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก ก็คือการดูแลเอาใจใส่และมอบความรักให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อพัฒนาการของลูก การเลี้ยงดูที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ลูกจะรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้น ส่งผลให้จิตใจและอารมณ์ของลูกมั่นคงและรู้สึกปลอดภัย ซึ่งทำได้ดังนี้

         ยิ้ม ยิ้มให้ลูก หรือยิ้มตอบเมื่อลูกยิ้มให้ ลูกก็จะจดจำใบหน้าของพ่อแม่ และเกิดความผูกพันระหว่างกัน

         กอด เป็นภาษากายที่จะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยว่าจะมีผู้ดูแลอยู่ข้างๆ เสมอ

         บตา เวลาที่ลูกจ้องมอง พ่อแม่ควรพูดคุยพร้อมกับสบตากับลูก เวลานี้แหละค่ะที่เด็กๆ จะได้สังเกตใบหน้า ท่าทางและอารมณ์ของพ่อแม่และถ้าได้พูดคุย สบตากันมาขึ้นเท่าไร ความผูกพันก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

         เล่น ทั้งการเล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง หรือพูดคุยหยอกล้อกับลูก ก็ช่วยเพิ่มเติมความรัก ความอบอุ่นได้เช่นกัน

กระตุ้นพัฒนาการผ่านสัมพันธภาพ

            พ่อแม่ที่มีความรัก ความเอาใจใส่จะรับรู้ได้ว่าลูกมีความต้องการอะไร ลูกทำหน้าแบบนี้หมายถึงอะไร และจะตอบสนองความต้องากรของลูกได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็พร้อมที่จะเรียนรู้โลกกว้าง เช่น เห็นแม่พูดคุยด้วย ก็ส่งเสียงร้องโต้ตอบ พัฒนาการทางภาษาก็เกิดขึ้น เมื่อลูกเอื้อมมือมา แม่ก็ส่งของเล่นให้ ลูกก็ได้เขย่า ได้ยินเสียง เป็นการกระตุ้นพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็ก
พอเริ่มคลาน พ่อก็มาเรียกอยู่ข้างหน้า เด็กก็จะพยายามคลานไปหา ก็ช่วยฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ทั้งแขนและขาไปในตัว

ความสัมพันธ์ไม่ดี = พัฒนาการไม่ดี

            เด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยการขาดความสัมพันธ์ที่ดี ส่งผลให้ขาดความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ เด็กจะไม่ไว้ใจใคร เพราะความต้องการพื้นฐานของพวกเขาไม่ได้ตอบสนอง เช่น เวลาหิวก็ไม่มีใครหานมมาให้ ร้องไห้ก็ไม่มีใครสนใจเด็กจะไม่เชื่อใจใครเลย กลายเป็นเด็กที่ขาดปฏิสัมพันธ์ ส่งผลต่อการขาดความกระหายที่จะเรียนรู้ พัฒนาการก็จะช้าตามไปด้วย

            เช่นเดียวกันกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง เด็กจะเสียพลังงานไปกับการคอยระวังภัยอยู่ตลอดเวลา ว่าจะเจ็บตัวหรือไม่ ทำให้เด็กมีความเครียดเกิดขึ้น ส่งผลให้สารคอร์ติซอลที่มีอยู่ในร่างกายหลั่ง พลังงานที่เด็กจะนำไปใช้ในการเรียนรู้ก็หมดลง

            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเลี้ยงดู เอาใจใส่มอบความรักความอบอุ่นอย่างเต็มที่ให้ลูกขวบปีแรก แต่ถ้าช่วงวัยต่อไปเลี้ยงดูด้วยความสัมพันธ์ที่ไม่ดีก็จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น การเลี้ยงดูลูกน้อย จึงต้องใช้ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องทุกช่วงวัย เพราะวงจรแห่งการเจริญเติบโตของเด็กเชื่อมโยงกัน พ่อแม่จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลูกไปพร้อมๆ กับทำความเข้าใจพัฒนาการของลูกด้วยค่ะ

            ความรัก ความอบอุ่น และการเอาใจใส่ เป็นเครื่องมือในการสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่กับลูกน้อย เพื่อเป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการในอนาคต


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 327 เมษายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รักมั่นคง...ช่วยลูกพัฒนาดี อัปเดตล่าสุด 29 เมษายน 2553 เวลา 15:46:01
TOP