x close

ข้อห้ามเรื่องการออกกำลังกาย ระหว่างตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

ข้อห้ามเรื่องการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นาลันทา

          การออกกำลังกายมีประโยชน์มากสำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ คุณแม่ที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะมีร่างกายที่แข็งแรงพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในร่างกายตลอดช่วงการตั้งครรภ์ และยิ่งหากได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมในระหว่างตั้งครรภ์ด้วยแล้ว จะมีส่วนช่วยให้คลอดง่ายด้วยค่ะ

          อย่างไรก็ตามทุกอย่างมีข้อยกเว้นค่ะ เพราะการออกกำลังกาย บางชนิดเป็นอันตรายกับคนท้องโดยเฉพาะการออกกำลังที่ต้องใช้แรงมาก ๆ

ข้อห้ามเรื่องการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์

          นอกจากนี้สภาพร่างกายของคุณแม่ รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนบางประการ ก็อาจเป็นเหตุให้คุณแม่ไม่สามารถออกกำลังกายหนัก ๆ ได้ เช่น

          ในช่วง 6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ การออกกำลังควรทำด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอาจมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างอวัยวะต่าง ๆ

          กรณีที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจ โดยปกติคนเป็นโรคหัวใจมีข้อจำกัดเรื่องการออกกำลังกายอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หัวใจยิ่งต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีทั้งคุณแม่คุณลูกแล้ว หากคิดจะออกกำลังกายเพื่อสุขภาพแล้วปรึกษาแพทย์ก่อนดีกว่าค่ะ

          กรณีตั้งครรภ์แฝด การออกกำลังกาย อาจกระทบกระเทือนต่อมดลูกและทารกได้ง่ายกว่าการตั้งครรภ์ปกติ ยิ่งในช่วงสัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์แล้วล่ะก็ พักผ่อนมาก ๆ จะดีต่อสุขภาพมากกว่าค่ะ

          คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูง ที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ การออกแรงมาก ๆ จะเพิ่มความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นค่ะ

          คุณแม่ที่เป็นรกเกาะต่ำ การกระโดด การเคลื่อนไหวที่มีแรงกระแทก รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งต้องห้ามค่ะ

          หากตรวจพบว่าทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ คุณแม่ก็ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก ๆ ค่ะ เพราะระหว่างออกกำลัง ร่างกายของคุณแม่จะต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น อาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอค่ะ

          ในช่วงใกล้คลอดหากรู้สึกว่ามีอาการเกร็งตัวของมดลูกบ่อย ๆ การออกกำลังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดค่ะ

          กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถออกกำลังกายหนัก ๆ ได้ ดังนั้น หากจะออกกำลังเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้างก็ควรเลือกวิธีที่นุ่มนวล เช่น การเดินเล่นรอบ ๆ บ้าน การเล่นโยคะ และหากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ

ข้อควรระวังขณะออกกำลังกาย

          สำหรับคุณแม่ที่การตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถออกกำลังกายได้ค่ะ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เช่น

         หลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ที่มีอากาศอบอ้าว

         ในช่วงเริ่ม และก่อนจะเลิกการออกกำลัง ต้องมีการวอร์มอัพ และวอร์มดาวน์เสมอ

         ไม่ออกกำลังอย่างหักโหม

         ไม่ควรออกกำลังกายต่อเนื่องนานเกิน 30 นาที

         พักดื่มน้ำทุก ๆ 10-15 นาที เพื่อให้ร่างกายได้ระบายความร้อนออก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป

          ระหว่างออกกำลังกาย ควรสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกายคุณแม่ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ ว่าเป็นไปตามปกติหรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ เป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพของเขาค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 34 ฉบับที่ 469 มีนาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อห้ามเรื่องการออกกำลังกาย ระหว่างตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 14 พฤษภาคม 2554 เวลา 09:50:38 7,719 อ่าน
TOP